เจาะลึก ธุรกิจที่ใช้ AI ทำอย่างไร ถึงประสบความสำเร็จ และสิ่งที่ธุรกิจต้องเตรียมพร้อมในครึ่งปีหลัง 2567
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา AI Chatbot เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีมาแรง ที่องค์กรธุรกิจต่าง ๆ หันมาให้ความสำคัญอย่างมาก โดย AI Chatbot กลายมาเป็นเครื่องมือหลักที่ภาคธุรกิจนำมาใช้ในการสื่อสาร และให้ข้อมูลกับลูกค้าได้แบบเรียลไทม์ โดยข้อมูลของ Gartner ระบุว่า ภาคธุรกิจมีการนำ AI Chatbot ไปใช้มากขึ้นถึง 67% และคาดว่า AI Chatbot จะเป็นหนึ่งในช่องทางการสื่อสารหลักของธุรกิจภายในปี 2027 และด้วยความสามารถอันโดดเด่นของ AI Chatbot ที่ตอบโจทย์การให้บริการลูกค้า และขั้นตอนการทำงานได้มากกว่า ระบบตอบรับอัตโนมัติทั่วไป (Rule-based Chatbot) จึงทำให้ AI Chatbot ได้รับความนิยมจากภาคธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึก ธุรกิจที่ใช้ AI ทำอย่างไร ถึงประสบความสำเร็จ และสิ่งที่ธุรกิจต้องเตรียมพร้อมในครึ่งปีหลัง 2567 พร้อมไขกลยุทธ์ ใช้งานอย่างไร ให้ยอดขายเพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนลดลง

สร้าง AI Chatbot ใช้งานในธุรกิจ SME
อาจมีอีกหลายธุรกิจที่กำลังมองหา AI Chatbot ไปใช้งาน เพื่อยกระดับการให้บริการลูกค้า แต่ยังมีความกังวลเรื่องขั้นตอนในการพัฒนาระบบ การรวบรวมข้อมูลสร้างคลังข้อมูลการใช้งานว่าจะใช้เวลานาน และใช้งานยากหรือไม่ รวมถึงเรื่องงบประมาณในการพัฒนา ดังนั้นเราจะมาแนะนำวิธีการสร้าง AI Chatbot ไว้ใช้งานภายในองค์กร เพื่อให้ธุรกิจสามารถนำ AI Chatbot ไปใช้ในการให้บริการลูกค้ากันได้อย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยเป็นตัวกลางการสื่อสารระหว่างองค์กรและลูกค้าของตัวเอง เพื่อให้องค์กรที่กำลังวางแผนจะสร้าง Chatbot ปรับปรุงแผนของตนเอง โดยก่อนจะเริ่มสร้าง Chatbot เราควรมีขั้นตอนการเตรียมความพร้อมและศึกษาข้อมูลดังนี้
1. เข้าใจจุดเด่นและข้อจำกัดของ Chatbot
Chatbot เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีการนำ AI มาเชื่อมต่อกับช่องทาง Chat ที่ผู้ใช้งานต้องการเช่น LINE, Facebook Messenger หรือ Live Chat บน Website ซึ่งจุดเด่นของ Chatbot มีหลายอย่างเช่น
สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายและสามารถออกแบบการสื่อสารได้อย่างมีความเป็นตัวตนมากกว่าช่องทางอื่น ๆ เช่น Website หรือ Mobile App
สามารถส่งข้อความได้หลากหลายประเภทเช่น Carousel, Image, Button, LINE Flex Message หรือ Image Map ซึ่งสามารถทำให้ Conversational Experience ของ User ดีกว่าปกติ ทำให้สามารถออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ (User Experience — UX) ในการเลือกสินค้า/บริการได้คล้าย ๆ กับการใช้งานบน Mobile App
สามารถแจ้งเตือนหรือส่งข้อมูลสินค้าไปหาลูกค้าได้ผ่านทางช่องทาง Chat ที่ลูกค้าคุ้นเคย ทำให้มี Conversion Rate ที่สูงกว่าการใช้ Email หรือ Mobile Push Notification

