‘Thai Specialty Coffee’ ยกระดับรสชาติกาแฟยูนีคเจาะตลาด AEC

SME Update
27/07/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 3710 คน
‘Thai Specialty Coffee’ ยกระดับรสชาติกาแฟยูนีคเจาะตลาด AEC
banner
ช่วงนี้กระแส ‘Speacialty Coffee’ มาแรง หลายคนคงจะได้ยินคำนี้กันมากขึ้น อ่านแล้วคงตีความตรงตัวว่า ‘กาแฟพิเศษ’ แต่ชื่อนี้ไม่ได้แปลว่ากาแฟในร้านนั้นจะ Special เหมือนชื่อเสมอไป เพราะคำว่า ‘Specialty Coffee’ ไม่ใช่คำที่ได้มาง่าย ๆ แต่ต้องมีความพิเศษที่พิถีพิถันของกาแฟมากกว่านั้น แล้วความพิเศษที่ว่าเป็นอย่างไร?

Bangkok Bank SME จะพาไปรู้จักตลาด Specialty Coffee มูลค่า 2,000 ล้านบาท กับโอกาสธุรกิจในการเจาะตลาดอาเซียน หรือ AEC จะเป็นไปได้หรือไม่ หาคำตอบได้จากบทความนี้

‘กาแฟ’ ถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของหลายประเทศ มีอัตราการเติบโตมากขึ้นทุกปี แถมยังมีคนเริ่มมีความสุข และสดชื่นกับการดื่มกาแฟมากขึ้นเรื่อย ๆ เห็นได้จากบรรยากาศของการจิบกาแฟในบ้านเราดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้งหลังผ่านวิกฤตมาได้ คาเฟ่ต่าง ๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด แต่ที่น่าสนใจ เราได้เห็นรูปแบบการทำธุรกิจร้านกาแฟแบบพิเศษ ที่เรียกว่า Specialty Coffee มากขึ้น



แล้ว Specialty Coffee คืออะไร? ทำไมคอกาแฟถึงยอมจ่ายแพงกว่า

‘Specialty Coffee’ คือ กาแฟพิเศษ ที่เมล็ดได้ผ่านกระบวนการคัด คั่ว บด กลั่น ชง จนได้กาแฟที่มีรสชาติดี ได้รับการรับรองคุณภาพจากนักชิมที่มีความเชี่ยวชาญ ที่เรียกว่า Cupper หรือ Q – Grader โดยมีการทดสอบกระบวนการผลิตเมล็ดกาแฟ คุณภาพ ไปจนถึงกลิ่นและรสชาติ ต้องได้คะแนน 80 คะแนนขึ้นไปเท่านั้น จึงจะเรียกว่า ‘Specialty Coffee’ ได้ 



ความเป็น ‘Specialty Coffee’ วัดจากอะไร?

‘Specialty Coffee’ เขาวัดจาก Cupping Score คือ การชิมทดสอบรสชาติกาแฟ เป็นเกณฑ์ที่ใช้ประเมินคุณภาพกาแฟพิเศษ กำหนดขึ้นโดยสมาคมกาแฟพิเศษ มีคะแนนรวมทั้งหมด 100 คะแนน โดยมีหลักเกณฑ์ในการประเมินทั้งหมด 10 ข้อด้วยกัน แต่ละเกณฑ์มีคะแนนเต็ม 10 คะแนน ดังนี้

1. Fragrance / Aroma ความรู้สึกถึงกลิ่นหอมของผงกาแฟที่บดไว้ไม่นานเกิน 15 นาที และกลิ่นหอมที่ระเหยออกมา เมื่อเราเทน้ำร้อนลงยังผงกาแฟตามอัตราส่วน

2. Flavor ความรู้สึกถึงกลิ่นรสสัมผัสของกาแฟ เมื่อได้ชิมกาแฟ ระยะเวลาที่เหมาะสม คือ 8-10 นาทีนับจากเริ่มเทน้ำร้อน

3. Aftertaste ความยาวนานในความรู้สึกเชิงคุณภาพของกลิ่นรสที่ยังคงครุกรุ่นอยู่ในลมหายใจ หลังจากที่เรากลืนกาแฟเข้าไปในลำคอ หากความรู้สึกนั้นสั้น หรือเป็นความรู้สึกที่ไม่น่าประทับใจ คะแนนก็จะน้อยตามไปด้วย

