‘จ้างงานให้ช้า ไล่ออกให้เร็ว’ ใช้ในอาเซียน ได้จริงหรือ?

AEC Connect
26/10/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 50 คน
‘จ้างงานให้ช้า ไล่ออกให้เร็ว’ ใช้ในอาเซียน ได้จริงหรือ?
banner

แนวคิด ‘จ้างงานให้ช้า ไล่ออกให้เร็ว’ เป็นหลักคิดในการดำเนินธุรกิจของวัฒนธรรมตะวันตกมานานแล้ว โดยเน้นย้ำถึงการจ้างงานที่ต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ เพื่อเฟ้นหาคนที่เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรได้ดีและสร้างผลงานอันโดดเด่นได้ ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะดำเนินการอย่างรวดเร็ว เมื่อลูกจ้างไม่สามารถทำได้ตามที่คาดหวัง

แต่แนวคิดนี้จะใช้ได้ผลกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จริงหรือ? เนื่องจากมีทั้งความซับซ้อนทางวัฒนธรรมที่ชัดเจนและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในตลาดแรงงาน อย่างไรก็ดี แก่นของแนวคิดนี้มีไว้เพื่อลดความเสี่ยงของความผิดพลาดที่เกิดจากการจ้างงาน

จากการศึกษาของ Society for Human Resource Management (SHRM) พบว่า ต้นทุนของการจ้างงานที่ผิดพลาดอาจคิดเป็นมูลค่าตั้งแต่ 30-200% ของเงินเดือนต่อปีของพนักงานเลยทีเดียว ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสรรหาบุคลากร การต้อนรับพนักงานใหม่ การฝึกอบรม การสูญเสียผลิตภาพในการทำงาน และความเสียหายที่อาจกระทบต่อขวัญกำลังใจของพนักงานในบริษัทด้วย

สำหรับ ‘การจ้างงานให้ช้า’ จะเน้นถึงกระบวนการคัดเลือกที่พิถีพิถัน ซึ่งรวมถึงการสัมภาษณ์หลายครั้ง การประเมิน การตรวจสอบบุคคลอ้างอิง หรือแม้แต่การทดลองงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้แน่ใจว่าจะได้ผู้สมัครที่ไม่เพียงแต่มีทักษะตามที่ต้องการเท่านั้น แต่จะได้คนที่เข้ากับวัฒนธรรมและค่านิยมขององค์กรด้วย

ขณะที่ ‘การไล่ออกให้เร็ว’ หมายถึงการดำเนินการอย่างรวดเร็วเมื่อพนักงานมีผลงานต่ำกว่าที่คาด หรือเข้ากันไม่ได้กับวัฒนธรรมองค์กร ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่าจะเป็นการป้องกันไม่ให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น หรือเกิดผลกระทบต่อทีมงาน หรือเป็นเหตุให้เกิดค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มเติมนั่นเอง

มุมมองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ซับซ้อนและหลากหลาย และถึงแม้ภูมิภาคนี้จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ทันสมัยอย่างรวดเร็ว แต่ปัจจัยทางวัฒนธรรมและกฎเกณฑ์ด้านแรงงานก็มีบทบาทสำคัญในการกำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจ้างงานด้วย โดยจะยกตัวอย่างเช่น

1. ความเป็นกลุ่มนิยม – สังคมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับความเป็นกลุ่มก้อนและความสัมพันธ์ในกลุ่มมากกว่าความสำเร็จในระดับปัจเจกบุคคล 

2. การรักษาหน้า – การรักษาหน้าระหว่างกันฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อปกป้องสถานะและชื่อเสียงทางสังคมของบุคคลนั้นๆ

3. ความภักดีและความสัมพันธ์ระยะยาว – ทั้งนายจ้างและลูกจ้างในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักให้คุณค่ากับความภักดีและความสัมพันธ์ในระยะยาว ซึ่งการลาออกที่ถี่เกินไปอาจถูกมองว่าเป็นสัญญาณของความไม่มั่นคง และอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อชื่อเสียงของนายจ้างหรือบริษัทได้

4. กรอบของกฎระเบียบและข้อบังคับ – กฎหมายแรงงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แตกต่างกันในแต่ละประเทศ แต่โดยทั่วไปมักให้ความคุ้มครองแรงงานมากกว่าในฝั่งตะวันตก ซึ่งหมายความว่ากระบวนการยุติการจ้างงานจะมีความซับซ้อนและต้องการเหตุผลที่ชัดเจนมากกว่า

แล้วสรุป ‘จ้างงานให้ช้า ไล่ออกให้เร็ว’ ใช้ได้จริงไหมในอาเซียน?

