สำเร็จที่แรกในไทย! นักวิจัยจุฬาฯ พัฒนาวิธีปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ รักษาสัตว์เลี้ยงเป็นเบาหวาน อีกหนึ่งทางเลือกรักษาโรคของคนในอนาคต
Stem Cell (สเต็มเซลล์) หรือที่เรียกว่าเซลล์ต้นกำเนิด คือ เซลล์ชนิดพิเศษพบได้ทุกช่วงเวลาของการเจริญเติบโตในสิ่งมีชีวิต สามารถแบ่งตัวได้อย่างไม่จำกัดและสามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงได้เกือบทุกชนิดในร่างกาย เช่น เซลล์ผิวหนัง, เซลล์สมอง, เซลล์หัวใจ, เซลล์กล้ามเนื้อ และเซลล์เม็ดเลือด

สเต็มเซลล์ มีคุณสมบัติเด่นที่เป็นปัจจัยให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกให้ความสนใจเซลล์ชนิดนี้กันมาก เนื่องจากเป็นเซลล์ที่ไม่ได้ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจง แต่สามารถเปลี่ยนไปเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงได้ และสเต็มเซลล์เป็นเซลล์ที่มีความสามารถแบ่งตัวเองขึ้นมาใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่าเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ชนิดต่างๆ เพื่อทดแทนเซลล์ที่เสื่อมสภาพในร่างกาย
โดยลักษณะของที่มาสเต็มเซลล์ อาจจะมาได้จากหลายแหล่งไม่ว่าจะเป็นสเต็มเซลล์จากตัวอ่อน สเต็มเซลล์จากร่างกาย หรือสเต็มเซลล์ที่ได้มาจากการสร้างเซลล์ให้เข้าคู่กับสารพันธุกรรมของคนไข้ได้ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการปฏิสนธิ

ขณะที่ ‘เบาหวาน’ ภาษาทางการแพทย์เรียกว่า ‘Diabetes Melitus’ เป็นโรคที่มีความผิดปกติของการนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงาน (Glucose Utilization) ซึ่งจริงๆ แล้วสามารถแบ่งแยกย่อยได้หลายชนิด ทางการแพทย์มี 5 - 6 ชนิด แต่ที่รู้จักกันมี 2 ชนิด คือ
1. DM type I
2. DM type II

ความแตกต่างระหว่างเบาหวาน 2 ชนิด
DM type I เบาหวานชนิดที่หนึ่ง เป็นความผิดปกติของการสร้างฮอร์โมนที่เรียกว่า อินซูลิน (Insulin) คือไม่สามารถสร้างได้ เนื่องจากเซลล์ที่อยู่ในตับอ่อนหรือ Beta cell ถูกทำลาย ฉะนั้นการรักษาในทางการแพทย์ตะวันตก เนื่องจากไม่มีอินซูลิน จึงต้องใช้อินซูลินฉีดเข้าไปเพื่อทดแทน
DM type II เบาหวานชนิดที่สอง พบมากกว่าและปัญหาทางด้านสาธารณสุข เนื่องจากมีความผิดปกติทางร่างกายที่ทำให้มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน พูดง่ายๆ ก็คือ ร่างกายยังผลิตอินซูลินได้บ้าง แต่ว่าอินซูลินที่ผลิตออกมานั้นร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่อฤทธิ์ของมันได้ ฉะนั้นการรักษาเบาหวานประเภทนี้ใช้ได้ 2 แบบ คือ
1. ใช้ในการฉีดอินซูลินเข้าไปทดแทน ในกรณีที่อินซูลินแทบจะทำงานไม่ได้
2. ใช้การกินยาเข้าไป ซึ่งการกินยามีหลายชนิด เพื่อไปกระตุ้นให้อินซูลินทำงานได้ดีขึ้น ลดภาวะการดื้อต่ออินซูลิน หรือเพิ่มการหลั่งอินซูลินจากเบตาเซลล์

ผศ. นสพ. ดร.เจนภพ สว่างเมฆ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
ที่แรกในเมืองไทย! การปลูกถ่าย ‘สเต็มเซลล์’ รักษาเบาหวานในสัตว์เลี้ยง
เบาหวานนอกจากเกิดกับมนุษย์แล้ว ยังสามารถเกิดกับสัตว์เลี้ยงได้เช่นเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันตรวจพบโรคเบาหวานในสุนัขและแมวประมาณ 5 - 10% ประกอบการรักษาด้วยการฉีดอินซูลินให้ผลลัพธ์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้ทีมวิจัยคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงร่วมกับบริษัท ไบโอ อิงค์ จำกัด (Bio ink Co., Ltd.) และบริษัทสปินออฟ (spin-off) ของจุฬาฯ พัฒนาวิธีการสร้างเซลล์ตับอ่อนของสุนัขจากสเต็มเซลล์ และเทคโนโลยีการปลูกถ่ายเซลล์สำเร็จเป็นแห่งแรกในประเทศ มุ่งทดสอบในสัตว์ทดลองและสัตว์ป่วย เพื่อใช้ในการรักษาสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานต่อไป
โดย ผศ. นสพ. ดร.เจนภพ สว่างเมฆ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ co-founder ของบริษัท ไบโอ อิงค์ จำกัด กล่าวว่า โรคเบาหวานในคนและสัตว์เลี้ยงมีความใกล้เคียงกันในระดับหนึ่ง แต่องค์ความรู้ในการรักษาเบาหวานในสัตว์และในคนยังห่างไกลกันมาก ปัจจุบันการรักษาโรคเบาหวานในคนมีแนวโน้มที่จะใช้สเต็มเซลล์และเทคโนโลยีขั้นสูง เราจึงพยายามนำเทคโนโลยีนี้มาพัฒนาการรักษาในสัตว์ด้วย
เนื่องจากเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง รักษาไม่หาย หากมีภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากตัวโรคก็สามารถทำให้สัตว์เลี้ยงเสียชีวิตได้ หรือหากไม่สามารถคุมน้ำตาลได้ ในระยะยาวก็จะส่งผลให้เกิดความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย สร้างความทุกข์ทรมานให้กับสัตว์เลี้ยงและเจ้าของ รวมถึงเป็นภาระด้านค่าใช้จ่ายให้เจ้าของสัตว์เลี้ยง

