ไฮไลท์ :
อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยปัจจัยจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำเข้าสู่ชีวิตมนุษย์มากขึ้น (Technology Disruption) ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูงได้อย่างเร็วขึ้น และมีราคาถูกลง ปัญหาข้อจำกัดของพลังงานน้ำมันที่มีโอกาสจะหมดไปในอนาคต และกระแสการลดใช้พลังงานที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในส่วนของประเทศไทย มีการคาดการณ์ตามแผน Energy Efficiency Plan (EEP) ว่า ในปี 2579 จะมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ากว่า 1.2 ล้านคัน รัฐบาลมุ่งเน้นให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ในฐานะอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) อย่างเต็มที่ทุกด้าน ทำให้ภาคเอกชนตื่นตัวกับการลงทุนอย่างเห็นได้ชัด
---------------------------------------------------------------------
เทรนด์อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) เปลี่ยนโลก เป็นเรื่องที่กำลังถูกพูดถึงอย่างมากในทุกแวดวง ด้วยปัจจัยทั้งการรุกคืบของการพัฒนาเทคโนโลยีที่ล้ำเข้าไปในชีวิต (Technology Disruption) ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูงเร็วขึ้น และมีราคาถูกลง
ประกอบกับแรงบีบจากปัญหาข้อจำกัดของพลังงานน้ำมันที่มีโอกาสจะหมดไปในอนาคต และกระแสการลดใช้พลังงานที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ทุกอุตสาหกรรมหันมาหาทางออกจากพลังงานทางเลือกมากขึ้น ตลอดจนความผันผวนของราคาน้ำมันซึ่งเป็นสินค้าการเมืองที่ถูกโยงไปกับประเด็นความขัดแย้งของการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งหมดนี้กลายเป็นแรงส่งให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
@ พัฒนาการรถยนต์ไฟฟ้า
จุดเริ่มต้นของการคิดค้นรถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นเมื่อปี 1884 โดยชาวอังกฤษ และได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่สร้างความฮือฮาได้มากที่สุดคือ การเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า 100% เมื่อปี 2014 ของบริษัท Tesla Motor ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติสหรัฐฯ ที่ทำให้ทั่วโลกเห็นภาพการผลิตถยนต์ไฟฟ้าให้สามารถใช้งานได้จริงบนท้องถนน โดยการใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ไฟฟ้า 100% มีการสร้างโรงงานขนาดใหญ่และคิดค้นมอเตอร์ กับแบตเตอรี่เซลล์เชื้อเพลิง เพื่อใช้ในรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันได้มีการผลิตรถยนต์ Nissan Leaf รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กที่ขายได้กว่า 100,000 คัน แต่การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ายังถูกจำกัดด้วยเรื่องทางเทคนิคเช่น การพัฒนาสถานีชาร์จ แบตเตอรี่ เป็นต้น
ทั้งนี้ ประเภทของรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน มี 4 ประเภท ประกอบด้วย 1) ไฮบริด (HEVs) เป็นรถยนต์ที่ผสมผสานระหว่างเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า ช่วยลดการใช้น้ำมัน 2) ปลั๊กอินไฮบริด (PHEVs) เป็นรูปแบบที่สามารถเก็บพลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้น 3) แบตเตอรี่อย่างเดียว (BEVs) ใช้พลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวในการขับเคลื่อน โดยผ่านแบตเตอรี่แบบลิเทียมไอออน และ 4) เซลส์เชื้อเพลิง (FCEVs) เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้เซลส์เชื้อเพลิงเป็นตัวขับเคลื่อน
ข้อมูลจาก International Energy Agency (IEA) ระบุว่า ปี 2558 มีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก 1.26 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 77.84% โดยประเทศที่มีอัตรการการขยายตัวของการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าสูงสุด คือ จีน สหราชอาณาจักร นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ และเยอรมัน
ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ปี 2558
ที่มา : International Energy Agency (IEA)
@ มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ
ในฟากฝั่งของประเทศไทย ก็ตื่นตัวกับเทคโนโลยีนี้เช่นกัน โดยรัฐบาลไทยได้ให้ความสนใจพร้อมทั้งกำหนดมาตรการสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมใหม่ S- Curve
‘คุณอุตตม สาวนายน’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า รัฐบาลต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญ โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นหัวใจของรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งมี 3 ส่วนหลัก คือ 1.แบตเตอรี่ 2. มอเตอร์ไฟฟ้าและ 3.ระบบควบคุมไฟฟ้า
โดยมีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าจะเริ่มเห็นภาพชัดเจนในประเทศไทยจะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 7 ปี หรือประมาณปี 2568 จากภาพใหญ่ที่มีการคาดการณ์ในแผน Energy Efficiency Plan (EEP) ว่าในปี 2579 จะมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ากว่า 1.2 ล้านคัน
Energy Efficiency Plan (EEP)
ที่มา : กระทรวงพลังงาน
โดยปัจจุบันมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ 10 รายเตรียมลงทุนผลิตสิ่งที่เป็นหัวใจของรถอีวีคือแบตเตอรี่ ตามเงื่อนไขที่รัฐบาลขอให้ทรานส์เฟอร์เทคโนโลยี แม้ในช่วงแรกจะต้องนำเข้าแบตเตอรี่ก่อน จากนั้นขยับเป็นการนำเซลล์มาประกอบเป็นแพ็กในประเทศไทย ก่อนที่จะลงทุนในประเทศไทยทั้งหมด
ทั้งนี้รั ฐบาลไทยจะมีการกำหนดมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุน และกฎหมาย พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ( พ.ร.บ.EEC) อีกด้านหนึ่ง ทุกหน่วยงานจะต้องกระตุ้นทั้งอุปสงค์ อาทิ การส่งเสริมให้ใช้รถอีวีในการโปรโมทการท่องเที่ยว เป็นต้น
@ ทรานสฟอร์มสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า
ฟากฝั่งภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศต่างก็ตื่นตัวทรานฟอร์มธุรกิจสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์เกี่ยวข้องอย่างคึกคัก ไม่เพียงเฉพาะผู้ผลิตรถยนต์เท่านั้น แต่ผู้ประกอบการในธุรกิจอื่นที่หันมาทดลองชิมลางตลาดรถยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และสถานีชาร์จ เริ่มมีจำนวนมากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น ค่ายผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บิ๊กในตลาดโลกอย่าง “เดลต้า” นายดิ๊ก เซีย ประธานบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า บริษัทเริ่มปรับเปลี่ยนธุรกิจมาผลิตชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มากขึ้น เพราะแนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่กำลังเกิดขึ้น บวกกับนโยบายสนับสนุนการลงทุนของทางภาครัฐในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve)
โดยบริษัทมีแผนที่จะเป็นผู้ผลิตสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV charger) จากปัจจุบันโมเดลธุรกิจหลักของบริษัทแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.การจัดการด้านพลังงานไฟฟ้าซึ่งสัดส่วน 25% เช่น ปุ่มควบคุมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ระบบในงานฐานข้อมูล (data) 2.พาวเวอร์/อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สัดส่วน 50% เช่น switching power supply กล่อง CPU ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ 3.การบริหารจัดการด้าน smart green lite สัดส่วน 25% เช่น ไฟ LED แผงโซลาร์เซลล์ อุปกรณ์การแพทย์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ประเภท EV charger ประกอบด้วย ขนาดเล็กจะใช้เวลา 4-5 ชม./การชาร์จ 1 ครั้ง รถสามารถวิ่งได้ 80-100 กม. ราคาประมาณ 90,000 บาท สามารถติดตั้งในบ้านขนาดใหญ่ที่มีประมาณไฟเพียงพอ และขนาดใหญ่หรือ Quick charger จะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที/การชาร์จ 1 ครั้ง ราคาประมาณ 100,000 บาท
อีกรายเป็นกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าที่หันมาสนใจวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่และสมองกล สำหรับรถอีวี “คุณสมโภชน์ อาหุนัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ได้เปิดเผยหลังนำรถไฟฟ้าต้นแบบสัญชาติไทย “ไมน์” (MINE) 3 รุ่น คือ เอ็มพีวี อีวี, ซิตี้ อีวี และสปอร์ต อีวี มาแสดงในงานเพื่อรับฟังเสียงของลูกค้าสำหรับนำไปพัฒนา ก่อนจะขึ้นไลน์ผลิตจริง และจัดจำหน่ายในปี 2562 ในราคาที่จับต้องได้ อย่างรุ่นซิตี้จะขายไม่เกิน 6 แสนบาท ส่วนเอ็มพีวีไม่เกิน 1 ล้านบาท นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้เพิ่มงบประมาณในการก่อสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า จาก 600 ล้านบาท เป็น 800 ล้านบาท เพื่อการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า 1,000 สถานีทั่วประเทศ
คงจะเริ่มเห็นภาพว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้ากำลังคึกคักอย่างมาก ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ ทั้งหมดนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต
Bangkok Bank SME เราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ คลิก หรือสายด่วน 1333