แม้คุณจะเป็นคนสู้งาน แต่งานดันสู้กลับ! รับมืออย่างไร? เมื่องานชวนเครียดเกินไป
‘เป็นคนสู้งาน แต่งานดันสู้กลับ’ ข้อความไวรัลที่กำลังเป็นกระแสในโซเชียลมีเดีย เมื่อนึกย้อนไปถึงวันแรกที่สมัครงาน แน่นอนว่าทุกคนอาจเขียนในเรซูเม่ว่าเป็นคนที่อดทนและพร้อมรับมือกับความกดดันได้ แต่พอได้ลงสนามทำงานจริงๆ การอดทนและการต้องรับมือกับความกดดันต่างๆ กลับเป็นเรื่องยากกว่าที่คิด หรืออาจจะเป็นดั่งข้อความที่ว่า เพราะงานสู้กลับจริงๆ เพราะในการทำงานนั้น จะต้องเจอกับปัญหาที่ไม่คาดคิดได้เสมอ
อีกทั้งในโลกที่เร่งรีบ ความเครียดจากการทำงาน ได้กลายเป็นชีวิตประจำวันไปแล้ว เพราะความเครียดสามารถส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ และยังส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงานของบริษัท วัฒนธรรมการทำงาน และคุณภาพงานโดยรวม ดังนั้นการเรียนรู้วิธีรับมือกับความเครียด จึงเป็นทักษะที่จำเป็น

สาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดจากการทำงาน
ความเครียดเป็นสภาวะอารมณ์ของคนที่ต้องเจอกับปัญหาต่างๆ เกิดความไม่สบายใจ วิตกกังวล รู้สึกกดดัน ซึ่งหลายคนมักเครียดโดยที่ไม่รู้ตัว เพราะคนเรามักจะแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเครียดไม่เหมือนกัน บางคนหงุดหงิดง่าย บางคนป่วยง่าย บางคนนอนไม่หลับ ซึ่งความเครียดจากการทำงานเกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยหลายๆ อย่างในที่ทำงาน จนทำให้รู้สึกกดดัน
โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียดจากการทำงานมีหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการที่ไม่สามารถรับมือกับความต้องการและความคาดหวังได้ การที่ทำงานเป็นระยะเวลานาน มีปริมาณงานที่มาก ไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ งานไม่มั่นคง ทรัพยากรไม่เพียงพอ เงินเดือนน้อย เกิดความขัดแข้งกับเพื่อนร่วมงานหรือผู้บังคับบัญชา ขาดการสนับสนุนและวัฒนธรรมการทำงานที่ไม่ดี รวมไปถึงเกิดจากสาเหตุอาการบาดเจ็บ และปัญหาส่วนตัว ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบทำให้เกิดความเครียดในการทำงาน

7 วิธีรับมือกับความเครียด เมื่อเป็นคนสู้งาน แต่งานดันสู้กลับ
1. ควรจัดลำดับความสำคัญของงานตามความเร่งด่วน หากงานใดที่สร้างความกังวลมากควรรีบทำให้เสร็จก่อน ความกังวลจะได้ลดลง แต่หากจัดลำดับความสำคัญแล้วแต่งานยังมากเกินกำลัง อาจจะต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น เช่น มีการปรึกษาหารือกับเพื่อนร่วมงาน และหากงานมากเกินกำลัง หรือทำงานไม่ทันเวลา ควรบอกข้อจำกัดเรื่องสมรรถนะหรือจำนวนคนว่าทำได้แค่ไหน ควรมีขอบเขตของงานที่ต่อรองกันไว้ จะช่วยลดความเครียดลงได้
2. งานบางอย่างเป็นงานที่ต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นหากมีความเครียด อาจจะทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน และผลงานที่ได้ไม่น่าพึงพอใจ ดังนั้นจึงควรควรแบ่งงานเป็นชิ้นย่อยๆ ค่อยๆ ทำให้เสร็จทีละขั้นตอนทีละเรื่องจะดีกว่าการทำงานใหญ่ไปเรื่อยๆ โดยไม่แบ่งเป็นขั้นตอน
3.หากเกิดปัญหาอุปสรรคในการทำงาน อย่าปล่อยให้สถานการณ์พาไปและคิดทางลบ เพราะจะหมดพลังงานไปกับความคิดที่ไม่ดี ทำให้ท้อแท้ อ่อนแรง การมองในส่วนที่ดีที่มีอยู่ทั้งผู้ร่วมงานและมองส่วนสำเร็จของงานที่เกิดขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ก็ถือว่ามีส่วนช่วยให้มีกำลังใจเพื่อที่จะสู้กลับงานได้บ้าง
4. ควรตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและเป็นไปได้ในแต่ละวัน จะทำให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ และเมื่อเริ่มทำงานควรทำต่อจนจบ อย่าทำทิ้งค้างไว้ เพราะงานที่ค้างจะเพิ่มขึ้น ความกังวลก็เพิ่มขึ้นไปด้วย และพยายามจัดโต๊ะและของในการทำงานให้เป็นระเบียบสะอาดหาง่าย จะทำให้รู้สึกทำงานด้วยความสบายใจ

5. หลีกเลี่ยงการมีความขัดแย้งกับคนอื่น หรือเพิ่มความไม่พอใจกับเรื่องที่แก้ไขไม่ได้ เช่น บุคลิกภาพของคน และควรสร้างมิตรภาพให้มากขึ้น รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และลงมือช่วยเหลือกันจะช่วยให้การอยู่ร่วมกันราบรื่นมากขึ้น
6. ลดความสมบูรณ์แบบลงไปบ้างเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงานให้มากขึ้น เนื่องจากความสมบูรณ์แบบเพิ่มความเครียดได้เสมอ
7. สังเกตว่าวิธีใดที่ตัวเองใช้ลดความเครียดจากการทำงานได้ดี ซึ่งแต่ละคนแตกต่างกัน เช่น บางคนอาจจะหามุมสงบนั่งทำใจคนเดียว บางคนชอบเปลี่ยนไปพูดเรื่องอื่น บางคนร้องเพลง และควรมองเรื่องต่างๆ ในแง่ขำขันบ้าง หรืออยู่ใกล้คนที่มีอารมณ์ขัน คนที่ไม่คิดอะไรมาก ซึ่งจะช่วยทำให้ชีวิตผ่อนคลายไม่เคร่งเครียด นอกจากนี้ควรมีเพื่อนหรือที่ปรึกษาเพื่อปรึกษาเรื่องการทำงาน หรือเป็นที่พึ่งทางใจ ก็จะช่วยผ่อนคลายความเครียดได้มาก

แม้ความเป็นจริงคือการรับมือกับงานนั้นยากกว่าที่คิด ยิ่งโดยเฉพาะโปรเจกต์ใหญ่ๆ ที่มีความสำคัญมากหรือใช้ระยะเวลานาน พร้อมทั้งปัญหาที่เข้ามาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และถึงแม้ตอนแรกอาจจะรับมือได้ดี แต่เมื่อเวลาผ่านไป พลังกายและใจของเราเริ่มลดลง ประกอบกับปัญหาชีวิตส่วนตัวและครอบครัวที่อาจจะต้องเผชิญ แต่หากทำตาม 7 วิธีคำแนะนำในบทความนี้ เชื่อว่าจะช่วยบรรเทาความเครียด พร้อมสู้กลับงานไปได้ด้วยดีอย่างแน่นอน
แหล่งอ้างอิง :