เบาหวานในสัตว์เลี้ยง รักษาด้วยนวัตกรรม ‘สเต็มเซลล์’
สำหรับการวิจัยครั้งนี้ อาจารย์สัตวแพทย์หญิง ดร.ศิริรัตน์ นันวิสัย และ ดร.วัชรีวรรณ รอดประเสริฐ co-founder บริษัท ไบโอ อิงค์ จำกัด เผยว่า เน้นการศึกษาเพื่อรักษาเบาหวานชนิดที่ 1 ที่เกิดขึ้นในสุนัข เป็นลำดับแรก เนื่องจากพบว่ากระบวนการรักษาโรคเบาหวานในปัจจุบันที่ใช้การฉีดอินซูลินให้สุนัขยังให้ผลการรักษาไม่ดีนัก
โดยในการวิจัย ได้มีการทดลองสร้างเซลล์ตับอ่อนของสุนัข หรืออาจเรียกว่า เซลล์สังเคราะห์อินซูลิน (Insulin-Producing Cells, IPCs) ซึ่งเป็นเซลล์ตับอ่อนที่เหนี่ยวนำมาจากสเต็มเซลล์ชนิดมีเซนไคม์ของสุนัข (Canine Mesenchymal Stem Cells, cMSCs) พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกถ่าย เพื่อใช้ในการทดแทนเซลล์ตับอ่อนที่เสียหายหรือถูกทำลายไป โดยเซลล์ที่ผลิตได้นี้ มีความสามารถในการสร้างและหลั่งอินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งวิธีดังกล่าวจะใช้ควบคู่กับเทคโนโลยีการปลูกถ่ายเซลล์ที่พัฒนาขึ้นโดยใช้เทคโนโลยี Double Encapsulation ทำให้เซลล์แข็งแรง ป้องกันเซลล์จากความเสื่อมและเสียหาย รวมทั้งการต่อต้านจากระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย
ด้วยความที่โรคเบาหวานเป็นที่โรคที่รักษาไม่หายขาด องค์ความรู้ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาทำให้ทราบว่าสเต็มเซลล์สามารถทดแทนเซลล์อื่นในร่างกายได้ จึงนำความรู้ที่มีอยู่มาสร้างเซลล์จำเพาะด้วยกระบวนการเหนี่ยวนำในห้องทดลอง ร่วมกับเทคโนโลยีการปลูกถ่ายเซลล์ โดยมุ่งทดสอบในสัตว์ทดลองและสัตว์ป่วยในระยะต่อไป ซึ่งทีมมีความมุ่งหมายในการรักษาโรคเบาหวานให้หายขาด ลดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการรักษาให้น้อยลง

Stem Cell อีกหนึ่งความหวังการรักษาโรคในสัตว์และคน
ขณะนี้ทีมงานวิจัยสามารถพัฒนาเซลล์จากเนื้อเยื่อของสุนัข นำมาคัดแยกสเต็มเซลล์ เลี้ยงเพิ่มจำนวน และประสบความสำเร็จในการสร้างกระบวนการเหนี่ยวนำเซลล์ พร้อมเทคโนโลยีการปลูกถ่าย ซึ่งแพลตฟอร์มนี้สำเร็จพร้อมทดสอบประสิทธิภาพความปลอดภัยทั้งตัวเซลล์ และระบบการนำส่งในสัตว์ทดลองและสัตว์ป่วย คาดว่าไม่เกิน 3 ปีก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษาจริงในสัตว์ต่อไป
โดยเทคโนโลยีสเต็มเซลล์เป็นความหวังในการใช้รักษาโรคเบาหวานและโรคอื่นๆ ซึ่งผลสำเร็จที่เกิดขึ้นในการรักษาสัตว์เลี้ยงจะได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อใช้รักษาคนในอนาคตด้วย

ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าภาคภูมิใจเมื่อนักวิจัยเมืองไทย ที่ได้ทดลองค้นคว้าในการรักษาโรคเบาหวานในสัตว์เลี้ยงด้วยวิธีปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จนประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกในบ้านเรา อีกหนึ่งทางเลือกรักษาโรคที่น่าจับตามองในอนาคต ผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)
แหล่งอ้างอิง : คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กองการแพทย์ทางเลือก, โรงพยาบาลกรุงเทพ
https://www.bumrungrad.com/th/treatments/stem-cell-transplant
http://med.swu.ac.th/msmc/pathologymsmc/index.php/news-menu/154-stemcell
https://www.bumrungrad.com/th/conditions/diabetes
https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/diabetes-treatment-guidelines/