บริษัทอยู่ได้ พนักงานแฮปปี้! ‘Flexible Rightsizing’ เทคนิคลดค่าใช้จ่ายองค์กรอย่างยั่งยืน แบบไม่ต้องปลดคนออก
เมื่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลายๆ องค์กรอาจใช้สูตรยอดนิยมคือ การรัดเข็มขัดตัดส่วนเกินโดยการ ‘Downsizing’ เพื่อลดขนาดธุรกิจให้เหลือเฉพาะในส่วนที่สร้างรายได้และผลกำไรอย่างแท้จริงเท่านั้น กำลังคนที่ ‘ล้น’ จึงเป็นส่วนเกินที่ต้องถูก ‘ตัดออก’ เพราะ ‘คน’ คือ ค่าใช้จ่ายที่มากที่สุดขององค์กร
‘ลดพนักงาน’ ช่วยกระชับค่าใช้จ่ายได้จริงหรือ?
สมาคมบริหารทรัพยากรมนุษย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา (SHRM) ได้ทำการสำรวจพบว่า มีเพียง 32% ของกลุ่มตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การปลดพนักงานออกสามารถลดค่าใช้จ่ายของบริษัทได้จริง แต่วิธีการนี้อาจไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด เพราะนอกจากบริษัทจะต้องเสียค่าชดเชยการออกจากงานแล้ว ยังเสี่ยงต่อการสูญเสียพนักงานที่มีความสามารถ
ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญสำหรับสร้างผลกำไรและการเจริญเติบโตของบริษัทในระยะยาว เมื่อวันใดที่เศรษฐกิจฟื้นตัวบริษัทต้องเสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลาอีกมากไปกับการต้องสรรหาและฝึกอบรมพนักงานใหม่ เพียงเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพเท่าเดิม ดังนั้น ‘การปลดคนออก’ จึงไม่ใช่คำตอบเดียวของการแก้ปัญหา

‘Flexible Rightsizing’ หนึ่งในตัวเลือกก่อน ‘Downsizing’
อีกหนึ่งทางเลือกในการปรับลดขนาดองค์กร คือแนวคิดที่เรียกว่า “Flexible Rightsizing” เป็นแนวคิดในการปรับขนาดองค์กรที่มีความยืดหยุ่นกว่าการ “Downsizing” คือ เน้นไปที่ ‘มาตรการบริหารจัดการกับวิธีการทำงาน’ เพื่อจัดการเรื่องกำลังคน เพื่อหลีกเลี่ยงการ ‘ปลดพนักงาน’ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ซึ่งสามารถเลือกได้หลากหลายวิธี ซึ่งองค์กรสามารถเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีพร้อมๆ กันก็ได้ เริ่มตั้งแต่..
1. การให้พนักงานหยุดงานโดยไม่รับค่าจ้าง แต่ไม่ไล่ออก
2. การลดเงินเดือนตามชั่วโมงการทำงานที่ลดลง การสับเปลี่ยนวันทำงานในแต่ละสัปดาห์
3. การแบ่งงานกันทำโดยยอมรับค่าจ้างน้อยลงแทนการปลดออก
4. การเลือกพนักงานที่มีอยู่มาทำงานทดแทนตำแหน่งงานที่ว่างแทนการจ้างพนักงานใหม่
5. การให้พนักงานทำงานที่บ้านเพื่อลดค่าใช้จ่าย
6. การปรับลดเงินเดือนในบางหน่วยงานหรือทั้งหมด
7. การจัดโปรแกรมเกษียณอายุโดยสมัครใจ

ข้อดีของ Flexible Rightsizing คืออะไร
การทำ Flexible Rightsizing ทำให้บริษัทไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในเรื่องเงินชดเชย ไม่ต้องเสียพนักงานที่มีความสามารถและยังคงประสิทธิภาพการทำงานไว้ได้ ทำให้ทั้งบริษัทและพนักงานได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (Win-Win Situation) กล่าวคือ บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายในการเช่าสำนักงาน ค่าไฟฟ้า และสาธารณูปโภคอื่นๆ ได้อย่างชัดเจน
ในขณะเดียวกันพนักงานก็สามารถบริหารชีวิตส่วนตัวให้ยืดหยุ่นได้มากขึ้น ผลที่ได้อีกอย่าง คือ ในขณะที่พนักงานที่ทำงานอยู่ที่บ้านก็สามารถลดค่าใช้จ่ายและลดเวลาในการเดินทางมาทำงานได้ไม่น้อย ทำให้มีเวลาทำงานมากขึ้นอาจมีประสิทธิภาพการทำงานดีกว่าการทำงานในสำนักงานก็เป็นได้

‘การประเมินอัตรากำลัง’ เครื่องมือสำคัญเพื่อการบริหารจัดการคนแบบ ‘Rightsizing’
การประเมินอัตรากำลัง หรือ Manpower Audit เป็นหนึ่งในกระบวนการวางแผน วิเคราะห์กำลังคนและพัฒนากำลังคน และส่งเป็นข้อมูลผลลัพธ์ไปให้องค์กรใช้วางแผนพัฒนาบุคลากรได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น ว่าจะทำอย่างไรให้กำลังของบุคลากรที่มีอยู่ สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยเปลี่ยนมุมมองที่มองพนักงาน มีการปรับนำเอาความรู้ ความชำนาญที่มีของพนักงานมาปรับปรุงประสิทธิภาพการทำธุรกิจ และกรณีที่มีการควบรวมกิจการ หรือบริษัทได้มีการเปลี่ยนไปสู่ธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ต้องมีการ Re Skill หรือUp Skill พนักงานเพื่อให้เหมาะสมกับธุรกิจ

สำหรับพนักงานที่เป็นแรงงานส่วนเกิน จะมีการบริหารจัดการแบบ Flexible Rightsizing จะส่งผลให้เกิดความร่วมมือและถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความผูกพันในองค์กร ตลอดจนสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้องค์กรปรับเปลี่ยนได้เท่าทันกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้จะทำให้เจ้าของกิจการกับพนักงานมีความสุขในการทำงานด้วยกันทั้งคู่ ส่งผลให้ทั้งองค์กรและบุคลากรมีความแข็งแกร่งและมีความยั่งยืน (Sustainability) ต่อไปในอนาคต
ที่มา
http://www.csrgroup.co.th/hr-tips/voice-of-hr-article-th/flexible-rightsizing/
https://www.ftpi.or.th/2016/12065