AEC Connect | โอกาสการลงทุนใน ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ ของเวียดนาม
การพัฒนา ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ ของเวียดนามเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่ แต่ก็จำเป็นสำหรับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม, Carbon Footprint และการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติตามแนวชายฝั่งทะเล
เศรษฐกิจสีน้ำเงินคืออะไร?
‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ หมายถึงการรับรองว่าจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระบบนิเวศทางทะเล ไปพร้อมกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมเหตุสมผล ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ขณะที่ World Bank ได้อธิบายเศรษฐกิจสีน้ำเงินไว้ว่า เป็นการใช้ทรัพยากรมหาสมุทรอย่างยั่งยืน เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งช่วยปรับปรุงการใช้ชีวิตและรักษาความสมบูรณ์ของระบบนิเวศมหาสมุทรไว้
โอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงินของเวียดนาม
แนวชายฝั่งทะเลที่ค่อนข้างยาวของเวียดนามถือว่าเป็นข้อได้เปรียบ เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้เส้นทางเดินทะเลในระดับนานาชาติและระดับภูมิภาค และเป็นพื้นที่ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง รวมถึงทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างคู่ค้าและเส้นทางขนส่งในระดับภูมิภาคหลายแห่งอีกด้วย
สิ่งเหล่านี้เป็นข้อดีสำหรับเวียดนามในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมทางทะเล ภาคการต่อเรือ และภาคโลจิสติกส์ ซึ่งประกอบด้วยปากอ่าวกว่า 114 แห่ง อ่าวน้ำลึกกว่า 52 แห่งตลอดชายฝั่งตอนกลาง และจุดก่อสร้างท่าเรือขนาดใหญ่กว่า 100 แห่ง
เวียดนามยังเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย ประกอบไปด้วยแร่ธาตุประมาณ 35 ประเภท เช่น เชื้อเพลิง โลหะ วัสดุก่อสร้าง หินมีค่าและกึ่งมีค่า และแร่ธาตุเหลวต่างๆ ประกอบกับทรัพยากรทางทะเลที่มีศักยภาพก็ยังมีความสำคัญในแง่ของพลังงานทางทะเลที่หลากหลายอีก เช่น Natural Hydrate พลังงานน้ำขึ้นน้ำลง พลังงานคลื่น และพลังงานนิวเคลียร์น้ำมวลหนัก
นอกจากนี้ เวียดนามยังอุดมไปด้วยทรัพยากรทางทะเล โดยนอกจากปลาที่เป็นทรัพยากรหลักแล้ว ยังมีทรัพยากรที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงอีกหลายชนิด เช่น กุ้ง ปู ปลิงทะเล และสาหร่ายทะเล เป็นต้น
โอกาสของนักลงทุน
ด้านอุตสาหกรรมทางทะเล
นักลงทุนในปัจจุบันมีโอกาสที่จะเข้าร่วมโครงการทางทะเลมากขึ้น หลังจากที่แผนแม่บทสำหรับการพัฒนาระบบท่าเรือของเวียดนามได้รับการอนุมัติ โดยแผนแม่บทปี 2564-2573 เป็นหนึ่งในแผนระดับชาติ 5 ฉบับที่พัฒนาโดยกระทรวงคมนาคมและได้รับการอนุมัติจากนายกรัฐมนตรี โดยมีสาระสำคัญ คือ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานถึง 7 โครงการ
ด้านอุตสาหกรรมพลังงานลมนอกชายฝั่ง
อุตสาหกรรมพลังงานลม นับเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมทางทะเลที่มีศักยภาพพอให้นักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ ซึ่งเวียดนามก็เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานในอาเซียน เนื่องจากเวียดนามมีแผนที่จะพัฒนากำลังการผลิตด้านพลังงานลมให้แซงหน้าประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยและฟิลิปปินส์ให้ได้ซึ่งเวียดนามมีความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ โดยเฉพาะมีแนวชายฝั่งทะเลที่มีความเร็วสูงเป็นระยะทางกว่า 3,000 กิโลเมตร และมีนโยบายการลงทุนที่ไม่เหมือนประเทศอื่น คือ ไม่มีข้อจำกัดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยนักลงทุนต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้ 100%
ด้านการท่องเที่ยว
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติทั่วไปพบว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2565 นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เดินทางไปยังเวียดนามมีประมาณ 49,200 คน เพิ่มขึ้นถึง 71.7% เมื่อเทียบในช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่แล้ว และมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทรีสอร์ทจำนวนมากได้ประกาศนโยบายการลงทุนหรือเปิดขายในตลาดอย่างเป็นทางการตั้งแต่เริ่มต้นปี 2565 โดยเฉพาะจังหวัดในภาคกลางอย่าง Binh Thuan, Khanh Hoa และ Thua Thien-Hue ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวแนวชายฝั่ง ได้เปิดโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่จำนวนมาก เพื่อรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอีกด้วย
ที่มา: https://www.vietnam-briefing.com/news/vietnams-blue-economy-potential-and-opportunities-for-investors.html/
ผู้เรียบเรียง: ณภัสสร มีไผ่แก้ว
╔═══════════╗
ติดตามช่องทางอื่นๆ ของ AEC Connect
YouTube: https://bit.ly/3wunilQ
Blockdit: https://bit.ly/3xlPhE3
Tiktok: https://vm.tiktok.com/ZM8XcMGx5/
LINE OA: https://lin.ee/vPLU1bd
╚═══════════╝