2. วางแผนกลยุทธ์ด้านการแชทภาพรวมขององค์กร
ถึงแม้ AI Chatbot จะเป็นเทคโนโลยีที่ในองค์กรต่างมีไอเดียในการนำไปใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพบริการของตนเอง แต่สิ่งสำคัญที่สุดในการสร้าง Chatbot คือการวางแผนกลยุทธ์โดยนำจุดเด่นและข้อจำกัดมาใช้งานให้มีประสิทธิภาพ หากลองเปรียบเทียบความสามารถและ User Experience (UX) กับ Website และ Mobile App, Chatbot จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันดังนี้
โดยเราจะสังเกตได้ว่า Chatbot จะมีความสามารถในการรองรับการค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ได้ดีที่สุด เนื่องจาก User สามารถค้นหาด้วยภาษาธรรมชาติได้ (Natural Language Processing — NLP) ในขณะเดียวกัน Chatbot ก็มีความสามารถในการเข้าถึง (User Reach) ได้ดีกว่า Mobile App
ดังนั้นกลยุทธ์ในการสร้าง Chatbot จึงไม่ควรเป็นการสร้างขึ้นมาเพื่อเลียนแบบ Mobile App หรือ Website แต่ควรเป็นการสร้างขึ้นมาเพื่อเสริมส่วนที่ขาดหาย เช่น การใช้ Chatbot ช่วยในการรองรับลูกค้าที่มองหาข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น
- โดยใช้ Chatbot ตอบคำถาม FAQ และใช้ Agent เข้ามาช่วยตอบคำถามที่มีความซับซ้อน
- ใช้ Chatbot เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่ง Marketing message, สร้าง Lead ใหม่หรือ Upsell / Cross-sell ลูกค้าปัจจุบัน
- การเชื่อมต่อกับ Mobile App เมื่อ User ต้องการทำธุรกรรม (Transaction) ต่าง ๆ โดยเฉพาะธุรกรรม ที่จำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นความลับ
โดยจะเห็นว่า Chatbot สามารถถูกนำไปใช้งานได้หลาย ๆ Use Case และหลาย ๆ Product ดังนั้นกลยุทธ์การใช้งาน Chatbot ควรวางแผนงานกับกลยุทธ์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับภาพรวมขององค์กรก่อน เช่น องค์กรมีความต้องการที่จะปรับปรุงและเดินหน้าไปทางด้านผลิตภัณฑ์ไหน? หรือต้องการขยายการบริการให้กับลูกค้าในส่วนใด? และเราจะสามารถนำข้อได้เปรียบของ Chatbot เข้ามาใช้ประโยชน์เสริมไปยังแผนงานดังกล่าวได้อย่างไร?

3. กำหนด KPI ที่ชัดเจนให้กับ Chatbot
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องคำนึงถึงเมื่อเริ่มวางแผนโครงการ Chatbot คือการกำหนด KPI วัดผลของ Chatbot ที่ชัดเจน เช่น เพิ่มผู้ติดตามรับข่าวสาร (Subscribers) ของ Chatbot ให้ได้ 80,000 คนภายใน 3 เดือน มีคนใช้คูปองที่ส่งออกไป 100,000 คนภายใน 6 เดือน สามารถช่วย Agent รับเรื่องและแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้อย่างน้อย 10% มีคะแนนความพึงพอใจของลูกค้าที่เข้ามาใช้อย่างน้อย 4.5/5 คะแนน มีลูกค้าพึงพอใจอย่างน้อย 70%
โดยการกำหนด KPI ดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นและจุดมุ่งหมายของการออกแบบ User Experience (UX) และความสามารถของ Chatbot ทั้งหมด รวมถึงจะเป็นการวัดผลหลักเพื่อทำการปรับจูนแบบ Continuous improvement เมื่อเริ่มใช้งานจริง
เหตุผลที่ธุรกิจ SME ยุคใหม่ควรนำ AI Chatbot มาใช้งาน
การนำ AI Chatbot มาใช้งานภายในธุรกิจ จะช่วยยกระดับขั้นตอนการทำงานให้สะดวก รวดเร็ว มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับด้านการให้บริการลูกค้าทั้งภายใน และภายนอกองค์กร โดยเหตุสำคัญที่ธุรกิจควรนำ AI Chatbot มาใช้งานมีดังต่อไปนี้