4. Acidity ลักษณะความเปรี้ยวในกาแฟ คุณลักษณะนี้ ต้องระบุทั้งในส่วนที่เป็นคุณภาพและความเข้มข้นของรสชาติ

5. Body การประเมินของเหลวที่เข้าไปในปากโดยใช้ความรู้สึกระหว่างส่วนกลางของลิ้นกับเพดานปาก ในหัวข้อนี้จะมีการระบุทั้งในส่วนที่เป็นคุณภาพและความเข้มข้นของเนื้อสัมผัสเช่นเดียวกันกับ Acidity

6. Balance ความรู้สึกถึงสัดส่วนที่เท่า ๆ กันระหว่าง Flavor, Aftertaste, Acidity และ Body

7. Uniformity ความไม่แตกต่างจากกัน โดยในหนึ่งตัวอย่างกาแฟ จะแบ่งออกเป็น 5 แก้ว แก้วที่มีความแตกต่างจากแก้วอื่น ๆ จะถูกตัดคะแนนออกไป

8. Clean cup ความรู้สึกสะอาดในรสชาติกาแฟ แก้วที่มีกลิ่นหรือรสอันมาจากความไม่สะอาดนั้นจะถูกตัดคะแนนออกไป

9. Sweetness ความหวานในรสกาแฟ ที่กระตุ้นด้วยความร้อนจนเป็นน้ำตาล ที่สามารถรับรสชาติได้

10. Overall ข้อสุดท้ายจะเป็นคะแนนภาพรวมหรือคะแนนจากนักชิม (Cupper Point) ซึ่งนักชิมจะต้องให้คะแนนตามคุณลักษณะสำคัญโดยรวมของกาแฟ ไม่ใช่เพียงแค่ความชื่นชอบหรือความคิดเห็นส่วนบุคคลเท่านั้น

โดยหลักเกณฑ์คุณลักษณะทั้ง 10 ข้อนี้จะถูกประเมินให้คะแนนตาม Quality Scale เนื่องจากจุดประสงค์ คือ การประเมินกาแฟที่เป็น Specialty Coffee โดยเฉพาะ ซึ่งต้องมีคุณภาพอยู่ที่ระดับ ‘ดี’ เป็นอย่างน้อย

แสดงให้เห็นว่าถึงเราจะซื้อเมล็ดกาแฟนำเข้า ราคาสูง หรือเกรดพรีเมี่ยมขนาดไหน ก็ไม่ได้แปลว่าเมล็ดกาแฟนั้นจะทำให้เราได้ดื่ม ‘Specailty Coffee’ ดังนั้นเมื่อผู้คนเริ่มรับรู้ในความพิถีพิถันของการผลิตกาแฟ ‘Specialty Coffee’ มากขึ้น จึงดึงดูดเหล่าคอกาแฟทั้งหลายที่ปรารถนาอยากชิมรสสัมผัสที่แตกต่าง มีความเป็นยูนีค (อัตลักษณ์) ของตัวเอง แม้ต้องจ่ายในราคาที่แพงกว่าก็ยอม



ยกตัวอย่างเช่น ‘กาแฟเทพเสด็จ’ กาแฟพันธุ์ดีของคนไทย ผลผลิตจากดอยสูงใน จ. เชียงใหม่ ที่ปลูกอยู่บนพื้นที่สูง อยู่ใต้ร่มเงาของต้นชาเหมี่ยงและป่าไม้ธรรมชาติ และอยู่บริเวณป่าต้นน้ำ มีสภาพอากาศเย็นตลอดทั้งปี มีดอกก่อเป็นดอกไม้ป่า มีผึ้งโก๋นหรือผึ้งโพรงที่เลี้ยงโดยชาวบ้านทำให้ไม่มีแมลงมารบกวนและเป็นตัวช่วยในการผสมเกสรของดอกกาแฟ 



