เพราะธุรกิจ SME มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของประเทศ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในประเทศไทยมีผู้ประกอบการ SME จำนวนไม่น้อยที่เริ่มทำธุรกิจด้วยตนเองและทำคนเดียว หรือมีหลายคนอาจไม่ได้เรียนมาสูงแต่มีความสามารถในด้านการผลิต เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการเหล่านี้อาจเริ่มมีปัญหาในการบริหารจัดการมากขึ้นตามไปด้วย

ทำไม? ผู้ประกอบการ SME ต้องมีการพัฒนาตัวเอง
ในหลายกรณีแม้การเริ่มต้นธุรกิจด้วยการใช้คนทำงานเพียงไม่กี่คนในตอนเริ่มแรกอาจมีการบริหารจัดการที่คล่องตัว แต่เมื่อมีการขยายธุรกิจและจ้างคนทำงานมากขึ้นปัญหาก็จะเริ่มตามมา ทำให้ผู้ประกอบการบางคนเริ่มท้อใจ ไม่อยากออกจาก Comfort Zone อยากรักษาธุรกิจของตนเองให้อยู่ในระดับเดิมเพราะเกรงว่าเมื่อมีการขยายงานแล้วการบริหารงานจะเป็นไปอย่างยากลำบาก ซึ่งความคิดแบบนี้อาจเป็นกับดักที่จะทำให้ธุรกิจของตนเองต้องประสบกับการ Disruption จากการแข่งขันในปัจจุบันและไม่สามารถเติบโตได้
ดังนั้น ผู้ประกอบการ SME ที่มีวิสัยทัศน์อยากสร้างความก้าวหน้าและต้องการให้ธุรกิจเติบโตไปสู่ธุรกิจขนาดใหญ่และมั่นคง ต้องมีการพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งยังต้องหารวิธีการที่เหมาะกับความรู้ความสามารถ และความต้องการของตนเอง ซึ่งในยุคปัจจุบันสิ่งสำคัญที่ควรต้องพัฒนาความรู้และความสามารถ มีดังนี้..

1. ยกระดับความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ
การบริหารจัดการธุรกิจได้ดีจำเป็นต้องมีความรู้ด้านการบริหารตลาด บริหารบัญชีและการเงิน การบริหารจัดการทั่วไปและการบริหารด้านการผลิตหรือบริการ ซึ่งความรู้ในเรื่องดังกล่าวผู้ประกอบการสามารถเข้าอบรมสัมมนาได้ตามโครงการต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐที่จัดให้อบรมและสัมมนาฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายทั้งแบบออนไลน์และออนไซต์ หรือหากเป็นกรณีที่เจ้าของกิจการไม่ได้จบการศึกษาในด้านบริหารจัดการก็อาจหาวิธีไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมต่อช่วงหลังเวลาทำงานก็ได้ เพราะความรู้เรื่องการจัดการมีความจำเป็นอย่างมากในการบริหารกิจการ ซึ่งจะส่งผลให้สามารถวางแผนและนำพาให้ธุรกิจเติบโตก้าวหน้าต่อไปได้
อย่างในปัจจุบัน มีหน่วยงานรัฐหลายแห่งที่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ในการพัฒนาความรู้ความสามารถในการบริหารธุรกิจ เช่น โครงการพัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, โครงการปรับแผนธุรกิจของสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, โครงการเสริมสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจของกรมพัฒนาผู้ประกอบการ กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น

2. พัฒนาทักษะที่ผู้นำควรมี
การสร้างทักษะผู้นำจะต้องพัฒนาความสามารถให้เป็นที่ยอมรับของพนักงานและคนรอบข้างได้ ซึ่งการสร้างทักษะจะเป็นการเสริมสร้างปัญญาให้กับผู้ประกอบการ โดยอาจเริ่มจากการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง 10 แบบคือ การช่างสังเกต, การชอบบันทึก, ฝึกการนำเสนอ, รู้จักการรับฟัง, รู้จักการถาม, ชอบวิเคราะห์หาสาเหตุ, ค้นหาคำตอบที่อยากรู้จากแหล่งความรู้, รู้จักการเขียนด้วยการเรียบเรียงความคิด และสุดท้ายต้องรู้จักการเชื่อมโยงเรื่องราวจนเกิดความคิดสร้างสรรค์ได้

3. สร้างมนุษย์สัมพันธ์พร้อมให้ความสำคัญด้านจิตวิทยา
ผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการควรหาความรู้ในด้านจิตวิทยาการจูงใจพนักงานให้ทำงานได้ตามเป้าหมาย ขณะเดียวกันยังต้องรู้จักการสร้างมนุษย์สัมพันธ์กับลูกค้า พนักงาน ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อสร้างการยอมรับและได้รับความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้ราบรื่นได้ ซึ่งผู้ประกอบการมืออาชีพต้องมีวิธีการสื่อสารที่ดีกับทั้งพนักงานและลูกค้า เพื่อปูทางให้กิจการก้าวหน้าเติบโตได้ในอนาคตด้วย วิธีอัพสกิลง่ายๆ ในปัจจุบันมีองค์ความรู้มากมายทั้งในสื่อออนไลน์ หรือหนังสือที่สอนเรื่อง HOW TO เกี่ยวกับการจูงใจให้กับผู้นำ ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ง่ายและเลือกวิธีที่ตนเองต้องการได้ตามความเหมาะสม

