'กรีนโลจิสติกส์' ช่วยก้าวข้ามการกีดกันทางการค้าได้อย่างไร? ทำไมผู้ประกอบการจึงไม่ควรมองข้าม

SME Update
16/06/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 4845 คน
'กรีนโลจิสติกส์' ช่วยก้าวข้ามการกีดกันทางการค้าได้อย่างไร? ทำไมผู้ประกอบการจึงไม่ควรมองข้าม
banner
ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ผ่านมาสรุปไว้ล่าสุดเมื่อปี 2559 พบว่าปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้พลังงานในภาคธุรกิจสูงสุดมีทั้งหมด 4 สาขา ประกอบด้วย..


จะเห็นได้ว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมทางธุรกิจดังกล่าว ล้วนก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมอย่างเลี่ยงไม่ได้ แม้หลายคนอาจมองว่าเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมจะมาจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว แต่แท้จริงแล้วทุกคนย่อมมีส่วนในการสร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม เพราะเมื่อจำนวนประชากรโลกมีเพิ่มขึ้น ก็ย่อมทำให้ความต้องการในการใช้ทรัพยากรเพิ่มตามไปด้วยเช่นเดียวกัน

ขณะเดียวกัน ทุกธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้นั้นจำเป็นอย่างมากที่จะต้องพึ่งพาระบบโลจิสติกส์ ซึ่งย่อมมีการดำเนินงานที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น มลภาวะในอากาศที่เกิดจากการขนส่ง, การใช้พลังงานในกระบวนการผลิต และการใช้วัสดุด้านบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งแนวคิดกรีนโลจิสติกส์ ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการบรรเทาและแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ดีขึ้น ทั้งยังเป็นกระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ภาคธุรกิจทั้งในแง่การลดต้นทุนการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่ม การประหยัดพลังงาน และการรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเรามักพบว่าการบริหารด้านโลจิสติกส์ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นเฉพาะการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยไม่ได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม แต่ในความเป็นจริงแล้วการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์นั้นสามารถนำไปสู่การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งปัจจุบัน ‘กรีนโลจิสติกส์ (Green Logistic)’ เป็นแนวคิดที่อารยประเทศได้ให้ความสนใจ



กรีนโลจิสติกส์ คืออะไร?

แน่นอนว่า ในงานโลจิสติกส์ จะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิง โดยยานยนต์ขนส่งและการใช้ระบบการขนส่งในรูปแบบต่างๆ ดังนั้นแนวคิด กรีนโลจิสติกส์ จึงเป็นความพยายามในการเคลื่อนย้าย จัดเก็บหรือขนส่งวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ หรือจากผลิตภัณฑ์โดยมีต้นทุนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด

ขณะเดียวกัน ยังต้องลดการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ และการปล่อยมลพิษน้อยที่สุด ซึ่งแนวคิดนี้ได้เริ่มมีบทบาทต่อกระบวนการผลิต การค้าขาย การขนส่ง และการส่งมอบสินค้า โดยยังคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องมีกลยุทธ์หรือออกแบบผลิตภัณฑ์เละบรรจุภัณฑ์เพื่อให้เหมาะสมต่อการเคลื่อนย้าย การขนส่ง และการจัดเก็บ รวมทั้งต้องเลือกรูปแบบการเคลื่อนย้ายหรือขนส่งที่เหมาะสม ลดการบรรทุกที่ไม่เต็มพาหนะและการวิ่งเที่ยวเปล่า ตลอดจนจัดสินค้าขึ้นรถและใช้เส้นทางในการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยลดต้นทุนรวมของการขนส่ง