จึงเป็นเหตุผลให้ กาแฟเทพเสด็จเป็นกาแฟที่รสชาติกลมกล่อมมีความหอมกลิ่นจากดอกไม้ป่า มีความโดดเด่นเป็นอัตลักษณ์ของตัวเอง จนได้ขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งที่บ่งชี้ภูมิศาสตร์ (GI) อันดับที่ 11 ของอาเซียน กาแฟเทพเสด็จ นอกจากจะเป็นแบรนด์เมล็ดกาแฟไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลกแล้ว ยังเป็นกาแฟแห่งการอนุรักษ์ป่าด้วย 



เป็น Specialty Coffee ไทยที่ต่างชาติให้การยอมรับ ภายใต้การพัฒนารสชาติ และปรับปรุงการแปรรูปเมล็ดกาแฟอย่างพิถีพิถันทุกขั้นตอนโดย ‘บริษัท ไพรัตน์ ฟู้ด จำกัด’ จนสามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตในชุมชน สร้างรายได้อย่างยั่งยืน หวังต่อยอดวงการกาแฟไทยสู่ระดับสากล




ตลาด Specialty Coffee มูลค่า 2,000 ล้านบาท ยังโตได้อีก

สำหรับกระแสความนิยมกาแฟ ‘Specialty Coffee’ ในไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยปัจจุบันภาพรวมตลาดกาแฟพรีเมี่ยม อยู่ที่ 20,000 ล้านบาท คิดเป็น ‘Specialty Coffee’ ประมาณ 2,000 ล้านบาท หรือราว 10% ของตลาดทั้งหมด และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ 

ทั้งนี้ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกกาแฟและผลิตภัณฑ์กาแฟ อันดับที่ 4 ของอาเซียน รองจากเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย และเป็นอันดับที่ 11 ของโลก จากข้อมูลระบุว่าตั้งแต่ปี 2017-2021 ไทยส่งออกปริมาณ 24,812 ตัน คิดเป็นมูลค่า  26,604 ล้านบาท สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญ คือ ผลิตภัณฑ์กาแฟ อาทิ กาแฟปรุงแต่ง และกาแฟพร้อมดื่ม  



โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ กัมพูชา 9976.5 ล้านบาท ลาว 646.8 ล้านบาท เมียนมา 530 ล้านบาท และ ฟิลปปินส์ 251.6 ล้านบาท สำหรับเมล็ดกาแฟที่ไทยส่งออกได้ดี คือ กาแฟพันธุ์อราบิก้า มีมูลค่า 80.5 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 63% ของการส่งออกเมล็ดกาแฟทั้งหมด

ทั้งนี้ไทยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการส่งออกกาแฟสำเร็จรูป ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียนที่ร้อยละ 0 รวมถึงนำเข้าเมล็ดกาแฟดิบจากแหล่งนำเข้าสำคัญ อาทิ เวียดนาม สปป.ลาว และอินโดนีเซีย ที่อัตราภาษีร้อยละ 5 ซึ่งทำให้ลดต้นทุนการผลิตได้ 

โดยอัตราการบริโภคกาแฟของคนไทยอยู่อันดับที่ 7 ของเอเชีย ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าสนใจ เพราะจากสถิติพบว่าการบริโภคกาแฟของคนไทยเพิ่มสูงขึ้นเท่าตัว จาก 180 แก้วต่อคนต่อปี เป็น 300 แก้วต่อคนต่อปี หรือเฉลี่ยประมาณ 1.2 กิโลกรัมต่อคนต่อปี 



ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น คนยุโรปที่ปีหนึ่งดื่มกาแฟคนละ 600 แก้ว หรือชาวอเมริกันที่ดื่มกาแฟคนละ 400 ล้านแก้วต่อวัน หรือ 146,000 ล้านแก้วต่อปีเรียกว่าแทบดื่มแทนน้ำกันเลยทีเดียวคือ

ซึ่งตัวเลขเหล่านี้สะท้อนว่าตลาดกาแฟโดยเฉพาะกาแฟสดมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก โดยคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมกาแฟไทยมีศักยภาพเติบโตถึงปีละ 10%

ขณะที่บทวิเคราะห์ธุรกิจ เรื่องธุรกิจผลิตกาแฟ ปี 65 โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า แนวโน้มของธุรกิจผลิตกาแฟยังคงมีโอกาสขยายตัวได้อีกมากจากความต้องการใช้กาแฟของตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

