ในยุคของสังคมสูงวัยที่นอกจากจำนวนผู้สูงอายุทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นแล้ว
อายุขัยยังยืนยาวขึ้นอีกด้วยผลจากวิวัฒนาการทางการแพทย์และไลฟ์สไตล์ที่ใส่ใจในสุขภาพ
ผู้สูงวัยหลายคนไม่แน่ใจว่ามีอะไรรออยู่ข้างหน้า
หรือจะทำอะไรดีกับชีวิตที่เหลืออยู่ บางคนยังมองว่าความแก่เป็นวิกฤติ
ทั้งที่อายุที่มากขึ้นนั้นถือเป็นโอกาสดีในการลงมือทำหลายสิ่งหลายอย่าง
ศตวรรษที่ 21 เต็มไปด้วยการท้าทายและโอกาสมากมายในการใช้ชีวิตแบบแอคทีฟ แตกต่างจากยุคก่อนๆ ที่มองกันว่าพอแก่แล้วก็เกษียณไปใช้ชีวิตเงียบๆ เพราะอายุขัยที่ยืนยาวของผู้คนในหลายประเทศมีขึ้นพร้อมกับอัตราการเกิดที่ลดลง อันทำให้ผู้สูงวัยจัดเป็นบุคลากรทรงคุณค่า และเป็นอีกกลุ่มที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจหากได้รับโอกาสให้ทำงานต่อไป การสำรวจของหลายประเทศพบว่ามีผู้สูงวัยจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่อยากทำงานไปจนอายุ 70
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ
หากเปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยได้เรียนรู้ควบคู่ไปกับการทำงาน
เช่น เรียนรู้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ใหม่ๆ
จะยิ่งทำให้ผู้สูงวัยปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ได้มากขึ้น
เพราะหากอายุขัยของผู้คนยืนยาวไปถึง 80,
90 หรือ 100 ปี การหยุดการเรียนรู้ไว้ที่อายุ 21 ปีหรือหลังจบมหาวิทยาลัย
อาจไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าใดนัก
คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ หรือรุ่นที่เกิดประมาณปี 1940-1960 ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งปัจจุบันคือผู้สูงอายุนั้น
เกิดก่อนการมาถึงของอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน
จึงมักถูกมองว่าไม่รู้เรื่องเทคโนโลยีและจมอยู่กับอดีต
แต่ “อายุ” ไม่ได้เป็นอุปสรรคหากตั้งใจที่จะเรียนรู้
มีกรณีของชายวัย 91
ในอังกฤษที่ขับรถไปเรียนคอมพิวเตอร์ทุกสัปดาห์และก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
จากตอนแรกที่ไม่รู้ว่าจะเสียบปลั๊กแลปทอปยังไง
จนมาถึงตอนนี้คล่องแคล่วในการตกแต่งรูปภาพ
แม้คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ไม่ได้โตมาพร้อมกับการถ่ายเซลฟี่
แต่หากตั้งใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ก็จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้มากมาย
ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมฝาก-ถอน-โอนเงินทางออนไลน์
ไปจนถึงการดาวโหลดเพลง-ภาพยนตร์
และใช้เป็นเครื่องมือในการติดต่อเพื่อนฝูง-ญาติพี่น้อง
นอกจากมีประโยชน์ในแง่ของการอำนวยความสะดวกแล้ว
เทคโนโลยียังนำไปสู่ช่องทางในการทำธุรกิจมากมาย เพียงแค่ผู้สูงอายุมีไอเดียดีๆ
และเว็บไซต์เด็ดๆ ก็สามารถทำธุรกิจออนไลน์ และทำงานจากที่ไหนก็ได้
ไม่จำเป็นต้องนั่งหลังขดหลังแข็งอยู่ในออฟฟิศ แต่สามารถไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจแล้วทำงานไปด้วย
ไม่ต่างจากหนุ่มสาวสมัยนี้
เรียนรู้ที่จะเข้าสังคม
การเรียนรู้ที่จะเข้าสังคมหรือไปเปิดหูเปิดตานอกบ้าน
เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่จะเพิ่มชีวิตชีวาให้แก่ผู้สูงวัย
ไม่ว่าจะเป็นการพบปะติดต่อกับลูกหลานญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง และคนรู้จัก หรือแม้แต่การดูแลสัตว์เลี้ยงก็สามารถช่วยได้
นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมอื่นๆ
ที่น่าสนใจ อย่างไปวัด หรือไปออกกำลังตอนเช้าที่สวนสาธารณะเป็นประจำ
ซึ่งการออกกำลังกายมีประโยชน์ทั้งต่อสุขภาพและรูปร่าง
