เลิศไอเดีย! นักวิจัยไทยเปลี่ยนน้ำมันพืชใช้แล้วเป็นสบู่ ‘K-Soap’ รักษ์โลก ทางเลือกเพิ่มมูลค่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
‘ทอด’ อีกหนึ่งประเภทของการทำอาหารที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในบ้านเรา ส่งผลให้เกิดน้ำมันพืชใช้แล้วทิ้งแทบทุกบ้าน หากจัดการไม่ถูกวิธี เช่น เทลงท่อระบายน้ำอาจทำให้ท่ออุดตันได้ จึงมีการคิดค้นวิธีแก้ปัญหาอาทิ นำไปผลิตเป็นไบโอดีเซล เป็นต้น สู่ไอเดียล่าสุดนำน้ำมันพืชใช้แล้วไปผลิตเป็นสบู่เหลวโพแทสเซียม หรือ ‘K-Soap’ รักษ์โลก
ซึ่งทำความสะอาดได้ดี ละลายน้ำ 100% ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ปลอดภัยต่อระบบบำบัดน้ำเสีย ทางเลือกเพิ่มมูลค่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกหนึ่งต้นแบบแนวคิดด้านนวัตกรรมเพื่อที่ผู้ประกอบการและ SME ไทย สามารถนำไปเป็นไอเดียต่อยอดครีเอทอินโนเวชันออกมาตอบโจทย์กระแสรักษ์โลกที่กำลังมาแรงสร้างธุรกิจสู่ความยั่งยืน

น้ำมันพืชใช้แล้วปริมาณมหาศาล ต้องถูกจัดการอย่างถูกวิธี
จากสถิติของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ระบุว่าในปี 2550 มีปริมาณน้ำมันพืชใช้แล้วในบ้านเราประมาณ 74 ล้านลิตร สู่การคาดการณ์ว่าปี 2565 คนไทยจะบริโภคน้ำมันพืชเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 115 ล้านลิตรต่อปี ด้วยเหตุนี้จึงมีแนวคิดต่าง ๆ ในการกำจัดน้ำมันใช้แล้ว เช่น
เทใส่ขวด
พักน้ำมันที่ใช้แล้วให้เย็นก่อน รอให้น้ำมันตกตะกอน จากนั้นก็เทน้ำมันใส่ขวดพลาสติก ปิดฝาให้สนิทแล้วนำไปทิ้ง หรือจะนำขวดน้ำมันไปแช่ช่องฟรีซให้น้ำมันแข็งตัวก่อนแล้วค่อยทิ้งก็ได้
เทใส่กล่องนม
ใช้เป็นกล่องนมขนาดใหญ่ นำมาตัดปากกล่อง แล้วนำกระดาษหนังสือพิมพ์หรือกระดาษอเนกประสงค์รองไว้ด้านใน แล้วเทน้ำมันลงไปในกล่อง ปิดผนึกให้แน่น มัดใส่ถุงอีกชั้นก่อนนำไปทิ้ง เพื่อป้องกันน้ำมันรั่วไหล หรือจะใช้เทคนิคกำจัดน้ำมันเหลือใช้จากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่นส่วนใหญ่แม่บ้านจะใช้ทิชชูซับน้ำมันที่เหลือใส่ลงในกล่องนม ปิดกล่องให้สนิท แล้วทิ้งไปพร้อมกับขยะที่เผาได้ เป็นต้น
ผสมกับทรายแมว
บ้านใครมีแมว ลองนำน้ำมันเทผสมกับทรายแมวใช้แล้ว น้ำมันก็จะจับตัวเป็นก้อน ทำให้ทิ้งได้สะดวกมากขึ้น
ผสมกับแป้งมัน
หลักการก็จะเหมือนกับทรายแมว คือนำแป้งมันเทผสมกับน้ำมัน โดยใส่แป้งมันในปริมาณที่พอ ๆ กับน้ำมัน คนผสมให้จับตัวเป็นก้อนแล้วนำไปทิ้ง
สำหรับครัวเรือนหรือภาคธุรกิจหากต้องใช้น้ำมันประกอบอาหารจำนวนมากเป็นประจำ จนกำจัดด้วยวิธีด้านบนไม่ไหว แนะนำให้ติดตั้งบ่อดักไขมันไว้ที่อ่างล้างจาน หรือจะนำน้ำมันที่กรองเศษอาหารแล้ว มาใส่ในแกลลอน เพื่อนำไปขายให้กับร้านรับซื้อของเก่าที่รับซื้อ หรือปั๊มน้ำมันบางแห่งที่รับซื้อก็ได้เช่นกัน

