จากอาชีพนักบิน ปั้นแบรนด์ 'กัปตันหมูเส้น'เส้นทางธุรกิจเริ่มจากช่วยชุมชน ต่อยอดสู่ตลาดโลก

SME in Focus
31/01/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 1164 คน
จากอาชีพนักบิน ปั้นแบรนด์ 'กัปตันหมูเส้น'เส้นทางธุรกิจเริ่มจากช่วยชุมชน ต่อยอดสู่ตลาดโลก
banner

เรื่องราของ นาวาอากาศโท รณชย พูนบุญ หรือ กัปตันตูน ถูกพูดถึงอย่างมากกับเส้นทางชีวิตที่เขาเลือก โดยหลายคนมองว่าหากเรามีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้หลักแสน มีสวัสดิการ คงไม่คิดอยากลาออก แต่สำหรับกัปตันตูน เขาเลือกที่จะเผชิญโลกกว้างข้างหน้า แม้จะรู้ว่ามีความเสี่ยงมากมายเป็นเดิมพัน แต่หากสิ่งนั้นเขาได้ช่วยเหลือผู้คนที่เป็นชาวบ้านในชุมชนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น เขายินดีจะยอมรับความเสี่ยง


เรื่องราวที่เรานำเสนอในวันนี้ คือความมุ่งมั่นและตั้งใจของอดีตนักบินที่ลาออกมาพัฒนาแบรนด์สินค้า 'กัปตันหมูเส้น' ร่วมกับวิสาหกิจชุมชน จนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เส้นทางนั้น...เขาเลือกไม่ผิด




ย้อนไปเมื่อปี 2560 กัปตันตูน ได้ไปประจำการที่ศูนย์ฝึกพัฒนาบุคลากรด้านปิโตรเลียมและพลังงานทหาร เขาเล่าว่า ตอนเด็ก ๆ ตั้งใจเป็นนักบินตั้งแต่อายุ 7 ขวบ เนื่องจากคุณพ่อพาไปงานวันเด็กที่กองทัพอากาศ จึงตั้งใจเรียน จนสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร ได้เป็นนักบินบังคับอากาศ และขับเครื่องบินลำแรก ซึ่งลำนั้น คือเครื่องบินที่เขาได้สัมผัสในงานวันเด็ก วันนั้น


จังหวะชีวิตที่พลิกผันสู่เส้นทางธุรกิจ เริ่มจาก ผู้บังคับบัญชามอบหมายให้เขาเป็นหัวหน้าหน่วย กรมการพลังงานทหาร หาดพลา จังหวัดระยอง ซึ่งต้องรับผิดชอบหาน้ำมันเก่าใช้แล้วสำหรับถังหมักชีวภาพ


“เราไปที่ร้านค้าของชาวบ้านที่ขายหมูฝอยแบบที่วางขายทั่วไป แต่เขาจะทอดโดยจะใช้น้ำมันซ้ำ ๆ จนสีคล้ายสนิม ก็ยังไม่ทิ้ง เราไปติดต่อขอน้ำมันเก่า เขาไม่ให้ เพราะมองว่ามันยังใช้ได้ จึงได้พูดคุย ทำความเข้าใจ โดยอธิบายว่าหากใช้น้ำมันใช้แล้วหลายครั้งจะมีสารก่อมะเร็ง และเป็นอันตราย นอกจากนั้นยังพบว่าหมูที่ใช้ เป็นหมูคุณภาพต่ำที่ซื้อจากเขียงหมูนำมาแปรรูป เพราะเหลือจากการขาย”


ผมเข้าไปให้คำแนะนำ และเสนอตัวขอเป็นคนลงทุนให้ โดยมีข้อแม้คือ ต้องนำหมูสดใหม่แทนการใช้วัตถุดิบที่เหลือจากการขายมาส่งให้เรา และต้องเปลี่ยนน้ำมันใหม่ทุกวัน แม้จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น แต่คุณภาพดีกว่าแน่นอน หลังจากลองปรับปรุง พัฒนาวิธีการทำหมูเส้นจึงพบอีกหนึ่งปัญหา คือหมูไม่กรอบเพราะอมน้ำมัน เราแก้ปัญหาโดยใช้อุปกรณ์สลัดน้ำมันและนำไปอบอีกครั้ง จนได้หมูเส้น คุณภาพดี รสชาติอร่อย สามารถคงความกรอบได้ยาวนานขึ้น และด้วยความมั่นใจในผลิตภัณฑ์ เราจึงใช้เป็นของขวัญของฝากในช่วงเทศกาลปีใหม่ ได้รับการตอบรับที่ดี มีคำสั่งซื้อกลับมาอย่างต่อเนื่อง