ทำให้น้ำหนักตัวไม่เยอะเกินในยุคที่โรคอ้วนเป็นปัญหาไปทั่วโลก อีกทั้งจิตใจยังแช่มชื่นแจ่มใสเพราะร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟินออกมา
หากไม่สะดวกไปออกกำลังที่สวนสาธารณะ
ก็อาจทำกิจกรรมเพื่อให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวแถวๆ บ้าน อย่างพาสุนัขออกมาเดินเล่น
หรือทำสวน
เพิ่มพูนสิ่งใหม่ทุกวัน
นอกจากการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ
และการมีสังคมเพื่อนฝูงแล้ว การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
สามารถกระตุ้นให้สมองตื่นตัวอยู่ตลอดและอัลไซเมอร์ไม่ถามหา
ไม่ว่าจะเป็นการหัดเล่นเครื่องดนตรี การเรียนภาษาต่างประเทศ เรียนทำขนม
เรียนทำงานฝีมือ เรียนศิลปะ เรียนโยคะ
คลาสเหล่านี้บางคลาสก็จัดขึ้นตามหมู่บ้านหรือชุมชนที่มักหากิจกรรมที่สร้างสรรค์สำหรับผู้สูงวัยเป็นการเฉพาะ
หรือหากเดินไปตลาดด้วยเส้นทางเดิมทุกวัน
ก็อาจลองเปลี่ยนเส้นทางดูบ้าง
เพราะการทำอะไรที่ฉีกไปจากรูปแบบเดิมและเรียนรู้สิ่งใหม่
ช่วยปรับปรุงในเรื่องความจำได้
นอกจากนั้น การฟังเพลงอัลบั้มใหม่ๆ
ของนักร้องร่วมสมัย หรือเปิดยูทูปเพื่อฟังเพลงโปรด
รวมถึงการติดตามข่าวสารอยู่เป็นประจำ ยังสามารถช่วยให้รู้ความเป็นไปต่างๆ
ในโลกและคุยกับลูกหลานหรือเพื่อนฝูงได้รู้เรื่องด้วย
เรียนรู้ที่จะเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ
การเรียนรู้ที่จะเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ
เป็นกำลังใจอย่างดีให้ผู้สูงวัยมีความกระตือรือร้นเช่นกัน
เมื่อเห็นว่าสิ่งที่กำลังทำนั้น มีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นอาชีพการงาน
หรือกิจกรรมการเป็นอาสาสมัครตามองค์กรการกุศล ไปเป็นครูอาสา
หรือแม้แต่การแวะไปดูเพื่อนบ้านที่อยู่ตัวคนเดียวว่าทุกอย่างโอเครึเปล่า
“จิตอาสา”
เป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง สถานที่หลายแห่งเปิดรับจิตอาสาหรือคนไปช่วยทำงานด้านต่างๆ
เพื่อส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นเพนท์ถุงผ้า
หรือทำไม้กวาดเพื่อนำไปบริจาคให้เด็กและวัดตามชนบท
โดยส่วนใหญ่มีการสอนวิธีทำที่หน้างาน
กิจกรรมเหล่านี้ยังเป็นโอกาสดีที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนทั้งวัยเดียวกันและต่างวัยด้วย
ทั้งยังเป็นการฝึกสมองในส่วนของกระบวนการรู้-คิด
ส่วนร่างกายก็ได้เคลื่อนไหวอยู่ตลอด
บางกิจกรรมยังเป็นฝึกสมาธิให้จดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ไม่โหยหาอดีต ไม่กังวลอนาคต
หากวันไหนไม่สะดวกออกนอกบ้าน
หรือร่างกายไม่เอื้ออำนวยให้เดินทางไปไหนไกลๆ ผู้สูงวัยก็สามารถใช้รูปแบบการทำงานที่”ยืดหยุ่น”ซึ่งคน
Gen ใหม่ชื่นชอบกัน นั่นคือทำงานผ่านอินเทอร์เน็ต
โดยผู้สูงวัยอาจรับงานอาสาตรวจเอกสารมาทำที่บ้านแล้วส่งงานทางอีเมล
หรือช่วยติววิชาต่างๆ ให้เด็กๆ ทางออนไลน์ ซึ่งมีประโยชน์ทั้งต่อสังคมและผู้สูงวัย
ที่มีโอกาสได้พูดคุยและใช้สมองอย่างต่อเนื่อง
ผู้สูงวัยที่มีทักษะด้านภาษา ยังอาจใช้ทักษะนี้ให้เป็นประโยชน์ด้วยทำงานกับกลุ่มอาสาสมัครระหว่างประเทศ ไปออกค่ายดูแลด้านสุขภาพและช่วยสอนเด็กๆ ตามชุมชนยากไร้ทั่วโลก
การทำตัวแอคทีฟและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
อยู่เสมอ อาจทำให้คนหนุ่มสาวเห็นแล้วอดคิดไม่ได้ว่าผู้สูงวัยในศตวรรษที่ 21
ไปเอาพลังงานและทัศนคติแง่บวกมาจากไหน
แน่นอนว่าผู้สูงวัยไม่สามารถกลับไปเป็นหนุ่มเป็นสาวได้อีกครั้ง แต่อายุขัยที่ยืนยาวขึ้น ก็มาพร้อมกับโอกาสในการเรียนรู้ที่มากขึ้นตามไปด้วย แถมด้วยโอกาสในการมีส่วนร่วมและช่วยเหลือสังคม ซึ่งการไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเองนี่เอง ทำให้วัยที่เพิ่มขึ้นนั้น เต็มไปด้วยคุณค่า