เทียบกลยุทธ์ 2 แพลตฟอร์มรายใหญ่ ‘Lazada’ VS ‘Shopee’ ท่ามกลาง e-Commerce โตแรง

SME Update
29/10/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 9498 คน
เทียบกลยุทธ์ 2 แพลตฟอร์มรายใหญ่ ‘Lazada’ VS ‘Shopee’ ท่ามกลาง e-Commerce โตแรง
banner
อัตราการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซโดยเฉพาะ B2C ที่พุ่งสูงขึ้น ย่อมนำมาสู่แรงกดดันของผู้เล่นในตลาดอีมาร์เก็ตเพลส และการแข่งขันของการทำการตลาดออนไลน์โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด 19 ก่อนหน้านี้ ที่ส่งผลให้เกิดแนวโน้มสำคัญสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซอย่างมีนัยสำคัญ

ข้อมูลโดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Transactions Development Agency (ETDA) (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่า มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ปี 2564 หรือ Value of e-Commerce Survey in Thailand 2021 พบว่า ในปี 2563 ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีมูลค่าเท่ากับ 3.78 ล้านล้านบาท

โดยมีสัดส่วนของมูลค่าอีคอมเมิร์ซในรูปแบบ B2C มากที่สุด คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.17 ล้านล้านบาท B2B มีมูลค่ากว่า 0.84 ล้านล้านบาท และ B2G มีมูลค่า 0.77 ล้านล้านบาท ขณะที่คาดการณ์ว่ามูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยในปี 2564 เติบโตอยู่ที่ 4.01 ล้านล้านบาท



ซึ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ชีวิตติดกับดิจิทัลมากขึ้นและเน้นความสะดวกสบายและรวดเร็วเป็นหลัก ในการจับจ่ายสินค้า อีกทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์ ซื้อขายสินค้าและบริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ รวมถึงการใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการขายสินค้าและบริการของแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลส (e-Marketplace) ทั้งแคมเปญโปรโมชัน ส่วนลด จัดส่งฟรี หนุนให้ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยเหล่านี้นำมาสู่การวางปรับรูปเกมแข่งขันของ 2  แบรนด์อีมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ที่ครองส่วนแบ่งในตลาดเมืองไทยแบบขับเคี่ยวกันมาตลอด อย่าง ‘ลาซาด้า’ (Lazada) และ ‘ช้อปปี้’ (Shopee) 



‘ลาซาด้า’  ยกระดับสู่ Shoppertainment สร้างความบันเทิงระหว่างช้อปฯ

ลาซาด้า ที่มีอาลีบาบากรุ๊ปโฮลดิง จำกัด บริษัทที่ประกอบธุรกิจหลายประเภทรวมกันทั้งอีคอมเมิร์ซ ค้าปลีก อินเทอร์เน็ต เอไอและเทคโนโลยีข้ามชาติของจีนเป็นเจ้าของ ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา สำหรับ เห็นได้ชัดถึงการปรับแนวคิดด้านกลยุทธ์ โดยใช้การตีโจทย์จาก Customer Journey ซึ่งได้แก่เส้นทางในการช้อปปิ้งออนไลน์ของกลุ่มลูกค้า ซึ่งพบว่า นักช้อปฯ จะใช้เวลาอยู่บนแพลตฟอร์มเพียงไม่นาน โดยส่วนใหญ่มักเข้ามาค้นหาสินค้าที่ต้องการ หลังเปรียบเทียบราคาจนได้ข้อมูลพอใจแล้ว จากนั้นจะคลิก สั่งซื้อ และชำระค่าสินค้า

ซึ่งลาซาด้าเห็นว่าขั้นตอนการตัดสินใจซื้อ ยังขาดเรื่องของอารมณ์ (Emotional) หรือการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่าง “ผู้ขาย” กับ “ผู้ซื้อ” โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกที่มีพื้นที่ขาย (Physical Store) จะให้เรื่องประสบการณ์ที่มาจากการสัมผัส หยิบจับและทดลอง รวมทั้งสอบถามจากผู้ขายได้ (Functional) ซึ่งส่งผลดีต่อการสร้างโอกาสในการขาย