กัปตันตูน ยอมรับว่า หมูเส้นกรอบบรรจุกล่องที่วางขายทั่วไป ไม่ได้มีแบรนด์ เป็นหมูเส้นกรอบที่คนซื้อต้องเสี่ยงทายว่าได้ของดี มีคุณภาพหรือไม่ ผมมองว่าสิ่งที่เราทำ เกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดี เพราะขายของดีมีคุณภาพ จึงตัดสินใจทำเป็นธุรกิจอย่างจริงจัง

แต่ระหว่างทาง มีเรื่องที่ต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ คือผมสอบได้ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี (Commercial Pilot License : CPL) ต้องเลือกระหว่างอยู่กับชาวบ้านที่ฝากความหวังไว้กับเราในการปั้นแบรนด์หมูเส้น หรือไปเป็นนักบินรับเงินเดือนหลักแสนต่อเดือน


“ผมตัดสินใจขอเวลากับผู้บังคับบัญชา 6 เดือน เพื่อช่วยกลุ่มชาวบ้านให้สำเร็จก่อน เรานึกถึงภาพในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ท่านได้ความช่วยเหลือชาวบ้าน รู้สึกถึงความสุขแบบนั้น ความสุขที่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้พวกเขา ไม่ว่าจะเรื่องนายทุน การเลือกวัตถุดิบ จึงตัดสินใจว่าจะขอลุยร่วมกับชาวบ้านสักตั้ง ประกอบกับพี่ท่านหนึ่งที่เรานำหมูเส้นกรอบไปให้ เขาทำงานเกี่ยวกับการคัดเลือกสินค้าอยู่ที่ คิง เพาเวอร์ ทำให้เราได้โอกาสไปคุย จนได้วางขายที่ภัตตาคารรามายณะ ชั้น 3 คิง เพาเวอร์ ดาวน์ทาวน์ คอมเพล็กซ์ ถ.รางน้ำ ได้”




มองหาโอกาสและไม่หยุดนิ่ง


เราวิ่งหาที่ขาย ออกบูทงานแสดงสินค้า แมตช์ชิ่งกับห้างฯ จนได้เข้าไปขายในร้านกูร์เมต์มาร์เก็ต และท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ช่วงโควิด ขายดีมาก เราทำยอดขายที่ท็อปส์ได้ 10 ล้านบาท จากนั้นก็เพิ่มเป็น 20-30 ล้านบาท ต่อมาเพิ่มผลิตภัณฑ์อื่น เช่น หมูหยอง หมูแท่ง หมูสวรรค์ หมูแผ่นอบกรอบ รวมทั้งขยายช่องทางขายไปที่เลม่อนฟาร์ม โกลเด้นเพลซ และแมกซ์แวลู ฯลฯ เราวางโรดแมปว่าอยากส่งออก ประกอบกับการที่เราขายสินค้าในห้างฯ ทำให้มีนักท่องเที่ยวมาซื้อ และชื่นชอบ จนติดต่อสินค้าไปขายที่ฮ่องกง มาเก๊า




โมเดลธุรกิจ เพื่อชุมชน และสังคม


“ความภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทย ฝันว่าจะทำของดีให้คนไทยและคนทั่วโลก” ด้วยความมุ่งมั่นนี้ เขาจึงอยากให้คนในชุมชนมีอาชีพ รายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กัปตันตูน จึงนำองค์ความรู้ และความเป็นนักบินในสายเลือด บวกประสบการณ์ด้านการเลือกสรรวัตถุดิบคุณภาพ ถ่ายทอดให้ชาวบ้านในชุมชนเปลี่ยนมายเซ็ตแบบเดิม พร้อมทั้งชักชวนให้ทุกคนเห็นเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาสินค้า ใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิต ต่อยอดหมูเส้นกรอบที่วางขายทั่วไป เป็นหมูเส้นพรีเมียมขึ้นห้างฯ และก้าวสู่ระดับสินค้าติดดาว ส่งออกไปขายต่างประเทศ




“เราให้ความสำคัญทั้งวัตถุดิบ อุณหภูมิ วิธีการทำที่ปลอดภัย ความยากคือต้องทำให้คนในพื้นที่เข้าใจในสิ่งที่เรากำลังทำ แต่วันหนึ่งที่เรามองเห็นเป้าหมายเดียวกัน เราเป็นคนลงทุน ขณะที่ชาวบ้านเป็นกองหลังที่เข้มแข็ง และผลิตของดีมีคุณภาพให้เราจนได้รับรางวัลการันตีคุณภาพ”