ไอเดียล่าสุด! เปลี่ยนน้ำมันพืชใช้แล้วเป็นสบู่ ‘K-Soap’ รักษ์โลก
ด้วยความที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีแนวคิด Chula Zero waste จัดการขยะอย่างเป็นระบบในพื้นที่มหาวิทยาลัย รวมถึงจัดการน้ำมันพืชใช้แล้วและกากไขมัน ก่อเกิดไอเดียให้กับ ดร.ณัฐพงศ์ ตันติวิวัฒนาพันธ์ นักวิจัยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการนำน้ำมันพืชใช้แล้วมาผลิตเป็นสบู่เหลวโพแทสเซียม (Potassium Soap : K-Soap)
ซึ่งสามารถขจัดคราบสกปรกต่าง ๆ บนพื้นผิวได้ดีเหมือนกับน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป แต่มีจุดเด่นที่แตกต่างก็คือ K-Soap มีความเป็นพิษต่อจุลินทรีย์ต่ำ ย่อยสลายตามธรรมชาติได้ 100% นอกจากการทำความสะอาดแล้ว สบู่เหลวโพแทสเซียมมีคุณสมบัติในการกำจัดแมลง โดยเป็นมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ยอมรับให้ใช้ได้อีกด้วย

ดร.ณัฐพงศ์ ตันติวิวัฒนาพันธ์ นักวิจัยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปัจจุบันทีมวิจัยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับวิสาหกิจชุมชนบ้านไผ่เหลือง จังหวัดน่าน ภายใต้โครงการ “เที่ยวน่าน ใส่ใจ ไร้คาร์บอน” เพื่อผลักดันให้จังหวัดน่านเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อเพิ่มศักยภาพของชุมชนให้สามารถจัดการขยะชนิดต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง และนำขยะเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ภายในพื้นที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน
และยังเป็นการตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยวิสาหกิจชุมชนเป็นผู้รับซื้อน้ำมันพืชใช้แล้วในพื้นที่จังหวัดน่าน แล้วนำมาผลิตเป็นสบู่เหลวโพแทสเซียม เพื่อใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ในชุมชน ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการทดสอบประสิทธิภาพของสบู่เหลวโพแทสเซียมในการทำความสะอาดรถขนขยะของเทศบาล อ.เมือง จ. น่าน ล้างพื้นผิวถนนคนเดิน “กาดข่วงเมือง” ซักผ้าขี้ริ้ว หรือห้องน้ำของวัด เป็นต้น
K-Soap นอกจากคุณสมบัติในการเป็นสารทำความสะอาดแล้ว ทางทีมวิจัยยังเห็นโอกาสเพิ่มมูลค่าของสบู่เหลวโพแทสเซียมในภาคการเกษตรด้วย จึงร่วมมือกับสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาฯ พัฒนาสบู่เหลวโพแทสเซียมให้มีความสามารถในการเป็นสารจับใบ (เคลือบผิววัสดุของน้ำ) ใช้เสริมฤทธิ์ของสารออกฤทธิ์ชีวภัณฑ์ เพื่อควบคุมโรคพืชและแมลงรบกวนในแปลงเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์
ซึ่งขณะนี้เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ PGS (Participatory Guarantee System) จ.น่าน ได้ทดลองใช้สบู่เหลวโพแทสเซียมเป็นทางเลือกในแปลงเกษตรอินทรีย์ ซึ่งผลการทดสอบเบื้องต้นพบว่าสบู่เหลวโพแทสเซียมสามารถใช้จัดการเพลี้ยแป้ง มด และหนอนบางประเภทได้ โดย K-Soap สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติภายในเวลาเพียง 5 วัน เมื่อย่อยสลายเสร็จจะปล่อยแร่ธาตุโพแทสเซียมให้แก่พืช