1. ยกระดับการให้บริการลูกค้า
AI Chatbot สามารถตอบคำถาม และให้บริการลูกค้าได้โดยไม่ต้องหยุดพัก ซึ่งต่างจากพนักงานที่มีความเหนื่อยล้า และอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงทำให้ธุรกิจมั่นใจได้ว่าลูกค้าจะได้รับบริการแบบเรียลไทม์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ายุคใหม่ที่ต้องการบริการรวดเร็วทันใจ และสะดวกสบาย อีกทั้งยังสร้างประสบการณ์ดี ๆ ให้กับลูกค้าด้วยบริการที่ประทับใจ ทำให้เพิ่มโอกาสในการกลับมาซื้อซ้ำอย่างต่อเนื่อง
2. คุ้มค่ากับการลงทุน
การจ้าง และเทรนพนักงานให้บริการใหม่เพิ่มนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูง เมื่อเทียบกับการนำ AI Chatbot เข้ามาใช้งานเพื่อให้ช่วยจัดการหน้าที่บางอย่างที่ต้องทำซ้ำ ๆ ไปมาได้แบบอัตโนมัติ และตอบคำถามที่ลูกค้ามักจะสอบถามเข้ามาบ่อย ๆ ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดการ ยังช่วยให้พนักงานมีเวลาโฟกัสกับงาน หรือเคสของลูกค้าที่มีความซับซ้อนได้มากขึ้น
3. รองรับการเติบโตของธุรกิจ
เมื่อธุรกิจของคุณเติบโตมากขึ้น ย่อมมีลูกค้าติดต่อเข้ามามากขึ้นเช่นกัน การนำ AI Chatbot มาใช้งานจะช่วยธุรกิจรองรับปริมาณลูกค้าที่มากขึ้นโดยที่ไม่จำเป็นต้องเพิ่มคนตาม หรือเพิ่มคนในจำนวนที่น้อยกว่า ทำให้สามารถจัดการงานจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. ตอบโจทย์การสื่อสารในหลากหลายช่องทาง
ในยุคนี้เราสามารถสื่อสารได้ผ่านทางหลากหลายช่องทาง ทำให้ลูกค้าคาดหวังที่จะได้รับการช่วยเหลือได้จากหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย และแอปส่งข้อความต่าง ๆ AI Chatbot สามารถตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ด้วยความสามารถในการเชื่อมต่อกับช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก และง่ายดาย ทำให้สามารถช่วยเหลือลูกค้าได้ไม่ว่าลูกค้าจะติดต่อผ่านมาทางช่องทางใด ซึ่งจะช่วยยกระดับประสบการณ์การให้บริการลูกค้าได้เป็นอย่างดี
5. ให้ข้อมูลเชิงลึก
ทุก ๆ ปฏิสัมพันธ์ที่ใช้ AI Chatbot ในการสนทนากับลูกค้าทำให้ธุรกิจได้ข้อมูลที่มีคุณค่าที่สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์เพื่อให้ได้เป็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมลูกค้า ความชอบ และ Pain Point ในการใช้งาน ด้วยการนำข้อมูลเชิงลึกที่ได้มาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ทำให้ธุรกิจสามารถตัดสินใจได้ดีมากยิ่งขึ้น ปรับปรุง และพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการ และปรับกลยุทธ์ทางการตลาดได้อย่างเหมาะสมเพื่อให้ได้ผลทางธุรกิจที่ดียิ่งขึ้น
6. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจ
ในปัจจุบันที่ธุรกิจมีการแข่งขันสูง การส่งมอบประสบการณ์การให้บริการลูกค้าที่ดีเยี่ยมจะสร้างความแตกต่าง และโดดเด่นให้กับธุรกิจได้เป็นอย่างดี ด้วยการนำ AI Chatbot มาใช้งานถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรม และความพึงพอใจของลูกค้าที่จะเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขันที่สามารถขับเคลื่อนการเติบโต และความสำเร็จให้กับธุรกิจได้
ตัวอย่าง AI Chatbot ที่นำไปประยุกต์ใช้งานกับธุรกิจต่าง ๆ
AI Chatbot สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลายแพลตฟอร์มและหลายธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อยกระดับประสบการณ์การให้บริการลูกค้า และช่วยลดภาระงานของพนักงาน ทำให้มีเวลาโฟกัสกับเคสลูกค้าที่มีความซับซ้อนได้มากขึ้น โดยตัวอย่างประเภทธุรกิจที่สามารถนำ AI Chatbot ไปใช้งานได้มีดังต่อไปนี้