หากผู้ผลิตสามารถพัฒนาคุณภาพของผลผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ จะช่วยให้ขยายฐานลูกค้าใหม่ที่ชื่นชอบรสชาติที่มีเอกลักษณ์ของกาแฟไทยในภูมิภาพอาเซียนได้



โอกาสเจาะตลาด AEC ที่มีคนคลั่งไคล้การดื่มกาแฟ

ทั้งนี้ตลาดกาแฟในภูมิภาคอาเซียน มีแนวโน้มดีขึ้นจากปัจจัยการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่เรียกว่า “ประเทศกำลังพัฒนา” ทำให้คนทั่วไปมีรายได้มากขึ้นของจำนวนประชาชน ‘คนชั้นกลาง’ ที่เพิ่มสูงขึ้น 

โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า คนชั้นกลางของประเทศกำลังพัฒนาขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สอดรับกับนักวิเคราะห์ตลาดอาหารและเครื่องดื่มระดับโลกของ Mintel ที่ระบุเช่นกันว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เชนผู้ค้ากาแฟต่างประเทศสนใจภูมิภาคนี้มาก 

เพราะปัจจุบันวัฒนธรรมการดื่มกาแฟของชาวอาเซียนพัฒนาไปถึงจุดที่ส่วนใหญ่ต้องการกาแฟชงสด ขนาดที่ว่าคนทำงานหลายคน อาจจะรู้สึกไม่สดชื่นหรือตื่นตัวในการทำงานเลยหากเช้าของวันนั้นไม่ได้เริ่มด้วยกาแฟที่ดีสักแก้ว 

ซึ่งในอาเซียนขณะนี้หลายประเทศมีชนชั้นกลางขยายตัวมากขึ้น จึงเป็นโอกาสดีที่รายล้อมภูมิภาคแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากถึง 200 ล้านคนอย่างอินโดนีเซียที่ถือว่ามีศักยภาพด้านจำนวนผู้บริโภค หรือศูนย์กลางการเชื่องต่อทางการเงินอย่างสิงคโปร์ที่มีกำลังซื้อสูง 



ขณะที่ชาวเวียดนามนิยมดื่มกาแฟหลายแก้วต่อวัน ทั้งก่อนทำงาน กลางวัน แม้กระทั้งเลิกงาน โดยเฉพาะภาคใต้ของประเทศมีการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้จำนวนชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

โดยเฉพาะวัฒนธรรมของชาวนครโฮจิมินห์มองว่ากาแฟไม่ได้เป็นของฟุ่มเฟือยในชีวิต จึงดื่มได้ทั้งวันจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนที่นี่ ประกอบกับเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเยือนมากกว่า 6 ล้านคน

จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟที่แปลกใหม่อย่าง ‘Specialty Coffee’ ไทยที่จะขยายตลาดในโฮจิมินห์อีกมาก ด้วยความชื่นชอบนี้ทำให้มีการคาดการณ์ว่าตลาดกาแฟในเวียดนามจะเติบโตขึ้นอีก 8.2% 

ผู้บริโภคในอาเซียนยังเชื่อมั่นในแบรนด์กาแฟไทย

นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสการขยายธุรกิจร้านกาแฟในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน อย่าง กัมพูชา และฟิลิปปินส์ ที่ผู้บริโภคให้ความเชื่อมั่นในแบรนด์กาแฟจากประเทศไทยเป็นอย่างมาก ที่น่าสนใจคือ ประเทศกัมพูชา วันนี้ธุรกิจร้านกาแฟกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก 



จากรายงานของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ กรุงพนมเปญ พบว่า พฤติกรรมการดื่มกาแฟของคนกัมพูชาเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน มีร้านกาแฟแบรนด์ดังต่าง ๆ เปิดในกัมพูชาเพิ่มขึ้นมากมาย

อย่างแบรนด์ของไทยที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก อาทิ Amazon, Black Canyon, True Coffee, Inthanin, Arabitia, ดอยช้าง, ดอยหล่อ และชาวดอย เป็นต้น 

