#PlasticFreeJuly 4 นวัตกรรมจากขยะพลาสติก ช่วยโลกให้อยู่รอด

Edutainment
03/07/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 2890 คน
#PlasticFreeJuly  4 นวัตกรรมจากขยะพลาสติก ช่วยโลกให้อยู่รอด
banner
เดือนกรกฎาคมของทุกปี จะมีแคมเปญสำคัญที่ส่งผลต่อโลกใบนี้ นั่นคือเดือนแห่งการปลอดพลาสติก (Plastic Free July) #PlasticFreeJuly  และกำหนดให้วันที่ 3 กรกฎาคมของทุกปีเป็น ‘วันปลอดถุงพลาสติกสากล’ โดยองค์กร Plastic Bag Free World ที่ก่อตั้งขึ้นจากความร่วมมือขององค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมหลายแห่งทั่วโลก เพื่อหวังกระตุ้นให้เกิดความตระหนักถึงผลกระทบของการใช้ถุงพลาสติกที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมโลก 



สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน ระบุว่า ทุกช่วงเดือนกรกฎาคมในสหราชอาณาจักรจะมีการรณรงค์ให้เป็นเดือนแห่งการปลอดพลาสติก (Plastic Free July) เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคลดการใช้พลาสติกตลอดทั้งเดือน ผ่านการสร้างวิถีชีวิตในรูปแบบใหม่ที่ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันหรือใช้น้อยลง ซึ่งเป็นโครงการที่มีการรณรงค์ทั่วโลกมากว่า 10 ปี โดยที่ผ่านมามีผู้คนเข้าร่วมโครงการกว่า 326 ล้านคนจาก 177 ประเทศทั่วโลก ส่งผลให้มีการลดปริมาณการใช้พลาสติกได้กว่า 940 ล้านตัน

ทั้งนี้ ผู้บริโภคในสหราชอาณาจักร เริ่มเล็งเห็นว่าบรรจุภัณฑ์พลาสติกส่งผลอย่างร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในกลุ่มคน Gen Z และ Millennials ที่ให้ความสำคัญต่อการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หนึ่งในวิธีการที่ง่ายที่สุดคือการรู้ถึงประเภทของพลาสติก วิธีการใช้ และวิธีการกำจัดพลาสติกที่จะไม่เป็นมลพิษต่อโลกหลังการใช้ 

Plastic Free July จึงเป็นโครงการที่รณรงค์ไปทั่วโลกและช่วยผลักดันให้ประชาชนเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อให้พวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหานี้



ขณะที่ประเทศไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอและมอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.)ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563-2565) จนสิ้นสุดลง พร้อมจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 โดยมี Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 (Thailand’s Roadmap on Plastic Waste Management 2018 - 2030) เพื่อดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทย 

การดำเนินการดังกล่าวมีขึ้นภายใต้กรอบแนวคิด ‘ก้าวสู่การจัดการพลาสติกที่ยั่งยืน ด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน’ (Moving Towards Sustainable Plastic Management by Circular Economy) ยกระดับการจัดการขยะพลาสติกให้ดีขึ้นกว่าเดิมตามลำดับความสำคัญของการจัดการขยะรูปแบบใหม่

ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน การเลือกใช้สินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำ ใช้แนวทางการจัดการขยะมูลฝอยผสมผสาน เพื่อให้นําทรัพยากรกลับคืนจากของเสียให้มากที่สุดในรูปแบบวัสดุรีไซเคิล และพลังงาน ทำให้เหลือขยะที่ต้องกำจัดให้น้อยที่สุด



เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมเดือนแห่งการปลอดพลาสติก (Plastic Free July) เรามีไอเดียสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ทำจากขยะพลาสติกจาก Springwise ที่น่าสนใจมาฝากกัน 


1. เปลี่ยนพลาสติกจากยานพาหนะคันเก่าเป็น ‘กราฟีน’

‘กราฟีน’ (Graphene) จัดเป็นวัสดุนำไฟฟ้าและความร้อนได้ดีที่สุดในโลก โดยเป็นวัสดุที่ประกอบด้วยชั้นของคาร์บอนอะตอมที่หนาเพียง 1 ชั้น มีลักษณะเป็นแผ่นที่มีโครงสร้าง 2 มิติ เหมือนตาข่ายรูปหกเหลี่ยมคล้ายรังผึ้งมีความหนาเท่ากับขนาดของคาร์บอนเพียงอะตอมเดียว หรือประมาณ 0.34 นาโนเมตร

