อินโดนีเซียนับเป็นหัวใจของเศรษฐกิจฮาลาลทั่วโลก ด้วยจำนวนประชากรชาวมุสลิมที่มีมากที่สุดในโลกที่ประมาณ 229 ล้านคน ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมา อินโดนีเซียมีมูลค่าตลาดฮาลาลสูงถึงประมาณ 2.79 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมฮาลาลระดับโลก
ตลาดฮาลาลของอินโดนีเซียคาดว่าจะมีอัตราการเติบโต (CAGR) อยู่ที่ 14.2% ด้วยมูลค่าแตะ 8.07 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2573 อีกทั้งในฐานะตลาดผู้บริโภคสินค้าฮาลาลรายใหญ่ที่สุด อินโดนีเซียจึงมีโอกาสรออยู่มากมายในหลายภาคส่วน เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมสินค้าเสื้อผ้าสำหรับชาวมุสลิม (Modest Fashion) และการท่องเที่ยวฮาลาล เป็นต้น
อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม
อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มครองส่วนแบ่งตลาดฮาลาลของอินโดนีเซียได้มากที่สุด โดยถูกขับเคลื่อนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่อยู่ในระดับสูงและจากกฎระเบียบที่กำหนดให้สินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมดต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรับรองฮาลาล
ในปี 2565 ผู้บริโภคชาวมุสลิมในอินโดนีเซียใช้จ่ายกับค่าอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลไปประมาณ 1.49 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตขึ้นอีกอย่างมากจนอาจมีมูลค่าแตะ 2.58 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐได้ภายในปี 2573 ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงอัตราการเติบโตที่แข็งแกร่งที่ประมาณ 6.78% ตั้งแต่ช่วงปี 2566-2573 เลยทีเดียว โดยการเติบโตดังกล่าวจะถูกขับเคลื่อนจากชนชั้นกลางที่ขยายตัวและการตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามกฎระเบียบฮาลาลของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าฮาลาลก็มีส่วนสำคัญสำหรับเศรษฐกิจของประเทศ โดยในปี 2566 การส่งออกอาหารฮาลาลมีมูลค่าถึง 4.23 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมาจากอาหารแปรรูป เครื่องดื่ม และเครื่องปรุงเป็นหลัก
อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำหรับชาวมุสลิม
อุตสาหกรรมเสื้อผ้าฮาลาลของอินโดนีเซียกำลังเติบโตอย่างมากจนกลายเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดโลก โดยอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำหรับชาวมุสลิมของประเทศอยู่ในอันดับ 3 ของโลก ด้วยมูลค่าตลาด 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะเติบโตแตะ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในสิ้นปี 2567 ซึ่งการเติบโตที่แข็งแกร่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของประเทศในการกำหนดทิศทางในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำหรับชาวมุสลิม ซึ่งอุตสาหกรรมนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การสนับสนุนจากรัฐบาล หรือการออกแบบที่สร้างสรรค์ เป็นต้น
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฮาลาล
ภาคการท่องเที่ยวฮาลาลของอินโดนีเซียกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวมุสลิมทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังเป็นผู้สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงศาสนารายสำคัญของโลกด้วย โดยมีชาวอินโดนีเซียมากถึง 209,782 คนเดินทางไปเพื่อประกอบพิธีฮัจญ์ในปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งซาอุดีอาระเบียได้อนุญาตให้ผู้แสวงบุญชาวอินโดนีเซียเข้าร่วมพิธีในปีนั้นเป็นจำนวน 221,000 คน และคาดว่าจะมีจำนวนใกล้เคียงกันอีกในปี 2568 นี้
สำหรับการท่องเที่ยวภายในประเทศ อินโดนีเซียได้รับการจัดอันดับจากดัชนีชี้วัดการท่องเที่ยวชาวมุสลิม (Global Muslim Tourism Index: GMTI) ปี 2566 ให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวฮาลาลอันดับหนึ่งของโลก จากทั้งหมด 140 ประเทศ ซึ่งตลาดการท่องเที่ยวของชาวมุสลิมทั่วโลกมีมูลค่ารวมกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากจำนวนประชากรชาวมุสลิมที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นแตะ 2.2 พันล้านคนภายในปี 2573 นอกจากนี้ จากความพยายามในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อชาวมุสลิมของอินโดนีเซีย ทำให้อินโดนีเซียสามารถครองส่วนแบ่งตลาดสำคัญในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตนี้ได้อย่างมาก
ที่มา: Investing in Indonesia’s Halal Economy, Ayman Falak Medina, ASEAN Briefing
ผู้เรียบเรียง: ณภัสสร มีไผ่แก้ว
https://www.aseanbriefing.com/news/investing-in-indonesias-halal-economy/