1. ธุรกิจการเงิน และธนาคาร
ปัจจุบัน ธุรกิจการเงิน และธนาคาร เป็นธุรกิจที่มีการนำ AI Chatbot ไปใช้งานอย่างแพร่หลาย เนื่องจาก AI Chatbot ได้เข้าไปช่วยให้การตอบคำถามลูกค้าเกี่ยวกับการทำธุรกรรมต่าง ๆ ทำได้อย่างเป็นอัตโนมัติได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังช่วยจัดการงานบางอย่างได้เอง โดยที่ไม่จำเป็นต้องให้พนักงานเป็นคนทำ เช่น การเช็กยอดคงเหลือในบัญชี การเช็กยอดค้างจ่ายบัตรเครดิต หรือการส่งต่อคำขอต่าง ๆ เป็นต้น ที่จะช่วยให้ลูกค้าได้รับบริการแบบเรียลไทม์ และยังช่วยลดภาระงานบางอย่างของพนักงานได้ ทำให้มีเวลาโฟกัสลูกค้าที่มีความสำคัญ และซับซ้อนมากกว่าได้

2. ด้านการแพทย์
ระบบ AI Chatbot ช่วยประเมินอาการซึมเศร้าของผู้ใช้งาน กรณีพบว่าผู้รับการประเมินมีอาการซึมเศร้ามาก ระบบจะช่วยตัดสินใจให้ผู้รับการประเมินไปพบแพทย์ได้เร็วขึ้น
3. ธุรกิจประกัน
เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีการนำ AI Chatbot มาใช้กันอย่างแพร่หลายเช่นกัน เพื่อสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการด้วยบริการที่รวดเร็ว และทันใจ รวมถึงธุรกิจประกันเป็นธุรกิจที่ต้องมีการให้ข้อมูลลูกค้าอย่างละเอียดเกี่ยวกับรายละเอียดกรมธรรม์ หรือรายละเอียดการเคลมสินไหม ซึ่งมักจะมีศัพท์เฉพาะของธุรกิจประกันที่ Chatbot ทั่วไปอาจจะไม่สามารถเข้าใจศัพท์เฉพาะเหล่านี้ได้ จึงทำให้ AI Chatbot เข้ามาช่วยลดภาระงานให้กับพนักงาน ด้วยการช่วยคัดกรองลูกค้า และช่วยจัดการคำขอบางอย่างของลูกค้าให้ได้ในเบื้องต้น ทำให้ลูกค้าได้รับบริการได้แบบเรียลไทม์
4. ธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์
ธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มักจะนำ AI Chatbot เข้ามาใช้งานด้วยการ Plug in AI Chatbot เข้ากับเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันของธุรกิจ เพื่อให้ลูกค้าที่เข้าใช้งานซอฟต์แวร์ หรือแอปพลิเคชันสามารถค้นหาข้อมูล หรือสอบถามสิ่งที่ต้องการรู้จาก AI Chatbot ได้ทันที เปรียบเสมือนกับมีระบบ Customer self service ให้กับลูกค้า ทำให้ลูกค้าสามารถแก้ไขปัญหาบางอย่างได้ด้วยตนเองในเบื้องต้น และมีผู้ช่วยในการตอบคำถามลูกค้าได้แบบเรียลไทม์ที่จะสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างดี
5. ธุรกิจการผลิต
สำหรับภาคธุรกิจการผลิตสามารถนำ AI Chatbot ไปใช้งานภายในองค์กรได้ ทั้งในมุมของการให้บริการลูกค้า และการตอบคำถามพนักงานภายในองค์กร เพื่อให้ AI Chatbot ช่วยกรองลูกค้าให้ในเบื้องต้น รวมไปถึงการประมวลผลการสั่งซื้อจากลูกค้า สามารถส่งข้อมูลที่ได้รับจากลูกค้า เข้าสู่กระบวนการผลิต ช่วยลดต้นทุน และเกิดความแม่นยำ อีกทั้งช่วยการลด Stock ของสินค้าได้