รูปแบบจะกึ่ง ๆ OEM คือซื้อวัตถุดิบจากชาวบ้าน เขาถนัดผลิต แต่เราจะวาง Flow ความสะอาด จัดระเบียบต่าง ๆ ให้ การเลือกหมู ชาวบ้านจะซื้อเองเพื่อเป็นการกระจายรายได้ให้ชาวบ้านที่ทำฟาร์มเลี้ยงหมูในชุมชน หมูที่ชาวบ้านเลี้ยงเองเรารู้สึกถึงความละมุนของเนื้อซึ่งอาจจะมาจากเรื่องสภาพแวดล้อม และอาหารที่หมูได้รับ ส่วนซอสที่ใช้ปรุงเราต้องซื้อจากโรงงานที่ผลิตแบบกลูเตนฟรี (Gluten free diet) เรื่องตรวจสอบคุณภาพจะพิถีพิถันมาก หากมีสินค้าจัดส่งล็อตใหญ่ ๆ เราจะส่งรถหกล้อเข้าไปรับ แล้วส่งไปยังช่องทางจำหน่าย รวมถึงมีการเทสต์แบบสุ่มคุณภาพสินค้าแต่ละล็อตด้วย




การบริหารความเสี่ยง?


แน่นอนว่าราคาหมู มีขึ้นมีลง ผมเลือกจะแบกรับส่วนนี้ให้ชาวบ้าน แม้ว่าการจำหน่ายผ่านห้างฯ จะมีทั้งเรื่องต้นทุนแฝง เช่น ค่า GP, Vat กำไรน้อยมาก แต่เรามีความสุขที่เห็นพวกเขามีรายได้ ถ้ามีน้อยเราก็ใช้น้อย เป็นสังคมแห่งการแบ่งปันที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน กลยุทธ์ที่ผมใช้ คือทำโปรโมชั่นอย่างต่อเนื่อง เช่น มีช่วง 1 แถม 1เพี่อกระตุ้นการขายควบคู่ไปด้วย พอคนชิมแล้วติดใจจะได้เกิดการซื้อซ้ำ นอกจากนี้ กิมมิคของเราจะอยู่ที่แพ็คเกจจิ้ง ทุกซองจะซ่อนคำอวยพรเอาไว้ เช่น คำว่า รวย มีรูปยันต์ห้าแถวบนซอง คำอวยพรภาษาจีนให้นักท่องเที่ยวประทับใจ




คุณภาพระดับส่งออก


ความแตกต่างที่ลูกค้าติดใจ คือ หมูเส้นกรอบเราความมันน้อย รสชาติกลมกล่อม หวาน เค็มกำลังดี ไม่ใส่ผงชูรส ไม่ใส่สารกันบูด ไม่มีไขมันทรานส์ เหมาะสำหรับกินเล่นเป็นสแน็ก ขายความพรีเมียม โจทย์คือ ทำยังไงก็ได้ให้ลูกค้ากินแล้วอยากซื้อซ้ำ เราเคยทำยอดขายได้ 200 กระปุกใน 1 วัน เคยมีลูกค้าชาวจีนมาถามหาสินค้าของเรา และบอกต่อ ๆ กัน ทำให้คนรู้จักมากขึ้น




สินค้าเก็บได้นาน 1 ปี จึงส่งออกไปขายต่างประเทศได้ ก่อนทำตลาดเรามีการศึกษาข้อมูลและพบว่าคนจีนชอบกินหมูเส้น หมูแท่ง หมูกระปุก และหมูแผ่น ส่วนคนไทยจะชอบหมูสวรรค์ หมูหยอง ซึ่งเราจะวางแผนทั้งระยะสั้นและยาว เช่น ห้างฯ ไหนเหมาะกับสินค้าแบบไหน อย่างเลม่อนฟาร์ม ลูกค้าเป็นกลุ่มรักสุขภาพเราก็มีสินค้ากลูเตนฟรี หมูหยองทั่วไปใส่ซอสถั่วเหลือง แต่เราใช้ซอสที่สกัดเอาสารกลูเตนฟรีออก น่าจะเป็นรายแรกของไทยที่ทำเรื่องนี้ แต่คนไทยไม่ค่อยรู้ ส่วนโปรโมชั่นจะคิดว่าควรทำอะไร ช่วงไหน ด้านการแข่งขันในตลาด เราเน้นเรื่องการรักษาคุณภาพและรสชาติ ไม่ได้เทียบกับแบรนด์ใหญ่ ๆ เพราะลูกค้าเป็นคนละกลุ่ม




