‘อุตฯ ไฮเทค’ ไต้หวัน หันซบ ‘อินเดีย-ไทย-เวียดนาม’

AEC Connect
28/06/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 1159 คน
‘อุตฯ ไฮเทค’ ไต้หวัน หันซบ ‘อินเดีย-ไทย-เวียดนาม’
banner
จากความเสี่ยงต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นผลักดันให้บริษัทผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลยักษ์ใหญ่อันดับ 5 ของโลกอย่าง Acer ต้องขยับขยายอิทธิพลไปยังอินเดียเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา โดยนาย Jerry Kao ประธานฝ่ายปฏิบัติการของ Acer ระบุว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ผู้เล่นในห่วงโซ่อุปทานเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ในไต้หวันหลายรายได้ตัดสินใจย้ายการผลิตบางส่วนไปยังประเทศอื่น

นาย Kao ยังกล่าวอีกว่า ห่วงโซ่อุปทานต่างๆ เริ่มย้ายออกจากไต้หวัน ไปยังเวียดนาม ไทย หรือประเทศอื่นๆ ซึ่ง Acer เองก็ตอบรับเทรนด์ดังกล่าวทันทีที่เห็นความเสี่ยงบางอย่างและย้ายออกเพื่อกระจายความเสี่ยงเช่นกัน โดยบริษัทฯ มีโรงงานประกอบท้องถิ่นในต่างประเทศอย่างอินเดียและอินโดนีเซีย ดังนั้นหากมีอะไรเกิดขึ้น บริษัทฯ ก็จะพร้อมย้ายไปยังโรงงานเหล่านั้นทันที

ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของไต้หวันที่มีมูลค่าถึง 1.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้มีการส่งออกทั้งคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล โทรศัพท์มือถือ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการบริโภค รวมถึงชิ้นส่วนประกอบต่างๆ ออกไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ที่กลายเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนี้

อย่างไรก็ดี ก่อนปี 2561 บรรดาบริษัทไต้หวันต่างเลือกจีนแผ่นดินใหญ่เป็นโรงงานในการผลิต เนื่องจากมีราคาที่ดินและต้นทุนแรงงานในระดับต่ำ อีกทั้งยังมีห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งและมีตลาดสินค้าภายในประเทศขนาดใหญ่อีกด้วย

นอกจากนี้ จากการสำรวจของ Centre for Strategic & International Studies ปี 2565 พบว่า มากกว่า 70% ของบริษัทไต้หวันที่ได้รับการสำรวจมองว่า ไต้หวันจำเป็นต้องลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับจีน เนื่องจากมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน หรือปัญหาความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบระหว่างไต้หวัน-จีน

เมื่อกล่าวถึงประเทศที่จะมาทดแทนการผลิตจากจีน เวียดนามก็เป็นหนึ่งในประเทศที่น่าจับตามองมากพอ จากต้นทุนราคาถูกและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมใหม่ๆ โดยไต้หวันได้ลงทุนในเวียดนามมานานถึง 15 ปีแล้ว และได้รับอนุมัติการลงทุนตั้งแต่มกราคม ปี 2566 ถึงเมษายน ปี 2567 เป็นมูลค่าถึง 1.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งผู้ผลิตคอมพิวเตอร์สัญชาติไต้หวันอย่าง Quanta Computer ได้ทำข้อตกลงการผลิตในเวียดนามเมื่อปีที่แล้ว และผู้ประกอบ iPhone อย่าง Foxconn Technology ก็ได้เข้าไปในเวียดนามแล้วเช่นกัน

สำหรับไทยก็เป็นที่รู้จักในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิต รวมถึงมีนโยบายด้านการลงทุน และมีแรงงานที่มีทักษะ ซึ่งในช่วงกลางปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ไต้หวันได้รับการอนุมัติการลงทุนถึง 20 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวม 3 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกัน ไต้หวันได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลให้ลงทุนในไทยตั้งแต่ปี 2564 ถึงเมษายนปีนี้เป็นมูลค่ารวมถึง 959.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าในช่วงหลายปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ขณะที่อินเดียก็ได้รับความสนใจในแง่ของตลาดที่มีขนาดใหญ่ ทั้งยังเป็นตลาดที่เต็มไปด้วยคนวัยหนุ่มสาว และมีการเติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน ประกอบกับอินเดียยังมีแรงงานจำนวนมากและมีความร่วมมือด้านการคุ้มครองการลงทุนกับไต้หวันด้วย โดยบริษัทไต้หวันกว่า 150 แห่งได้เข้าไปดำเนินการในอินเดียเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งรวมถึงบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่อย่าง Foxconn, Wistron และ Pegatron ด้วย 

อย่างไรก็ดี บริษัทที่มีพนักงานจำนวนน้อยและมีขอบเขตการผลิตที่จำกัดก็จะเลือกอยู่ในไต้หวัน ส่วนบริษัทที่มีโรงงานอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ก็ไม่ได้เตรียมย้ายออกทุกบริษัท เนื่องจากตลาดยังคงมีขนาดใหญ่และห่วงโซ่อุปทานก็ยังคงคึกคัก สำหรับการลงทุนที่ได้รับการอนุมัติแล้วของบริษัทไต้หวันในจีนแผ่นดินใหญ่แตะที่ประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าเป็นมูลค่าที่ต่ำที่สุดในรอบ 22 ปีเลยทีเดียว


ที่มา: Taiwan’s iconic hi-tech sector drifts towards India, Thailand, Vietnam to hedge political risk, Ralph Jennings, South China Morning Post
ผู้เรียบเรียง: ณภัสสร มีไผ่แก้ว


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

โอกาสการลงทุน ‘กัมพูชา’ 2568

โอกาสการลงทุน ‘กัมพูชา’ 2568

รัฐบาลกัมพูชาคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 6.3% ในปี 2568 และ GDP คาดว่าจะแตะมูลค่า 51,390 ล้านดอลลาร์สหรัฐ…
pin
4 | 31/01/2025
‘เวียดนาม’ เตรียมเก็บภาษีนำเข้า ‘สินค้าราคาถูก’

‘เวียดนาม’ เตรียมเก็บภาษีนำเข้า ‘สินค้าราคาถูก’

รองนายกรัฐมนตรี Ho Duc Phoc ได้ตัดสินใจลงนามยกเลิกการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีนำเข้าของสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1 ล้านดอง หรือประมาณ…
pin
11 | 17/01/2025
เจาะโอกาส ‘ธุรกิจอาหาร’ ในอินโดนีเซีย

เจาะโอกาส ‘ธุรกิจอาหาร’ ในอินโดนีเซีย

ประเทศอินโดนีเซียเปิดโอกาสให้กับธุรกิจอาหารอย่างมากมาย เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ เช่น ประชากรขนาดใหญ่, ชนชั้นกลางที่จำนวนเพิ่มขึ้นและวิวัฒนาการด้านความชอบเกี่ยวกับการทำอาหาร…
pin
21 | 27/12/2024
‘อุตฯ ไฮเทค’ ไต้หวัน หันซบ ‘อินเดีย-ไทย-เวียดนาม’