ด้วยเหตุผลนี้ ลาซาด้า จึงต้องการสร้างปฏิสัมพันธ์ผ่านความบันเทิงให้กับลูกค้าในระหว่างการช้อป ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ คือการพัฒนา ECO-System บนแพลตฟอร์ม ผ่าน “ไลฟ์ สตรีมมิ่ง” ด้วย Laz Live เพื่อมุ่งสู่กลยุทธ์ Shoppertainment (shopping + entertainment)” ให้ผู้ซื้อมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ขายและใช้เวลาบนแพลตฟอร์มมากขึ้น ด้วยภาพและเสียงที่คมชัด สามารถจัดการข้อความที่ส่งเข้ามาขณะไลฟ์ ลูกค้าสามารถสอบถามและตอบโต้ได้ จบทุกขั้นตอนในแอปพลิเคชัน ช่วยให้การซื้อสินค้าในแพลตฟอร์มลาซาด้าง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ลาซาด้ายังให้ความสำคัญกับการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งทางเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก หรือการส่งอีเมลแจ้งข่าวสาร เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมกับแบรนด์อยู่เสมอ โดยตั้งเป้าจะเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสำหรับทุกคน ที่ครอบคลุมทั้งสินค้าและบริการมากที่สุด ครบทุกความต้องการของผู้บริโภค เพื่อมอบประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ดีที่สุด ด้วยการสร้างนิยามใหม่ของ “การช้อปที่แสนสะดวก”



‘ช้อปปี้’ ยกระดับประสบการณ์การซื้อ-ขายบนโลกอีคอมเมิร์ซ

ช้อปปี้ (Shopee) แอปพลิเคชันที่เชื่อมต่อระหว่าง ผู้บริโภค แบรนด์ และผู้ขาย ให้ทุกคนสามารถซื้อ-ขายได้อย่างสะดวกสบายทุกที่ ทุกเวลา โดยเป็นหนึ่งในบริษัทลูกของ Sea Group ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ และมีธุรกิจหลักครอบคลุมทั้งในส่วนดิจิทัล เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ภายใต้ชื่อ การีนา และ บริการด้านการเงินแบบดิจิทัลภายใต้ชื่อ ซีมันนี่

สำหรับเป้าหมายของ ช้อปปี้  คือต้องการยกระดับประสบการณ์การซื้อ-ขายบนโลกอีคอมเมิร์ซในทุกมิติ ผ่านแนวคิดการนำความบันเทิงมาเป็นส่วนผสมหนึ่งของการตลาดเช่นเดียวกัน ด้วยการเสนอนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์การช้อปปิ้งที่สนุกนานและสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านแพลตฟอร์ม



ช้อปปี้ ขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งสำหรับแอปพลิเคชัน E-Commerce ช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เติบโตถึง 110% เนื่องจากเป็นแอปฯ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนไทยที่มีพฤติกรรมชอบการสื่อสาร พูดคุุยกับผู้ขายก่อนตัดสินใจซื้อ นำมาสู่การพัฒนาฟีเจอร์เพื่อให้ผู้ซื้อได้คุยกับผู้ขายแบบทันทีผ่านการแชท ซึ่งนอกจากจะดันยอดขายให้เพิ่มขึ้น ยังสามารถเพิ่มบทสนทนาและเพิ่มปฏิสัมพันธ์ (Engagement) ได้ดี  รวมถึงเปิดตัว Shopee Live ฟีเจอร์ไลฟ์สตรีมมิ่ง ที่ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์โดยตรงได้แบบเรียลไทม์


 
ร้านค้า – SME จะ ‘ไลฟ์’ แบบไหนให้โดนใจนักช้อปฯ ออนไลน์

เมื่อ 2 แพลตฟอร์มยอดนิยมอย่าง ลาซาด้า และ ช้อปปี้ ต่างก็มีเครื่องมือใหม่ ๆ เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ให้ผู้ค้าออนไลน์ได้สร้างยอดขายแบบเข้าถึงลูกค้าอย่างใกล้ชิดมากขึ้น อย่างการไลฟ์สดที่แทบจะไม่ต่างจากการมาช้อปที่หน้าร้านได้จริง ๆ ผู้ประกอบการ, ร้านค้า, หรือเจ้าของแบรนด์ที่เปิดร้านและมีสินค้าที่ต้องการขายอยู่แล้ว หรือ กำลังสนใจจะเข้าเพิ่มช่องทางการขาย จะใช้กลยุทธ์หรือเทคนิคการไลฟ์อย่างไรให้สร้างยอดขายเพิ่มขึ้น เรามีคำแนะนำดี ๆ มาฝากกัน 

