เทคนิคเลือก “พนักงานที่ใช่” โดนใจผู้บริหารและผู้ร่วมงานในองค์กร
ผู้บริหารที่ก้าวเข้ามาสู่โลกของการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดเล็กหรือองค์กรขนาดใหญ่ ล้วนมีองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ นั่นคือ “พนักงานในองค์กร” ที่เป็นเหมือนฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และเป็นไปตามเป้าหมายที่คุณวางไว้
อย่างไรก็ตาม กระบวนการสรรหาพนักงานให้มาทำหน้าที่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ถูกที่ ถูกเวลา และอยู่ร่วมงานกันได้นาน ๆ คือโจทย์ยากที่ท้าทายบรรดาผู้ประกอบการอย่างยิ่ง เพราะลำพังแค่การอ่านจากใบสมัคร หรือถามคำถามเบื้องต้นที่เตรียมไว้ ไม่ได้การันตีว่าผู้สมัครงานคนนั้น มีความสามารถเพียงพอและตอบโจทย์องค์กรคุณได้หรือไม่ ทำให้ไม่รู้ว่าควรตัดสินใจเลือกใครดี เพราะหากเลือกคนผิด อาจจะมีผลให้องค์กรเสียทรัพยากร และเสียเวลา และเสี่ยงกับปัญหาพนักงานลาออกให้ต้องปวดหัวไม่รู้จบ
แต่ในทางกลับกัน หากคุณได้คัดเลือกคนที่ใช่ มาร่วมงานในองค์กรของคุณ ยิ่งอยู่นานเท่าไหร่ พวกเขาจะยิ่งเรียนรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์จนเชี่ยวชาญในงานที่ทำ โดยเฉพาะหากธุรกิจคุณขายสินค้าและบริการ พนักงานที่รู้จักสินค้าของคุณเป็นอย่างดี ยิ่งทำให้พวกเขาส่งต่อข้อมูลไปยังลูกค้าได้แบบมืออาชีพ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สินค้าของคุณได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากลูกค้าได้ดีกว่า การสอนงานพนักงานใหม่ๆ ที่เปลี่ยนหน้าเข้ามาตลอดเวลา
ดังนั้น Bangkok Bank SME จึงเตรียม 4 คำถามสัมภาษณ์งาน เพื่อให้องค์กรของคุณ ได้พนักงานที่ตรงใจ มีคุณสมบัติที่ใช่ และอยู่ร่วมงานกันได้แบบยาว ๆ มาฝากกัน
1. คำถามสัมภาษณ์งานเชิงจิตวิทยา
ขั้นตอนการสัมภาษณ์งาน เป็นด่านแรกของการทำความรู้จักผู้สมัครงาน ลองเตรียมคำถามเชิงจิตวิทยาเพื่อเป็นสิ่งช่วยชี้วัดแนวความคิด และทัศนคติ ของผู้สมัครว่าเหมาะสมกับตำแหน่งที่คุณต้องการหรือไม่ เช่น คุณอาจจะถามผู้สมัครงานเกี่ยวกับกรณีการเกิดปัญหาในการทำงานที่ผ่านมา และการแก้ปัญหาครั้งนั้น ใช้วิธีแบบใด เพื่อให้ได้ทราบถึงไหวพริบในการตอบสนอง และแนวคิดในการรับมือเมื่อต้องแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า เป็นต้น
2. ถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากคำตอบของผู้สมัคร
เนื่องจากผู้สมัครงาน มีเป้าหมายในการได้งานทำ ซึ่งบางครั้งอาจจะทำให้มีการตอบคำถามที่เกินจากความเป็นจริง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับผลงานที่ผ่านมา หรือประสบการณ์ที่ได้รับ ซึ่งวิธีการที่จะทำให้คุณได้รู้ว่าเรื่องนั้นเป็นจริงหรือไม่ อาจจะเป็นการเพิ่ม Detail ในรายละเอียดของเรื่องนั้น ๆ โดยถามคำถามที่ลึกลงไปเช่นผู้ดูแลโครงการ ตำแหน่งผู้บริหารที่มอบหมายงาน ลักษณะงานที่ทำ ช่วงเวลาที่จัดทำ หรือตัวเลขยอดขายจากปีที่ผ่านมา ซึ่งคุณอาจจะหาตัวเลขหรือวันที่ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