อย่างไรก็ตาม แม้แนวคิดนี้จะเป็นกระแสที่ทั่วโลกให้ความสนใจ แต่ในประเทศไทยเองยังให้ความสำคัญน้อยมากหากเทียบกับต่างประเทศ ซึ่งแนวทางสำคัญในการนำแนวคิดกรีนโลจิสติกส์มาใช้ให้ประสบความสำเร็จ คือต้องผนึกกำลังกันทั้งภาครัฐและเอกชน โดยภาครัฐอาจต้องมีบทบาทสำคัญในการออกมาตรการรองรับพร้อมสนับสนุนความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ภาคเอกชนเองก็ต้องสร้างจิตสำนึก เพื่อให้เกิดการดำเนินงานภายใต้แนวคิดกรีนโลจิสติกส์ที่ครบวงจรและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง



จากเทรนด์ CSR มาสู่แนวคิดกรีนโลจิสติกส์

ด้วยภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดการตื่นตัวในเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ภาคธุรกิจจึงได้ตระหนักถึงการดูแลและรักษาสภาพแวดล้อม พร้อมกับหาวิธีบรรเทาสิ่งที่เป็นปัญหาวิกฤตอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแนวทำให้คิดนี้ปรากฏออกมาในรูปของการรณรงค์เพื่อสร้างสรรค์สังคมในลักษณะต่างๆ เช่น การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) และนำมาสู่แนวคิดการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน(Sustainability)

ทั้งนี้ จากอานิสงส์การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ทำให้ภาคธุรกิจต่างๆ จึงได้หันมาให้ความสำคัญเรื่องกรีนโลจิสติกส์ด้วย ผ่านการบริหารจัดการโลจิสติกส์ในมิติที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในทุกกิจกรรมการดำเนินงาน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำซึ่งผู้เชี่ยวชาญในวงการโลจิสติกส์ต่างให้ความเห็นว่า ในอนาคตกระแสในเรื่องนี้จะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นและส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วนในระบบห่วงโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่อง



ปัจจัยที่ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับกรีนโลจิสติกส์

1. รัฐบาลได้มีการทำข้อตกลงทางการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศในหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งผลของการลงนามนั้นได้ก่อให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น และทำให้บริษัทอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับกติกาการค้าใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ISO 26000 ซึ่งเป็นมาตรฐานว่าด้วยการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งได้มีการเริ่มต้นใช้ในปี 2553 เป็นต้นมา

2. กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ในเรื่องของข้อจำกัดขอ งน้ำหนักสินค้าที่สามารถบรรทุกหรือบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ รวมทั้งให้ความสำคัญต่ออุบัติภัยที่เกิดขึ้นที่มีผลกระทบต่อสังคมและการทำงานของบุคคลที่เกี่ยวข้องในระบบโลจิสติกส์

3. จากผลการประชุมสุดยอดระดับโลกด้านสิ่งแวดล้อม ที่เรียกร้องให้ธุรกิจทั่วโลกแสดงความเป็นพลเมืองที่ดีในการดำเนินธุรกิจที่จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อน ปฏิกิริยาภาวะเรือนกระจก รวมทั้งมลพิษทางอากาศอันเนื่องมาจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

4. องค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและพัฒนาของกลุ่มประเทศ OECD ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งยอมรับเศรษฐกิจการค้าเสรีในการร่วมกันและพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคยุโรปและโลก ได้ออกแนวปฏิบัติสำหรับบริษัทข้ามชาติ โดยเสนอให้กลุ่มประเทศสมาชิกต้องมีการทำ CSR และติดต่อค้าขายเฉพาะกับผู้ที่ทำ CSR เท่านั้น



ผู้บริโภคมีส่วนสำคัญและร่วมผลักดันแนวคิดนี้

เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคเองที่มีจิตสำนึกในการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงถือว่ามีส่วนในการสร้างแรงผลักดันให้กับภาคธุรกิจ ส่งผลให้แนวคิดเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม และเป็นแรงผลักดันให้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งแนวคิดเรื่องความตระหนักและรับผิดชอบต่อสังคม ได้ถูกกล่าวถึงและนำมาใช้มากขึ้นในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโลจิสติกส์

โดยปัจจุบันประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้มีข้อจำกัดทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับกรีนโลจิสติกส์ ส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกพยายามที่จะปรับตัว เพื่อลดผลกระทบต้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินงาน เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดทางการค้าที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม แต่สามารถตอบสนองเทรนด์การใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เกิดความตระหนักและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นเดียวกัน



กรณีศึกษาเกี่ยวกับกรีนโลจิสติกส์

ในประเทศญี่ปุ่นได้เริ่มดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับกรีนโลจิสติกส์อย่างจริงจังเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยมีนโยบายให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคครัวเรือน และภาคขนส่ง มีส่วนร่วมในการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเฉพาะการดำเนินการในภาคขนส่งที่มีองค์กรด้านโลจิสติกส์ของภาครัฐ และบริษัทภาคเอกชนหลายพันรายผนึกกำลังร่วมกันพัฒนา

เช่น หลายบริษัทได้นำหลักเกณฑ์การขับรถอย่างถูกต้องปลอดภัย และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมมาใช้ฝึกอบรมคนขับรถขนส่งให้ปฏิบัติตาม พบว่าบริษัทสามารถประหยัดน้ำมันได้ 16% ขณะที่การขับรถตามวิธีที่ถูกต้องช่วยลดอุบัติเหตุได้ 27% ช่วยลดต้นทุนภาพรวมในการทำ Ecodriving ได้ 10-20% และสามารถเจรจากับบริษัทประกันภัยขอลดอัตราการจ่ายเบี้ยประกันได้ในราคาถูกลง เป็นต้น

การมุ่งสู่แนวทางกรีนโลจิสติกส์ นับเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องยกระดับเพื่อพัฒนาความสามารถในการบริหารกิจกรรมหรือการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ เพื่อสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันทั้งในปัจจุบันและอนาคต ที่จะมีความเข้มข้นขึ้นด้วยมาตรการการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่างๆ ซึ่งผู้ประกอบการควรบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้สอดคล้องกับกติกาใหม่ที่ล้อไปกับกระแสสิ่งแวดล้อมของโลก ทั้งยัง สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ขององค์กรให้ดียิ่งขึ้นได้อีกด้วย

แหล่งอ้างอิง :
วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น : โดย อ.พิชัย เหลี่ยวเรืองรัตน์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 
https://www.thaiscience.info/Journals/Article/KMIT/10970423.pdf
สถาบันวิจัยมหาวิทยาลัยกำแพงเพชร
https://research.kpru.ac.th/research2/pages/filere/28932018-05-15.pdf
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย
http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=7&ID=210

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

รักษามาตรฐานรสชาติให้คงที่ด้วย Food Ingredients ตัวช่วยสำคัญของธุรกิจร้านอาหาร

รักษามาตรฐานรสชาติให้คงที่ด้วย Food Ingredients ตัวช่วยสำคัญของธุรกิจร้านอาหาร

ประโยชน์ของ Food Ingredients ตัวช่วยรักษามาตรฐานรสชาติให้คงที่ในทุกจาน.เพราะมาตรฐานรสชาติคือหัวใจของธุรกิจร้านอาหาร ไม่ว่าจะมีสาขากี่แห่ง…
pin
1 | 02/04/2025
เคล็ดลับการเพิ่ม Engagement บน IG ฉบับปี 2025

เคล็ดลับการเพิ่ม Engagement บน IG ฉบับปี 2025

ในยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การทำการตลาดบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Instagram ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจ SME เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่…
pin
3 | 31/03/2025
5 เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคสำคัญในปี 2025

5 เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคสำคัญในปี 2025

5 เทรนด์ผู้บริโภคโลก ปี 2025 โดย Euromonitorล่าสุด ผลสำรวจจาก Euromonitor International ได้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค…
pin
10 | 17/03/2025
'กรีนโลจิสติกส์' ช่วยก้าวข้ามการกีดกันทางการค้าได้อย่างไร? ทำไมผู้ประกอบการจึงไม่ควรมองข้าม