โดยเครื่องดื่มแบรนด์ไทยมีสัดส่วนการครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 45 จากจำนวนร้านกาแฟทั้งหมดในกัมพูชา โดย Amazon ยังคงเป็นที่นิยมและสามารถขยายสาขาได้มากถึง 140 กว่าสาขาทั่วประเทศ

แสดงให้เห็นถึงคุณภาพกาแฟไทยที่คนกัมพูชายังให้ความเชื่อมั่น จึงอาจเป็นโอกาสสำหรับการเจาะตลาดธุรกิจกาแฟแบรนด์ไทยในประเทศเพื่อนบ้านในอนาคตได้ 

สะท้อนให้เห็นว่า Specialty Coffee อาจกลายเป็นที่ต้องการของตลาดอาเซียน หรือ AEC ดังนั้นการหันมารุกตลาดนี้ก็มีโอกาสธุรกิจอยู่มากมาย แต่อาจต้องปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมการดื่มของคนส่วนใหญ่ในประเทศนั้น ด้วย ดังนั้นการจะทำให้พวกเขาเข้าถึงแก่นแท้ของการดื่มกาแฟพิเศษจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายไม่น้อย



หนุนเกษตรไทยเป็นแหล่งผลิตกาแฟชั้นนำของอาเซียน

ด้วยศักยภาพของประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มอาเซียนที่อยู่เขตพื้นที่เหมาะสมแก่การปลูกกาแฟ หรือ ที่เรียกว่าเขต Bean Belt โดยรายงานขององค์การอาหารและเกษตรกรรมของสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอฟเอโอ) ระบุว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผลผลิตเมล็ดกาแฟในสัดส่วน 1 ใน 4 ของผลผลิตเมล็ดกาแฟทั่วโลก มีอัตราการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า ใกล้เคียงกับกาแฟจากทวีปแอฟริกา 

โดย ประเทศเวียดนามเป็นแหล่งผลิตกาแฟพันธุ์โรบัสตา อันดับ 1 ของโลก และเป็นผู้ผลิตกาแฟสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศบราซิล และยังมีผู้ผลิตกาแฟสำคัญอย่างอินโดนีเซีย ลาว พม่า และไทย ซึ่งมีแนวโน้มสร้างผลิตผลมากขึ้น

หากมีการพัฒนาตั้งแต่กระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ คือ ผลิตสายพันธุ์กาแฟ ปลูกและเก็บเกี่ยวจนเป็นสารเมล็ดกาแฟ จนไปถึงปลายน้ำคือผลิตภัณฑ์กาแฟสำหรับดื่ม จะเป็นการผลักดันให้ประเทศในกลุ่มอาเซียน หนึ่งในนั้นคือประเทศไทยจะกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่อาจก้าวขึ้นเป็นแหล่งผลิตกาแฟชั้นนำของโลกได้

ด้วยเหตุนี้กระทรวงเกษตรฯ จึงมุ่งหวังที่จะสร้างให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้ากาแฟในอาเซียน เพิ่มผลผลิตกาแฟในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สร้างและพัฒนาเครือข่ายระหว่างกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการ รวมถึงการยกระดับคุณภาพและภาพลักษณ์ของกาแฟไทยสู่มาตรฐานสากล 

โดยกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์กาแฟ ปี 2565 – 2574 มีเป้าหมาย 3 ประการ 

1. พัฒนาเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟให้ผลิตกาแฟที่มีคุณภาพ มีอัตลักษณ์ในเชิงพื้นที่ และได้รับการรับรองมาตรฐาน 

2. เพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการให้เข้มแข็ง พัฒนาตลาดเดิมและเปิดช่องทางตลาดใหม่ 

3. วิจัยและพัฒนาคุณภาพสินค้ากาแฟให้ได้รับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเป็นเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การแปรรูป และคุณภาพสินค้ากาแฟ ตลอดจนการสร้างความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้กาแฟไทยมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศต่อไป



ด้าน อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า การแข่งขันกาแฟในยุคการค้าเสรี หากไทยสามารถรักษาคุณภาพและมาตรฐานของกาแฟได้อย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก เก็บ คั่ว ไปจนถึงการแปรรูป จะทำให้กาแฟไทยมีความน่าเชื่อถือและได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคมากขึ้น

ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคหันมาสนใจเครื่องดื่มกาแฟจากแหล่งผลิตที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากขึ้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกาแฟ โดยสร้างเอกลักษณ์ จุดขายที่โดดเด่น และให้ความสำคัญกับคุณภาพมาตรฐานสินค้า ตลอดจนกระบวนการผลิตแบบยั่งยืน 

ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งควรเน้นการขายกลุ่มสินค้าพรีเมี่ยม การพัฒนารสชาติและคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ และการขอตรารับรองมาตรฐานสากล ซึ่งจะช่วยดึงดูดผู้บริโภคและผู้นำเข้าสินค้าในต่างประเทศ รวมถึงเปิดโอกาสขยายตลาดให้กับกาแฟของไทยได้มากขึ้น

 

ตัวอย่างผู้ประกอบการ SME ที่ดำเนินธุรกิจตามแผนยุทธศาสตร์กาแฟได้อย่างมีศักยภาพ คือ ‘ฮิลล์คอฟฟ์’ โรงคั่วกาแฟสีเขียว ถือเป็นบริษัททำกาแฟแห่งแรกของภาคเหนือที่แปรรูปเมล็ดกาแฟพันธุ์อาราบิก้า ด้วยโมเดลธุรกิจ ที่ไม่ใช้สีของเมล็ดกาแฟเป็นตัววัดคุณภาพ 

แต่จะรับซื้อกาแฟตามค่าความหวาน (Sweetness buying process) วิธีการนี้ทำให้ใช้ประโยชน์จากกาแฟได้ทั้งผล ซึ่งฮิลล์คอฟฟ์จะสนับสนุนให้ทุกคนคิดก่อนใช้ ทรัพยากรควรได้รับการวางแผนอย่างรอบคอบ จากการใช้ซ้ำ และหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด



ฮิลล์คอฟฟ์ มองว่าการดื่มกาแฟ เป็นการสร้างคอมมูนิตี้ ที่รวมเอาคอกาแฟมาคุยในเรื่องเดียวกัน เมนสตรีมที่ผ่านมา ตลาดกาแฟจะขายกันที่ความ Specialty คือกาแฟที่พิเศษ วัดกันตั้งแต่เมล็ดกาแฟจนถึง Process ปีที่มีการออกผลิตภัณฑ์ Specialty Coffee Ester Process เป็นที่แรกในประเทศไทย

นอกจากเรื่องรสชาติ สิ่งหนึ่งที่รับประกันกับลูกค้าได้ คือความปลอดภัย มี ISO 22000 ซึ่งเป็นระบบการจัดการความปลอดภัยเกี่ยวข้องกับอาหาร ไม่ว่าลูกค้าจะซื้อกาแฟ 1 ถุง หรือหลักสิบตัน คุณก็ได้มาตรฐานเดียวกัน 

ดังนั้น การสร้างกาแฟต้องมีมูลค่ามากกว่าน้ำสีดำ ฮิลล์คอฟฟ์จึงทำวิจัยทุกส่วนของกาแฟ จนได้รางวัลระดับนานาชาติ ทั้งยังได้รางวัลเหรียญทองด้านงานวิจัยกาแฟให้มีความหลากหลาย เช่น อาหารที่มีสารต้านอิสระแอนไทน์ออกซิแดนท์สูง

นอกจากนั้นยังเป็นเครื่องดื่มให้แคลเซียมที่มีความหอมและอร่อยอีกด้วย ทั้งหมดเริ่มต้นจากกาแฟ ด้วยความเชื่อว่ากาแฟเป็น Super Food ได้ เป็น Balsamic vinegar, Cyder of Coffee เหมือนที่เรานิยมบริโภคเครื่องดื่มแบบคอมบูชาอยู่แล้ว กาแฟมีประโยชน์ไม่ต่างกัน 



เป้าหมายสำคัญ คือเป็นโรงคั่วที่เชื่อมธุรกิจเข้ากับเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นธุรกิจต้นน้ำ ‘ปลอดการทำลายป่า’ ตามที่รัฐสภายุโรปมีมติเห็นชอบกฎหมายห้ามนำสินค้าตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free products) ซึ่งครอบคลุมถึงสินค้าเกษตร อย่างกาแฟด้วย ทำให้อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SME ไทยที่ทำธุรกิจส่งออกกาแฟ