จากนั้น ให้คุณโน้ตรายละเอียดต่าง ๆ ไว้ เมื่อมีโอกาสในการสัมภาษณ์พวกเขาในรอบที่ 2 ให้ลองเช็คข้อมูลที่ผู้สมัครให้ไว้ก่อนหน้านี้ หากเป็นข้อมูลที่เป็นจริง ผู้สมัครจะสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ตรงกับครั้งแรกที่คุณได้ถามไว้
3. ถามถึงแผนการตั้งเป้าหมายในระยะยาว
หากคุณอยากรู้ว่า พนักงานที่จะมาร่วมงานมีความคิดในการมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันกับคุณในระยะยาวหรือไม่ ให้ลองถามคำถามที่เป็นเรื่องของการมองอนาคต เช่น แผนที่พวกเขาวางไว้ในอีก 10 ปีข้างหน้า อยากทำอะไร เพื่อให้ทราบว่าจริง ๆ แล้ว พวกเขามีบางอย่างที่อยากจะทำเพิ่มเติม ในระหว่างทางที่เขากลายเป็นหนึ่งในทีมงานของคุณแล้ว อีกหรือไม่
ซึ่งหากเขาตอบว่ามีแผนอยากเรียนต่อ หรือมีสิ่งที่อยากทำในอีก 1 หรือ 2 ปีข้างหน้า คุณอาจจะต้องตัดสินใจเลือกคนที่พร้อมกว่า สำหรับเคียงข้างไปกับองค์กรคุณแบบระยะยาวได้มากกว่า เป็นต้น
4. พูดคุยเรื่องเงินเดือนที่ต้องการ
ผู้บริหารหลายท่าน อาจจะคิดว่าเงินเดือนที่ตกลงกันตอนสัมภาษณ์งาน เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการพูดคุย แต่การถามถึงประเด็นสำคัญในช่วงของการสัมภาษณ์งาน จะทำให้คุณแน่ใจได้ว่า คุณและผู้สมัครงาน มีสิ่งที่คาดหวังเกี่ยวกับเงินเดือนในตำแหน่งงานที่เหมาะสมในทิศทางเดียวกันหรือไม่
เช่นลองถามพวกเขาว่า “คาดหวังเงินเดือนที่เท่าไหร่” หากผู้สมัครมีความคาดหวังมากกว่าสิ่งที่คุณเสนอให้ เกินจากโควตาที่บริษัทกำหนดไว้จนเกินไป คุณอาจจะมองหาตัวเลือกใหม่ที่ลงตัวกว่า ในผู้สมัครที่มีศักยภาพใกล้เคียงกัน ขณะเดียวกันผู้สมัครงานเอง อาจจะได้มองหาโอกาสจากบริษัทอื่น
การถามคำถามเบื้องต้นเหล่านี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการ, เจ้าของบริษัท หรือผู้บริหาร เข้าใจถึงสิ่งที่ผู้สมัครคาดหวังเกี่ยวกับตำแหน่งงานที่สมัครในเบื้องต้น ซึ่งในความเป็นจริง การเลือกพนักงานที่ใช่ อาจจะต้องใช้เวลาเรียนรู้นิสัยใจคอ และวัดพฤติกรรมกันจริง ๆ เมื่อพวกเขาก้าวเข้ามาร่วมงานกับคุณเรียบร้อยแล้ว เพราะการอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกันเป็นทีม ต้องมีหลายองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องมากมาย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากคนที่คุณเลือกรับเข้างาน สามารถตอบโจทย์ความต้องการ และมี Passion ในการขับเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้าได้อย่างแท้จริง สิ่งที่คุณต้องไม่ลืมโดยเด็ดขาด คือรักษาพนักงานที่ดีเหล่านี้เอาไว้ ในฐานะนายจ้างที่ “โดนใจ” ลูกน้องเช่นเดียวกัน เพื่อให้ธุรกิจของคุณราบรื่น และพร้อมก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง