การระบาดของโอมิครอนคลี่คลาย เริ่มเห็นแสงสว่างภาคการท่องเที่ยวไทยชัดขึ้น
ภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยกำลังเห็นแสงสว่างที่สดใสชัดเจนขึ้นอีกครั้ง เมื่อตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ในระลอกล่าสุดจากสายพันธุ์โอมิครอน ได้ผ่านจุดสูงสุดและปรับลดลงอย่างต่อเนื่องแล้ว
จากช่วงต้นปี 2565 ที่เคยมีสถิติผู้ติดเชื้อรายวันทั่วโลกสูงมากกว่าวันละ 3.5 ล้านคน ในตอนนี้ก็ลดลงมาเหลือผู้ติดเชื้อประมาณวันละ 5 แสนคนเท่านั้น และก็ยังมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง
แต่ตัวเลขสถานการณ์โควิด ที่ส่งสัญญาณทางบวกยิ่งกว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อเสียอีก คือ ตัวเลขค่าเฉลี่ยผู้เสียชีวิตรายวัน ที่ลดลงมาต่ำกว่าระดับ 2,000 คนต่อวันแล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 หรือ คิดเป็นเวลามากกว่า 2 ปีแล้ว

ตอนนี้ความกังวลใจเรื่องการระบาด เหลืออยู่ที่สถานการณ์ในประเทศจีนเป็นสำคัญ ที่ในขณะนี้ กำลังระดมสรรพกำลังเพื่อควบคุมโควิดให้ได้ ซึ่งถ้าจัดการลุล่วงไปได้ดี และไม่มีสายพันธุ์ใหม่เข้ามาอีก โลกของเราก็มีโอกาสจะกลับไปใช้ชีวิตแบบปกติในเร็ววันมากขึ้นเรื่อยๆ
และด้วยเหตุผลนี้ จึงทำให้หลายประเทศตัดสินใจที่จะเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น เพื่อให้เป็นเครื่องยนต์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ประเทศไทย ที่เริ่มมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางกลับเข้ามาหลักแสนคนต่อเดือนแล้ว
โดยข้อมูลที่ออกมาล่าสุดในเดือนมีนาคม มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาไทย 210,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน สอดคล้องไปกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ซาลงทั่วโลก และการผ่อนผันมาตรการที่เริ่มคลายไป
เครื่องชี้ภาคการท่องเที่ยวสำคัญอีกตัว ที่มีทิศทางเป็นบวกอย่างมาก คือตัวเลขอัตราการเข้าพักแรมทั่วประเทศ ที่แม้ตอนนี้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะพึ่งกลับเข้ามาประมาณ 1 ใน 10 แต่อัตราการเข้าพักแรมทั่วประเทศในข้อมูลเดือนล่าสุด ก็กลับเข้าสู่ระดับร้อยละ 37.43
ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 และเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2562 ที่ยังไม่มีการระบาดของโควิดแล้วนั้น อัตราการเข้าพักเดือนล่าสุด ก็อยู่ที่ประมาณ 1 ใน 2 แล้ว

ที่เป็นแบบนี้ เพราะนักท่องเที่ยวชาวไทยออกไปเที่ยวไทยด้วยกันเอง ซึ่งก็เป็นส่วนที่ดีสำหรับภาคการท่องเที่ยว ทั้งในแง่การจุดประกายความหวัง และเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ภาคท่องเที่ยวไทยซ้อมมือ พร้อมรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อกลับเข้ามามากกว่านี้
และหากภาคการท่องเที่ยวกลับมาดำเนินไปได้ด้วยดี ก็เหมือนกับว่า ประเทศไทยจะได้รับบางส่วนของเครื่องยนต์เศรษฐกิจมูลค่านับล้านล้านบาท และการจ้างงานประมาณ 20% กลับมา ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ภาคการผลิตทั่วโลก
อ้างอิงจากข้อมูลของ HIS Markit ดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหรัฐอเมริกา อยู่ที่ 59.2 ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงขึ้นเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน ซึ่งก็เป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 เป็นสำคัญ แต่ก็ยังมีความกังวลใจแฝงอยู่ในการฟื้นตัวในช่วงถัดไป จากเหตุผลด้านตัวเลข GDP ในไตรมาสแรกของปี 2565 ที่ออกมา -1.4% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเป็นบวก และก็ยังอาจจะเจอกับอุปสรรคการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่อาจจะเร็วกว่าที่คาดกันไว้ในตอนแรก ที่จะเพิ่มต้นทุนให้ภาคธุรกิจ
แต่ที่น่ากังวลใจยิ่งกว่า คือ ดัชนี PMI ในกลุ่มยูโรโซนและจีน ที่กลุ่มแรกปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน มาอยู่ที่ระดับ 55.5 ที่แม้จะยังอยู่ในระดับสูงกว่า 50 ที่บ่งบอกการขยายตัวอยู่ แต่ก็แสดงถึงผลกระทบจากความขัดแย้งในยูเครน ที่ส่งผลต่อภาคธุรกิจในกลุ่มประเทศยุโรป โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้น
ในส่วนของจีน ดัชนี PMI ปรับตัวมาอยู่ที่ระดับ 46 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เนื่องจากจีนกำลังต้องรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิดอยู่ โดยเฉพาะในเมืองสำคัญอย่างเซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้นและ ปักกิ่ง ที่เมืองเหล่านี้มีประชากรอาศัยอยู่หลักสิบล้านคน และก็ยังมีความกังวลใจในเรื่องของ Supply Chain ที่จะส่งล่าช้า จากการที่จีนเป็นโรงงานสำคัญของโลกและมีท่าเรือสินค้าสำคัญหลายแห่ง
ในส่วนของภาคผลิตไทย ดัชนี PMI ในเดือนมีนาคมอยู่ในระดับที่ค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อนที่ 51.9 ทั้งนี้ไทยมีทั้งปัจจัยที่เป็นบวกและความเสี่ยงอยู่ในช่วงการฟื้นตัวข้างหน้า

ปัจจัยที่เป็นบวก คือ เรื่องของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยและทั่วโลกที่เริ่มคลี่คลายลง แม้จะเปิดการท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ผ่านมาสองสัปดาห์ ก็ยังไม่เห็นการเพิ่มขึ้นของยอดผู้ติดเชื้ออย่างนัยยะสำคัญ น่าจะช่วยอำนวยให้ภาครัฐไทย สามารถปรับนโยบาย จัดให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น ได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
แต่ความเสี่ยงในภาคเศรษฐกิจก็ยังมีอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องของค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งมีเหตุผลมาจากความขัดแย้งในยูเครนเป็นสำคัญ จนทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภค และความเชื่อมั่นทางธุรกิจของไทยยังลดลงในเดือนล่าสุดที่มีข้อมูล แต่ถ้าภาคการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ก็อาจจะเป็นปัจจัยบวกที่ชดเชยกับราคาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นก็ได้

สรุป
ภาคการท่องเที่ยวไทยเริ่มเห็นแสงสว่างที่ชัดขึ้นอีกครั้ง เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง และตอนนี้ก็ยังได้รับอานิสงค์การท่องเที่ยวของคนไทยด้วยกันเอง ที่เหมือนเป็นการซ้อมมือและเตรียมความพร้อม
อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงด้านปัจจัยราคาที่ปรับสูงขึ้นจากความขัดแย้งในยูเครน การควบคุมโควิดอย่างเข้มงวดในจีน ที่เป็นคู่ค้าสำคัญและมีความสำคัญกับภาคการขนส่งโลก รวมถึงความกังวลใจต่อภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ที่ยังมีความไม่แน่นอน
ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัว เลือกใช้วิธีการรับความเสี่ยงอย่างเหมาะสมจากช่วงก่อนหน้า เพราะความเสี่ยงสำคัญที่สุดในตอนนี้ได้เปลี่ยนจากเรื่องของโควิด มาเป็นปัญหาอย่างอื่นแทนแล้ว
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
Reference :
https://web.facebook.com/kobsak/posts/10223501742985438?_rdc=1&_rdr
https://www.bbc.com/thai/thailand-61264359
https://mgronline.com/business/detail/9650000034026
https://youtu.be/AG8Wk6yBU3U
════════════════
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website : https://www.bnomics.co
Facebook : https://www.facebook.com/Bnomics.co
Blockdit : https://www.blockdit.com/bnomics
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube : https://www.youtube.com/bnomics
Twitter : https://twitter.com/bnomics_co
════════════════