4. อัพสกิลภาษาเพื่อการเจรจาธุรกิจ
ในโลกปัจจุบันที่คนหันมาให้ความสำคัญกับภาษาต่างชาติเพื่อการติดต่อทางธุรกิจอย่าง ภาษาอังกฤษ ถือเป็นภาษาที่ผู้ประกอบการต้องมีความสามารถในการสื่อสารกับลูกค้าหรือซัพพลายเออร์ ซึ่งจะทำให้มีความได้เปรียบกว่าผู้ประกอบการที่ยังต้องใช้ล่ามหรือตัวแทนในการติดต่อกับต่างชาติ ดังนั้น หากมีความตั้งใจที่จะยกระดับธุรกิจสู่ความเป็นสากลก็จำเป็นต้องศึกษาและฝึกฝนในการพูดและเขียนภาษาอังกฤษให้มีความชำนาญ ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาเปิดสอนให้กับผู้ใหญ่ที่ต้องการเรียนจำนวนมาก เพราะหากไม่สามารถเรียนรู้และใช้ภาษาต่างประเทศได้ ก็จำเป็นต้องจ้างพนักงานที่มีความสามารถด้านภาษาแต่ก็ต้องเพิ่มงบประมาณในการจ้างเพิ่มขึ้น

5. ปรับตัวให้สอดรับกับเทคโนโลยี
อย่างที่ทราบกันดีว่า ขณะนี้โลกแห่งธุรกิจได้เปลี่ยนไป ซึ่งภาคธุรกิจในประเทศไทยเองก็ได้นำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลและประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตมาใช้ในการผลิตสินค้า ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ยังไม่มีความรู้ด้านการใช้งานคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน ยิ่งต้องเร่งปรับตัวเรียนรู้เรื่องเหล่านี้อย่างเร่งด่วนเพราะเทคโนโลยีถือเป็นตัวแปรสำคัญ ที่จะนำมาใช้ให้เกิดมีประสิทธิภาพในการทำงานก่อนที่จะถูก Disruption จากเทคโนโลยีและทำให้คู่แข่งแซงหน้าไป

ระบบบัญชีที่มาตรฐานนำไปสู่การประสบความสำเร็จ
สำหรับเรื่องการจัดทำบัญชี หลายครั้งจะเห็นได้ว่าธุรกิจ SME จะมีปัญหาสำคัญคือผู้ประกอบการบริหารเงินไม่เป็น โดยไม่แยกเงินที่ใช้ส่วนตัวกับเงินที่ใช้สำหรับดำเนินธุรกิจ เช่น ใช้เงินทุนหรือกำไรของการทำธุรกิจไปใช้จ่ายส่วนตัว ทำให้กระแสเงินสดในการดำเนินธุรกิจไม่เพียงพอที่จะใช้จ่าย ซึ่งต้องยอมรับว่าการทำธุรกิจทุกประเภทผู้ประกอบการต้องสามารถทำกำไรได้ หากในกรณีที่เป็นธุรกิจครอบครัว (Family Business) ผู้ประกอบการต้องมีการแยกระหว่างบัญชีใช้จ่ายภายในครอบครัว กับบัญชีธุรกิจออกจากกันอย่างชัดเจน
โดยในส่วนของบัญชีที่เป็นของธุรกิจนั้นต้องมีการวางระบบมาใช้ภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสามารถมองเห็นภาพรวมของธุรกิจทั้งหมดอย่างชัดเจนว่ารายการบัญชีแต่ละส่วนนั้นเป็นอย่างไร มีผลกำไร ขาดทุน รายได้ และมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมหรือไม่ หากพบต้นตอของปัญหาต้องรีบแก้ไขเพื่อให้ธุรกิจมีกำไรและสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง
ซึ่งการนำเงินส่วนตัวมาปะปนกับเงินทุนในการประกอบธุรกิจ จะทำให้ผู้ประกอบการไม่ทราบผลกำไรหรือรายได้ของที่แท้จริงของกิจการ วิธีแก้ปัญหาคือแยกเงินส่วนตัวและเงินธุรกิจออกจากกัน และทำการเบิกค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นระบบ เช่น การแยกบัญชีเงินส่วนตัว และบัญชีเงินทุนในกิจการที่ง่ายที่สุด คือ การกำหนดเงินเดือนให้ตนเอง แล้วจึงนำเงินเดือนไปใช้ในกิจส่วนตัว ซึ่งจะสามารถมองเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นว่าส่วนไหนเป็นรายจ่าย ส่วนไหนเป็นรายรับของธุรกิจ เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การจัดทำบัญชีเล่มเดียวซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการ SME เพราะจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าและยกระดับให้ธุรกิจมีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าสามารถบริหารงบการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส และยังมีส่วนช่วยให้สถาบันการเงินวิเคราะห์สินเชื่อและบริหารความเสี่ยงให้ผู้ประกอบการดียิ่งขึ้น รวมถึงทำให้เจ้าของกิจการได้ทราบถึงข้อมูลตัวเลขกำไรและขาดทุนที่แท้จริง นำไปสู่การวางแผนงานและการดำเนินงานธุรกิจได้อีกด้วย
ผู้ประกอบการที่เคยประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจในอดีต แม้จะเชี่ยวชาญชำนาญในด้านหนึ่งด้านใดมาก่อน แต่ความรู้และประสบการณ์อย่างอื่นก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้ตนเองอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางด้านการตลาด เศรษฐกิจ การเมือง กฎหมาย ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้วิเคราะห์สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและปรับตัวได้อย่างทันท่วงที
อ้างอิงจาก : กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
https://bsc.dip.go.th/th/category/hr2/fs-developknowledgeowner
หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์
http://research.pcru.ac.th/pcrubi/index.php?option=com_content&view=article&id=15:smes&catid=13:2015-01-09-06-48-40&Itemid=106
ธนาคารแห่งประเทศไทย - Bank of Thailand
https://th-th.facebook.com/bankofthailandofficial/posts/827168024299293/