AEC Connect | เจาะลึก ‘เวียดนามใต้’ คว้าโอกาสการลงทุน
เวียดนามแบ่งเขตเศรษฐกิจหลักตามภูมิภาคได้ 4 เขตคือ เวียดนามเหนือ เวียดนามกลาง เวียดนามใต้ และพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งครอบคลุมศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่สำคัญของประเทศ
‘เวียดนามใต้’ เป็นศูนย์กลางสำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของเวียดนาม สามารถสร้าง GDP คิดเป็นสัดส่วนถึง 40% และมูลค่าการลงทุนโดยตรงสะสมถึง 42% ซึ่งภูมิภาคนี้ได้มอบสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีพลวัตและหลากหลายต่อธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่ธุรกิจ SMEs ไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ รวมทั้งยังมีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพดีที่สุดของประเทศอีกด้วย
เวียดนามใต้นับเป็นโซนธุรกิจชั้นนำสำหรับภาคการผลิตขั้นสูง โดยมีภาคอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนการลงทุนในอนาคตได้แก่ ภาคอิเล็กทรอนิกส์ ซอฟต์แวร์ IT โทรคมนาคม การผลิตสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง และการแปรรูปต่างๆ
และเพื่อทำความเข้าใจพื้นที่เวียดนามใต้ให้ถ่องแท้มากขึ้น เราจะพาไปเจาะลึกศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคจำนวน 6 แห่งด้วยกัน ดังนี้
1. นครโฮจิมินห์
เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามและมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทั้งประเทศ โดยมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีที่สามารถสนับสนุนการผลิตในอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศได้ และมีเขตอุตสาหกรรม (IZs) ถึง 19 แห่ง
โครงสร้างทางเศรษฐกิจ
●ภาคบริการ 51.1%
●ภาคอุตสาหกรรม 47.7%
●ภาคการเกษตร 1.2%
2. บ่าเสียะ-หวุงเต่า (ศูนย์กลางน้ำมันและก๊าซ)
เป็นเมืองชายฝั่งติดโฮจิมินห์ ด่งนาย และบิ่ญถ่วน และเป็นศูนย์กลางน้ำมันและก๊าซและบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมน้ำมันอยู่ในช่วงขาลงในปัจจุบัน ทางจังหวัดจึงหันไปให้ความสำคัญกับการท่าเรือและโลจิสติกส์มากขึ้น
โครงสร้างทางเศรษฐกิจ
●ภาคอุตสาหกรรม 55%
●ภาคบริการ 34%
●ภาคการเกษตร 11%
3. บิ่ญเซือง
เป็นหนึ่งในศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนามากที่สุดในเวียดนามใต้ เป็นเมืองที่มีโลจิสติกส์ดี โดยเข้าถึงท่าเรือหลัก สนามบินนานาชาติ และศูนย์กลางบริการทางเศรษฐกิจอย่างโฮจิมินห์ได้โดยง่าย
โครงสร้างทางเศรษฐกิจ
●ภาคอุตสาหกรรม 63%
●ภาคบริการ 23.5%
●ภาษีนำเข้า 9.2%
●ภาคการเกษตร 4.3%
4. ด่งนาย
เป็นหนึ่งในศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุดในเวียดนาม และยังเป็นเมืองที่ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ในเวียดนาม ตามหลังนครโฮจิมินห์ บิ่ญเซือง และฮานอย
โครงสร้างทางเศรษฐกิจ
●ภาคอุตสาหกรรม 51%
●ภาคบริการ 46%
●ภาคการเกษตร 3%
5. ลองอัน
เป็นสะพานเชื่อมระหว่างนครโฮจิมินห์ทางทิศเหนือและ 12 จังหวัดในพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงทางทิศใต้ โดยมีพื้นที่สำหรับทำการเกษตรมากถึง 71% ของพื้นที่ทั้งจังหวัด เหมาะสำหรับการเพาะปลูกข้าว แตงโม แก้วมังกร อ้อย และพืชผักอื่นๆ
โครงสร้างทางเศรษฐกิจ
●ภาคอุตสาหกรรม 44.9%
●ภาคบริการ 33.1%
●ภาคการเกษตร 22%
6. เต็ยนิญ
เป็นเมืองที่มีพรมแดนติดกับกัมพูชาและมีบทบาทสำคัญต่อการเชื่อมนครโฮจิมินห์เข้ากับกรุงพนมเปญของกัมพูชา โดยมีสิ่งทอ พลาสติกและยางรถ หนัง และสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นผลผลิตหลักของจังหวัด
โครงสร้างทางเศรษฐกิจ
●ภาคบริการ 35%
●ภาคการเกษตร 35%
●ภาคอุตสาหกรรม 30%
ที่มา:
https://www.vietnam-briefing.com/news/vietnams-southern-key-economic-region-opportunities-for-investment.html/
ผู้เรียบเรียง: ณภัสสร มีไผ่แก้ว