เรียนรู้ไอเดีย เพื่อนำไปต่อยอด
‘ความคิดสร้างสรรค์’ เกิดจากการรวบรวมความคิดและไอเดียที่หลากหลายรูปแบบ หลากหลายทิศทาง และนำไปสู่การขมวดปมจนเกิดเป็นนวัตกรรมทางความคิด ซึ่งก่อให้เกิดสิ่งแปลกใหม่ให้กับสังคมโลก ทั้งการเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจ แรงขับเคลื่อนเชิงบวกทางสังคม การแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม รวมถึงเรื่องน่าอัศจรรย์เล็ก ๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อแก้ปัญหา Pain Point นั้น ๆ โดยสิ่งที่ผู้ประกอบการและ SME ต้องมีก็คือ ‘ไอเดีย’ ซึ่งเปรียบเสมือนสารอาหารสำหรับนวัตกรรม ภาคธุรกิจอาจไม่สามารถก้าวหน้าไปได้อย่างที่ควรหากขาดไอเดีย ดังนั้นผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญในเรื่องนี้เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมา ช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้กับองค์กรสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

แหล่งที่มาสำคัญของไอเดียนวัตกรรม เช่น
1. ความรู้ใหม่
แม้ว่าเส้นทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ขายได้ในตลาดจากความรู้ใหม่ ๆ มักจะเป็นเส้นทางที่ยาวไกล แต่ก็เป็นแหล่งที่มาของนวัตกรรมแบบที่เปลี่ยนสิ่งเดิมอย่างสิ้นเชิงเป็นจำนวนมาก
2. ไอเดียจากลูกค้า
ไอเดียจากแหล่งนี้สามารถบอกได้ว่าผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันมีข้อจำกัดและจุดที่ไม่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าอยู่ตรงไหน
3. ผู้นำในการใช้สินค้าหรือบริการ
ผู้ใช้งานเหล่านี้คือคน (หรือบริษัท) ซึ่งมีความต้องการที่ก้าวล้ำนำหน้าแนวโน้มของตลาดในปัจจุบัน จงมองให้เห็นว่าพวกเขาทำอย่างไรกับสินค้าหรือบริการในปัจจุบันเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของพวกเขาโดยที่ลูกค้าคนอื่น ๆ อาจทำตามบ้างในอนาคต
4. การออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างเอาใจเขาใส่ใจเรา
นี่คือเทคนิคการทำให้เกิดไอเดียอย่างหนึ่งซึ่งผู้สร้างนวัตกรรมต้องสังเกตว่าลูกค้าใช้สินค้าหรือบริการที่มีอยู่อย่างไรภายใต้สภาวะแวดล้อมของพวกเขาเอง จงพยายามออกไปเปิดโลกกว้างหรือใช้เวลาอยู่กับลูกค้าหรือผู้ที่น่าจะเป็นลูกค้าในอนาคตเพื่อสังเกตว่าพวกเขาทำอะไรและทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาของพวกเขา
5. โรงงานผลิตนวัตกรรมกับหน่วยงานเฉพาะกิจ
แหล่งของไอเดียเหล่านี้คือ ห้องทดลองด้าน R&D และกลุ่มที่ตั้งขึ้นเป็นพิเศษที่มีภารกิจเพียงอย่างเดียวโดยมีศูนย์การทำงานเป็นของตัวเองเพื่อคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ
6. นวัตกรรมจากการซื้อขายในตลาด
นวัตกรรมที่เกิดขึ้นโดยวิธีนี้อาศัยการซื้อขายแลกเปลี่ยนไอเดียระหว่างองค์กรผ่านการให้ใบอนุญาต การร่วมกิจการและการเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ซึ่งกันและกัน
แหล่งอ้างอิง : สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
https://energy.go.th/th/interested/29257
http://www.biodiesel.eng.psu.ac.th/process.php
https://www.prachachat.net/economy/news-1034335
https://women.trueid.net/detail/4QeVZ1JeEgAx
http://www.ej.eric.chula.ac.th/content/6142/335
https://www.greennet.or.th/soft-soap/
https://www.salika.co/2021/01/26/5-ways-to-boost-new-ideas/
https://www.brightsidepeople.com/idea-management-%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87-innovation/
https://www.scg.com/innovation/perfect-blend-of-innovative-ideas-and-customer-centricity/
https://www.doyourwill.co.th/post/innovation-process-3