หากจะนำแนวคิด ‘จ้างงานให้ช้า ไล่ออกให้เร็ว’ มาใช้ อาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโดยที่ยังรักษาหลักการที่เกี่ยวข้องไว้อยู่ ซึ่งอาจจะดียิ่งขึ้นหากเปลี่ยนมาเป็น ‘จ้างงานให้ช้า ไล่ออกด้วยความเห็นใจ’ แทน

กลุ่มประชากรเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการคัดสรรบุคลากร

ประชากรในกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนที่เติบโตอย่างรวดเร็วในตลาดแรงงาน ซึ่งมาพร้อมความคาดหวังและการให้ความสำคัญที่แตกต่างกัน ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดภูมิทัศน์ในการจ้างงาน โดย Gen Y และ Gen Z เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงทุกแง่มุมของชีวิตเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ ดังนั้นแรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะขับเคลื่อนด้วยเป้าหมาย ต้องการทำงานที่สอดคล้องกับค่านิยมที่เชื่อ

ลักษณะนิสัยดังกล่าวจะมีผลอย่างมากต่อแนวคิดแบบ ‘จ้างงานให้ช้า ไล่ออกให้เร็ว’ เพราะถ้าจะดึงดูดบุคลากรเก่งๆ จาก Gen Y และ Gen Z บริษัทต้องแสดงให้เห็นว่าตัวเองให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี วัตถุประสงค์ในการทำงาน การให้ข้อเสนอแนะ และความก้าวหน้าในอาชีพ ซึ่งประสิทธิภาพของแนวคิดนี้จะถูกท้าทาย เนื่องจากแรงงานในกลุ่มดังกล่าวมีความคาดหวังและการให้ความสำคัญที่ไม่เหมือนใคร

อย่างไรก็ดี ในท้ายที่สุดแล้ว แนวคิดการจ้างงานให้ช้า ไล่ออกให้เร็ว อาจนำมาปรับและประยุกต์ใช้อย่างมีประสิทธิภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ แต่บริษัทต้องนำความแตกต่างทางวัฒนธรรม กลุ่มประชากร และพลวัตในตลาดแรงงาน มาพิจารณาร่วมด้วย โดยบริษัทจะสามารถสร้างทีมบุคลากรที่มีผลงานโดดเด่นและสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีได้ ด้วยการรักษาความสมดุลในการจ้างงานอย่างรอบคอบ และมีความเห็นอกเห็นใจในการเลิกจ้างไปพร้อมๆ กัน

ที่มา: Does the concept of ‘hire slow, fire fast’ work in Southeast Asia?, Alyssa Navarro, People Matters

ผู้เรียบเรียง: ณภัสสร มีไผ่แก้ว

https://www.peoplemattersglobal.com/article/culture/does-the-concept-of-hire-slow-fire-fast-work-in-southeast-asia-42846 





Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

โอกาสการลงทุน ‘กัมพูชา’ 2568

โอกาสการลงทุน ‘กัมพูชา’ 2568

รัฐบาลกัมพูชาคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 6.3% ในปี 2568 และ GDP คาดว่าจะแตะมูลค่า 51,390 ล้านดอลลาร์สหรัฐ…
pin
4 | 31/01/2025
‘เวียดนาม’ เตรียมเก็บภาษีนำเข้า ‘สินค้าราคาถูก’

‘เวียดนาม’ เตรียมเก็บภาษีนำเข้า ‘สินค้าราคาถูก’

รองนายกรัฐมนตรี Ho Duc Phoc ได้ตัดสินใจลงนามยกเลิกการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีนำเข้าของสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1 ล้านดอง หรือประมาณ…
pin
11 | 17/01/2025
เจาะโอกาส ‘ธุรกิจอาหาร’ ในอินโดนีเซีย

เจาะโอกาส ‘ธุรกิจอาหาร’ ในอินโดนีเซีย

ประเทศอินโดนีเซียเปิดโอกาสให้กับธุรกิจอาหารอย่างมากมาย เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ เช่น ประชากรขนาดใหญ่, ชนชั้นกลางที่จำนวนเพิ่มขึ้นและวิวัฒนาการด้านความชอบเกี่ยวกับการทำอาหาร…
pin
21 | 27/12/2024
‘จ้างงานให้ช้า ไล่ออกให้เร็ว’ ใช้ในอาเซียน ได้จริงหรือ?