เนื่องจากต้องแสดงหลักฐานการตรวจสอบสถานะผลิตภัณฑ์ (Due Diligence) ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายป่า ประเด็นนี้แม้ว่าเขาไม่ได้ทำธุรกิจส่งออกเป็นหลัก แต่ก็ใส่ใจเรื่องนี้อย่างมาก เพราะผู้บริโภคยุคใหม่ตื่นตัวและให้ความสำคัญกับสินค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมไม่แพ้กัน


ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า ฮิลล์คอฟฟ์ ตอบโจทย์เป้าหมายแผยุทธ์ศาสตร์กาแฟได้อย่างตรงเป้า อันจะส่งผลให้ธุรกิจสามารถส่งออกได้อย่างราบรื่นและขยายการส่งออกได้อย่างมีศักยภาพ

ขณะที่ สมาคมกาแฟพิเศษไทย (Specialty Coffee Association of Thailand) หรือ SCATH ได้ส่งเสริมและผลักดันธุรกิจกาแฟไทยให้เติบโตในตลาดกาแฟ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ พร้อมยังสนับสนุนผู้อยู่ในซัพพลายเชนธุรกิจกาแฟตั้งแต่ เกษตรผู้ปลูก ผู้แปรรูป โรงคั่วกาแฟ เพื่อให้วงการกาแฟไทยเติบโตไปอย่างยั่งยืน 

ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนในการผลักดันและสนับสนุน ทั้งการพัฒนาการผลิตในทุกกระบวนการ การเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิต รวมถึงพัฒนาด้านการตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งรักษาสิ่งแวดล้อม

หากมีการร่วมมือกันพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในกลุ่มอาเซียนที่จะสามารถก้าวขึ้นเป็นแหล่งผลิตกาแฟชั้นนำของโลกได้อย่างแน่นอน


อ้างอิง
กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
https://www.dft.go.th/th-th/NewsList/News-DFT/Description-News-DFT/ArticleId/26633/26633

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
https://www.dtn.go.th/th/content/category/detail/id/22/iid/11685
https://api.dtn.go.th/files/v3/6253f844ef4140eb2c3b124e/download
https://brandinside.asia/specialty-coffee-in-thailand/
https://coffeepressthailand.com/2020/08/07/specialty-coffee/

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Personal Branding สําหรับเจ้าของธุรกิจ SME: ทําอย่างไรให้คุณเป็นที่จดจําในวงการธุรกิจ

Personal Branding สําหรับเจ้าของธุรกิจ SME: ทําอย่างไรให้คุณเป็นที่จดจําในวงการธุรกิจ

กระแสการเติบโตของอินฟลูเอนเซอร์และสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้แนวคิดเรื่อง Personal Branding ถูกนำมาพูดถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง เพราะในวันนี้ที่โลกมีคนเก่งเกิดขึ้นมากมาย…
pin
5 | 17/04/2025
สาย SME ต้องรู้ไว้! AI คืออะไร ทำงานอย่างไร พร้อมตัวอย่าง AI สำหรับใช้ปั้นธุรกิจให้โต

สาย SME ต้องรู้ไว้! AI คืออะไร ทำงานอย่างไร พร้อมตัวอย่าง AI สำหรับใช้ปั้นธุรกิจให้โต

แนวโน้มการใช้ AI และประโยชน์ต่อการเติบโตของ SMEในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้เข้ามาสร้างผลกระทบอย่างมหาศาลต่อธุรกิจ…
pin
5 | 16/04/2025
ทรัมป์ขึ้นภาษี 37% กระทบอะไรบ้าง และ SME ไทยต้องปรับตัวยังไง?

ทรัมป์ขึ้นภาษี 37% กระทบอะไรบ้าง และ SME ไทยต้องปรับตัวยังไง?

Topic Summary: นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ สร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ต่อการค้าโลก มาดูกันว่าเหตุการณ์นี้กระทบ…
pin
7 | 11/04/2025
‘Thai Specialty Coffee’ ยกระดับรสชาติกาแฟยูนีคเจาะตลาด AEC