ปัจจุบันความร่วมมือระหว่างนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไรซ์ ตั้งอยู่ที่เมืองฮิวสตัน ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา และบริษัทฟอร์ด มอเตอร์ มีการใช้กราฟีนสำหรับผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ สิ่งที่น่าทึ่งคือ กราฟีนเหล่านี้ ผลิตจากพลาสติกที่รีไซเคิลยากจากรถยนต์เก่า

กระบวนการที่นำมาแก้ปัญหานี้ เรียกว่า Flash Joule Heating โดยพลาสติกผสมจะถูกหลอมด้วยกระแสไฟฟ้าแรงดันสูง ทำให้องค์ประกอบต่าง ๆ ในพลาสติกกลายเป็นไอ คงเหลือไว้แต่กราฟีน ซึ่งสามารถนำไปใช้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ใหม่ได้





2. รีไซเคิล ‘เมาส์คอมพิวเตอร์’ ลดขยะในมหาสมุทร

เมาส์ Ocean Plastic Mouse ไร้สายของบริษัทไมโครซอฟท์ มีส่วนประกอบของพลาสติกรีไซเคิล 20%  เปอร์เซ็นต์ และยังบรรจุในบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล 100%  อุปกรณ์ชิ้นนี้ทำจากพลาสติกที่ผ่านกระบวนการ หลังจากแปรรูปและทำความสะอาด

ขยะจะถูกเปลี่ยนเป็นเม็ดพลาสติกเพื่อใช้ในการผลิตเมาส์ สำหรับกล่องบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่จะใช้วัสดุรีไซเคิลได้อย่างเยื่อกระดาษ เส้นใยจากอ้อย แทนที่แบบเดิมที่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 





3. เขียง จากฝาขวดพลาสติกรีไซเคิล

แมตต์ และ จอนนี่ พี่น้องและ Content Creator เจ้าของช่อง YouTube ‘Brothers Make’ จากสหราชอาณาจักรที่มีผู้ติดตามกว่า 2.79 แสนคน ได้ออกแบบเขียงจากฝาขวดพลาสติกใช้แล้ว โดย แมตต์ เป็นครูโรงเรียนมัธยมที่สอนด้านการออกแบบและเทคโนโลยี ส่วนจอนนี่ คือผู้จัดการบัญชีอาวุโสของบริษัทการตลาด พวกเขาเริ่มสร้างคอนเทนต์วิดีโอต่างๆ ร่วมกันในปี 2018

หลังจากได้รับการตอบรับที่ดี แมตต์ และ จอนนี่ ได้เปิดร้านค้าออนไลน์เพื่อขายผลิตภัณฑ์และของใช้ที่ทำจากพลาสติกจากขยะรีไซเคิล 100%  ตั้งแต่ ที่รองแก้ว กล่องกาแฟ จี้ห้อยคอ ไปจนถึงปิ๊กกีตาร์




4. เปลี่ยน ร่ม แบบใช้แล้วทิ้งให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์แสนสวย

แอนติ (Anti) บริษัทด้านการออกแบบสินค้าที่สร้างขึ้นจากขยะนำมารีไซเคิลใหม่ให้กลายเป็นของใช้ที่มีดีไซน์ โดยคอลเลกชันแรก คือ ชุดโคมไฟตั้งโต๊ะที่ทำจากร่มที่ถูกทิ้ง และด้วยจำนวนร่มมากกว่าหนึ่งพันล้านคันที่ถูกทิ้งจากทั่วโลกในแต่ละปี สามารถนำกลับมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้จำนวนมาก

หนึ่งในเหตุผลหลักที่ ‘ร่ม’ กลายเป็นของสิ้นเปลือง เป็นเพราะมันไม่ได้ถูกออกแบบให้ใช้งานได้ยาวนานและเมื่อใช้งานไม่ได้ คนมักจะนำไปทิ้งมากกว่านำไปซ่อมแซม ทำให้แต่ละปีมีขยะโลหะ พลาสติก และไนลอนหลายพันกิโลกรัมจากร่ม ถูกนำไปเผาหรือทับถมจนเป็นกองขยะมหาศาล




นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยหลายราย มีความตื่นตัวกับปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับการลดการใช้ขยะพลาสติกเช่นกัน ขอยกตัวอย่าง บริษัทมัลติแบกซ์ จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการสัญชาติไทยที่สร้างสรรค์พลาสติกรักษ์โลกด้วยนวัตกรรม เพื่อเป็นทางเลือกและทางรอดของโลกใบนี้ โดยดำเนินธุรกิจพลาสติกรักษ์โลกจากพลาสติกชีวภาพชนิดย่อยสลายได้ (Compostable)