1.กำหนดลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย

ก่อนอื่นคุณต้องรู้ว่าสินค้าและบริการที่คุณจะขาย คืออะไร การเลือกกลุ่มลูกค้าที่ใช่ จะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่กำหนดว่ากลุ่มเป้าหมายจะอยู่ดูไลฟ์ของเราได้ยาวนานแค่ไหน เช่น หากคุณรีวิวสินค้าประเภทกระเป๋าสำหรับวัยทำงาน ควรมีการพูดคุยเกี่ยวกับข้อดีของสินค้า และบอกรายละเอียดให้ครบ เช่น สี วัสดุทำมาจากอะไร อายุการใช้งาน วิธีการเก็บรักษา โอกาสในการใช้ พร้อมทั้งแทรกความรู้ของสินค้าเป็นระยะ ๆ เพื่อไม่ให้ดูเหมือนการตั้งใจขายสินค้าเพียงอย่างเดียว

2.เตรียมสคริปต์พูด

การพรีเซนท์ขายสินค้า ควรมีการเตรียมสคลิปต์เพื่อจัดลำดับหัวข้อและสินค้าที่จะขาย เพื่อให้สามารถพูดคุยได้อย่างต่อเนื่อง ไม่เกิดอาการเดดแอร์ หรือข้ามประเด็นสำคัญไป ยิ่งคุณมีลำดับการโชว์สินค้าว่าแบบไหน ชิ้นไหน จะโชว์ ก่อน-หลัง จะยิ่งทำให้การขายมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

3. กิมมิก- จุดเด่น อาวุธดึงดูดใจลูกค้า

ด้วยจำนวนร้านค้ามากมายมหาศาลบนแพลตฟอร์ม เจ้าของร้านค้าควรหาจุดเด่นของตัวเอง เพื่อดึงดูดให้คนสนใจและจดจำร้านของคุณได้ และอยากติดตามการไลฟ์ เพื่อซื้อสินค้าจากร้านของคุณ นอกจากนี้ ควรมีการจัดวางสินค้าอย่างเป็นระเบียบ มีจุดสนใจ เห็นสินค้าที่ต้องการโชว์ได้ชัดเจน ดูสะอาดตา และจะช่วยให้ง่ายต่อการหยิบสินค้าออกมาโชว์

4.อุปกรณ์ครบครัน

การไลฟ์ขายสินค้าออนไลน์ สัญญาณอินเตอร์เน็ตต้องแรงพอ และไม่เป็นอุปสรรคขณะไลฟ์ หากเกิดการสะดุดในระหว่างขายสินค้า คุณอาจจะหลุดโฟกัสและทำให้การขายทำไม่ได้อย่างเต็มที่

การเตรียมความพร้อมมาจากการวางแผนมาอย่างดี ที่สำคัญการไลฟ์สดต้องอาศัยความมั่นใจของผู้ขาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า เพราะนอกจากสินค้าจะต้องมีคุณภาพที่ดี ผู้นำเสนอสินค้าก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะต้องดูมีความน่าเชื่อถือด้วย หากคุณเตรียมทุกอย่างไว้พร้อม สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือเตรียมรับออเดอร์และยอดขายที่จะเข้ามาอย่างถล่มทลายได้เลย 

อ้างอิง : 
https://www.etda.or.th/th/pr-news/ETDA-Reveals-the-Value-of-e-Commerce-in-2021.aspx
https://careers.shopee.co.th/about
https://group.lazada.com/en/about/?spm=a2o4m.home.footer_top.8.11252a80c4pVFk

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

เคล็ดลับการเพิ่ม Engagement บน IG ฉบับปี 2025

เคล็ดลับการเพิ่ม Engagement บน IG ฉบับปี 2025

ในยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การทำการตลาดบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Instagram ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจ SME เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่…
pin
2 | 31/03/2025
5 เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคสำคัญในปี 2025

5 เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคสำคัญในปี 2025

5 เทรนด์ผู้บริโภคโลก ปี 2025 โดย Euromonitorล่าสุด ผลสำรวจจาก Euromonitor International ได้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค…
pin
9 | 17/03/2025
เปิด 7 นวัตกรรมใหม่ ตัวช่วยส่งธุรกิจ SME ไทย ให้พร้อมพัฒนาสู่เวทีโลก

เปิด 7 นวัตกรรมใหม่ ตัวช่วยส่งธุรกิจ SME ไทย ให้พร้อมพัฒนาสู่เวทีโลก

ค้นพบ 7 นวัตกรรมใหม่ที่กำลังปฏิวัติโลกธุรกิจ พร้อมวิธีประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงContent…
pin
9 | 16/03/2025
เทียบกลยุทธ์ 2 แพลตฟอร์มรายใหญ่ ‘Lazada’ VS ‘Shopee’ ท่ามกลาง e-Commerce โตแรง