ส่วนผสมที่ลงตัว ระหว่างฝีมือทำอาหาร และการตลาดสไตล์นักบิน


“คนเรามีความถนัดคนละแบบ” กัปตันตูน ขยายความว่า ชาวบ้านทอดหมูเก่งมาก ถ้าให้ผมไปทอดก็ไม่อร่อยเท่าเขา แต่เราถนัดเรื่องมุมมองแบบนักบิน คือมีโรดแมป รู้กลไก วางแผนอย่างเป็นกระบวนการ ทำให้เห็นภาพโดยรวม รู้ว่า Step ต่อไปต้องทำอะไร ความยากคือการสื่อสารให้เข้าใจกัน เพราะเขามีความเชื่อที่มีมานาน บางอย่างกว่าจะเปลี่ยนความคิดเขาได้ใช้เวลาเป็นปี เราต้องทำให้เขาเห็นจริง ๆ ให้มั่นใจในตัวเรา การสร้างความเชื่อมั่นเป็นเรื่องสำคัญ




เผชิญโลกธุรกิจ ความเสี่ยงที่มากและกว้างกว่าท้องฟ้า


กว่าที่ผมจะผ่านด่านครอบครัว พ่อแม่ ที่ถามว่าอาชีพการงานที่มั่นคง เป็นทหารยศพันโท เป็นนักบินพาณิชย์ มีโอกาสต่าง ๆ มากมาย ทำไมเลือกเส้นทางนี้ แต่ผมอยากเห็นโลกกว้าง ๆ ขอเวลาที่บ้านและที่ทำงาน 6 เดือนพิสูจน์ตัวเอง พอเราประสบความสำเร็จได้แบบนี้ พ่อแม่ก็เข้าใจ ถามว่าเราพอใจไหม อยากบอกว่าเราพอเพียงมากกว่า ทุกวันนี้เราตื่นเช้า ออกกำลังกาย หาความสุขในแบบตัวเองบนความเรียบง่าย แต่ขณะเดียวกันต้องสร้างความมั่นคงให้ชีวิต เพราะเรามีลูกน้องที่ต้องทำให้เขามีความสุขไปพร้อมกัน


กัปตันตูน ทิ้งท้ายว่า ยุคนี้ ธุรกิจหนีไม่พ้นเทคโนโลยี AI มาแน่ แต่ในอุตสาหกรรมอาหารที่ไม่ใช่อาหารฟุ่มเฟือย เราขายหมูแปรรูป เป็นสินค้าจำเป็นสำหรับรับประทานได้ทุกที่ ทุกเวลา เชื่อว่าเรามีโอกาสรอดสูง อย่างไรก็ตาม ต้องไม่หยุดคิด เรื่องการพัฒนาสินค้าและต่อยอด ศึกษาตลาด และตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้มากที่สุด เป็นโมเดลธุรกิจที่ค่อย ๆ เติบโตร่วมกับชุมชน แต่อยู่บนพื้นฐานที่มั่นคง ยั่งยืน


ติดตามเรื่องราวของ บริษัท การูดาโกลด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ได้ที่

https://captain1688.com/





Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ชูนวัตกรรม ขับเคลื่อน-ยกระดับ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้สู่ความยั่งยืน ด้วย Automation กลยุทธ์สู่ Smart Factory ระดับรางวัล The Prime Minister's Industry Award 2023 ของ 'ศรีวัฒนา วู้ดดิ้ง อินดัสทรีส์'

ชูนวัตกรรม ขับเคลื่อน-ยกระดับ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้สู่ความยั่งยืน ด้วย Automation กลยุทธ์สู่ Smart Factory ระดับรางวัล The Prime Minister's Industry Award 2023 ของ 'ศรีวัฒนา วู้ดดิ้ง อินดัสทรีส์'

การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจากการรุกคืบของเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ และส่งผลให้ผู้บริโภคมีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นำมาสู่การพัฒนา…
pin
390 | 30/04/2024
Business Model ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ โซล่าร์เซลล์มุ่งเน้นสร้าง "ธุรกิจยั่งยืน" ทำกำไร พร้อมสนับสนุนชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม

Business Model ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ โซล่าร์เซลล์มุ่งเน้นสร้าง "ธุรกิจยั่งยืน" ทำกำไร พร้อมสนับสนุนชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม

ภาพรวมตลาดสินค้า อะไหล่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและโซล่าร์เซลล์มีแนวโน้มเติบโตสูง คาดการณ์ว่าจะเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี จากปี 2566…
pin
379 | 29/04/2024
‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

จากธุรกิจผลิตหลอดไฟ LED ต่อยอดสู่การพัฒนาด้านการผลิตอาหารและนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรออร์แกนิก แบรนด์ ‘แอลอีดี ฟาร์ม’ (LED Farm) ที่มุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรคุณภาพ…
pin
715 | 25/04/2024
จากอาชีพนักบิน ปั้นแบรนด์ 'กัปตันหมูเส้น'เส้นทางธุรกิจเริ่มจากช่วยชุมชน ต่อยอดสู่ตลาดโลก