วิสัยทัศน์ของ บริษัท มัลติแบกซ์ จำกัด (มหาชน) คือมองการณ์ไกลถึง ‘ปัญหาขยะพลาสติก’ ที่ส่งผลกระทบต่อโลก ก่อให้เกิดแนวคิดผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) ที่สามารถย่อยสลายได้เพื่อแก้โจทย์สำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาขยะที่ได้รับการยอมรับในคุณภาพมาตรฐานระดับสากลจากทั้ง สหรัฐอเมริกา และทวีปยุโรป



ดร.พิสุทธิ์ เลิศวิไล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทมัลติแบกซ์ จำกัด (มหาชน) เผยจุดเริ่มต้นของธุรกิจผลิตถุงพลาสติกว่า เกิดจากการรวมกลุ่มของเพื่อน ๆ สมัยเรียนเมื่อ 28 ปีที่แล้ว โดยมองเห็นอนาคตของธุรกิจพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ว่าน่าจะเป็นเทรนด์ที่มีความยั่งยืน (Sustainability) 

“จากปัญหาขยะพลาสติกที่สะสมมายาวนาน เป็นเหตุผลให้บริษัทต้องการแก้ปัญหาและนำมาสู่แนวคิดการผลิตพลาสติกชีวภาพจากพืชที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีทางชีวภาพให้สามารถย่อยสลายเองได้ ลดการทำลายสิ่งแวดล้อมจากการกำจัดขยะพลาสติก ถือเป็นการ เปลี่ยนปัญหา ‘ขยะพลาสติก’ เป็นโอกาสทางธุรกิจ อีกหนึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาขยะเพื่อตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก”




อีกหนึ่งผู้ประกอบการไทยที่ใช้แนวคิด Sustainable เป็นมิตรต่อโลกได้อย่างลงตัวคือ SC GRAND ที่แปลงคุณค่าจากผ้าเก่า สู่ Sustainable Fashion 

คุณจิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด ทายาทรุ่นที่ 3 คือผู้บริหารรุ่นใหม่ ที่หันมาพัฒนาจุดแข็งของบริษัทจากการทำธุรกิจเกี่ยวกับของเสียในอุตสาหกรรมแฟชั่นและอุตสาหกรรมสิ่งทอมากว่า 55 ปี เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสินค้าให้กับองค์กรต่างๆ เพื่อช่วยกันสร้างผลกระทบที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมบนโลกนี้



ปัญหาจากเสื้อผ้าที่เหลือใช้ และขยะที่เกิดขึ้นจากเสื้อผ้าแฟชั่นมีมากถึง 92 ล้านตันในพื้นที่ฝังกลบ ซึ่งจำนวนเกือบทั้งหมดนี้สามารถนำมารีไซเคิลได้ และทำเป็นเสื้อผ้าใหม่ได้ แต่กลับมีจำนวนไม่ถึง 15% ที่ถูกนำกลับมารีไซเคิลใหม่ ทำให้เขาสร้างแบรนด์เสื้อผ้าสำเร็จรูปน้องใหม่จากแบรนด์ ‘Circular’ ที่ทำมาจากเส้นใยรีไซเคิลจากเสื้อเผ้าเก่าและเศษเหลือใช้จากกระบวนการทอผ้า 



จุดแข็งของบริษัท SC GRAND คือความถนัดเรื่อง Zero Waste ซึ่งเป็นแนวคิดในการลดขยะมาอย่างยาวนาน โดยการนำเอาของเสียจากอุตสาหกรรมสิ่งทอที่เกิดจากโรงงานทอผ้า, เย็บผ้าและอื่น ๆ มารีไซเคิลเพื่อให้ทุกของเสียที่เกิดในอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นได้ถูกนำมาใช้ได้ใหม่ 100% ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าเก่า รวมไปถึงเส้นใยธรรมชาติต่างๆ มาคัดแยกสี รวมทั้งแปรสภาพเป็นผ้าใหม่ หรือผ้าหลากสีที่ไม่ผ่านกระบวนการฟอกย้อม จนเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมธุรกิจที่ยั่งยืน และลดผลกระทบที่ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม




ปิดท้ายด้วยธุรกิจแฟชั่นรักษ์โลกที่มาแรงอย่างแบรนด์ ‘Earthology’ บริษัทไทยแทฟฟิต้า จำกัด ที่นำทัพโดย คุณกฤติกา ชัยวิไล Vice President ผู้คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมสิ่งทอแบบครบวงจรมายาวนาน และเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์แฟชั่น  Earthology Studio ด้วย Vision มุ่งมั่นเป็นผู้ผลิตสิ่งทอระดับโลก ที่พัฒนาสินค้าด้วยความใส่ใจสิ่งแวดล้อมทุกกระบวนการในการผลิต

ด้วยประสบการณ์ที่อยู่ในธุรกิจสิ่งทอมา 34 ปี มีการดำเนินงานมีการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีเป้าหมายสู่การเป็นโรงงานผู้ผลิตสิ่งทอที่ยั่งยืน และมีสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กลายเป็นที่มาของการต่อยอดสู่ธุรกิจ แบรนด์สินค้ารักษ์โลกจากวัสดุรีไซเคิล Earthology Studio ที่นำคำว่า  Earth + Technology มารวมเข้าด้วยกัน



สิ่งที่ทำให้หลายคนรู้จักและชื่นชอบ Earthology Studio คือไอเดียธุรกิจรักษ์โลกที่นำขวดพลาสติก Transforms นำกลับมาเป็นโปรดักส์ใหม่ คุณกฤติกา เผยว่ากว่าจะมาเป็นผ้าผืน ต้องมีกระบวนการในการแยกชิ้นส่วนต่าง ๆ ก่อน เช่น ฉลาก ฝาขวด จากนั้นนำไปบดให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ เข้าสู่กระบวนการ ใช้เทคโนโลยีทำให้เป็นเม็ด แล้วฉีด จนกลายเป็นผ้า 

ปัจจุบันเทคโนโลยียิ่งมีการพัฒนามากขึ้น เรื่องของ Performance อาจจะไม่ต่างจากเส้นใยใหม่ แต่ต้นทุนพบว่าสูงขึ้น 10-15% ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีการหาแนวทางเพื่อให้ธุรกิจ SME สามารถอยู่ได้ หากต้องการทำธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน



และทั้งหมดนี้ คือสิ่งเล็ก ๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนโลกใบนี้ในแง่ของความสร้างสรรค์ การต่อยอดไอเดีย รวมถึงแนวคิดการทำธุรกิจบนเส้นทาง Net Zero ที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้งานและผู้ผลิต ต่างคำนึงถึงการลดจำนวนขยะพลาสติก และการรีไซเคิลเพื่อนำของเหลือทิ้งให้กลับมาเป็นสิ่งใหม่อย่างคุ้มค่า เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่ ไม่ใช่แค่เดือนกรกฎาคม ไม่ใช่แค่วันสำคัญ แต่คือความใส่ใจในทุกวันและตลอดไป

อ้างอิง 

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ตรุษจีนยุคใหม่ไร้ Foodwaste เคลียร์ของไหว้เป็นเมนูเด็ด แถมลดโลดร้อน

ตรุษจีนยุคใหม่ไร้ Foodwaste เคลียร์ของไหว้เป็นเมนูเด็ด แถมลดโลดร้อน

ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นประเด็นที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะยิ่งนับวัน การคืบคลานเข้ามาของสภาวะโลกร้อนที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อหลายภาคส่วน…
pin
815 | 07/02/2024
‘เวียดนาม’ โตไวในธุรกิจรักษ์โลก ไทยอยู่อันดับเท่าไหร่ในตลาดอาเซียน

‘เวียดนาม’ โตไวในธุรกิจรักษ์โลก ไทยอยู่อันดับเท่าไหร่ในตลาดอาเซียน

จากข้อมูลโดย ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sdgmove)  ระบุว่า เดือนเมษายน ปี 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามเผยแพร่ยุทธศาสตร์ชาติ…
pin
11795 | 26/10/2023
#กินเจ2566 เช็ค 8 สถานที่ใกล้ตัว งาน‘เทศกาลกินเจ 2566’ อิ่มท้อง อิ่มใจ ได้บุญ

#กินเจ2566 เช็ค 8 สถานที่ใกล้ตัว งาน‘เทศกาลกินเจ 2566’ อิ่มท้อง อิ่มใจ ได้บุญ

ช่วงเวลาของสายบุญ ที่จะเวียนมาปีละครั้ง สำหรับเทศกาลกินเจ หรือ ประเพณีถือศีลกินผัก ตามประเพณีแบบลัทธิเต๋า รวม 9 วัน โดยกำหนดวันตามจันทรคติ…
pin
14229 | 03/10/2023
#PlasticFreeJuly  4 นวัตกรรมจากขยะพลาสติก ช่วยโลกให้อยู่รอด