6. ด้านธุรกิจค้าปลีก
ระบบ Chatbot ช่วยตอบคำถามลูกค้าผ่าน LINE และ Facebook ได้อัตโนมัติ โดยผู้ขายสามารถนำเวลาที่ต้องตอบคำถามซ้ำ ๆ เหล่านี้ ไปบริหาร ดูแล และจัดการในส่วนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
7. ด้านธุรกิจเดลิเวอรี่
ระบบ Chatbot สามารถเชื่อมต่อกับไรเดอร์และลูกค้าได้อย่างสะดวก ตั้งแต่การแชร์ Location ผ่านแชท คำนวณราคาจัดส่ง และระบบการชำระเงิน

สิ่งที่ธุรกิจ SME ต้องเตรียมพร้อมในครึ่งปีหลัง 2567
สำหรับในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 นี้ มีแนวโน้ม AI ที่น่าสนใจและมีความสำคัญสำหรับธุรกิจ SME ที่ควรจับตามอง ดังนี้

1. การพัฒนาและการนำ AI ไปใช้ในผลิตภัณฑ์และบริการเฉพาะด้าน (Industry-Specific AI Solutions)
ธุรกิจเริ่มใช้ AI ที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับอุตสาหกรรมของตน เช่น AI สำหรับการแพทย์ การเงิน หรือการผลิต โดยมีการพัฒนาโมเดล AI ที่สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะด้านมากขึ้น เช่น การวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์ หรือการคาดการณ์ราคาหุ้น ธุรกิจควรมองหาวิธีการนำ AI ที่เจาะจงและเหมาะสมกับอุตสาหกรรมของตนมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
ยกตัวอย่าง
- IBM Watson Health ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์และการวิจัยเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษา โดยมีระบบที่ช่วยในการตรวจจับโรคและเสนอทางเลือกในการรักษาได้อย่างแม่นยำ
- Fintech – Square ใช้ AI เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการทำธุรกรรมและพฤติกรรมของผู้ใช้ เพื่อคาดการณ์แนวโน้มทางการเงิน และช่วยในการป้องกันการฉ้อโกง

2. AI และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Advanced Data Analytics)
การใช้ AI เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกที่มากขึ้น เช่น การใช้ Machine Learning และ Deep Learning ในการวิเคราะห์ข้อมูลจากหลายแหล่ง เช่น ข้อมูลทางการตลาด ข้อมูลลูกค้า หรือข้อมูลการดำเนินงาน ธุรกิจสามารถใช้ข้อมูลเชิงลึกนี้ในการตัดสินใจที่ดียิ่งขึ้น การวิเคราะห์เชิงพาณิชย์เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดหรือการปรับกลยุทธ์ธุรกิจ
ยกตัวอย่าง
- Netflix ใช้ AI และ Machine Learning เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการชมของผู้ใช้และเสนอเนื้อหาที่ตรงตามความสนใจของแต่ละบุคคล ส่งผลให้สามารถเพิ่มเวลาในการชมและรักษาผู้ใช้ไว้กับแพลตฟอร์ม
- Amazon ใช้ AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าและสินค้าทั้งหมด เพื่อคาดการณ์แนวโน้มการซื้อและจัดการสต็อกสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยลดการขาดแคลนสินค้าหรือการจัดเก็บเกินสต็อก

3. AI และการทำงานร่วมกัน (Collaborative AI)
การพัฒนา AI ที่สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือ Collaborative AI เช่น ระบบที่ช่วยในการทำงานร่วมกันระหว่างทีมงานหรือในการทำงานในองค์กร โดย AI อาจช่วยในเรื่องการประสานงาน การสื่อสาร หรือการจัดการโครงการได้ดีขึ้น ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในองค์กร
ยกตัวอย่าง
- Slack ใช้ AI เพื่อปรับปรุงการทำงานร่วมกันภายในทีม โดยการให้ข้อเสนอแนะในการจัดการโครงการ และการคัดกรองข้อความสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
- Microsoft 365 ใช้ AI ในการทำงานร่วมกัน โดยการใช้ฟีเจอร์เช่น Microsoft Copilot ที่ช่วยในการสร้างเอกสาร การวิเคราะห์ข้อมูล และการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
4. AI สำหรับการจัดการและการปรับปรุงประสบการณ์ลูกค้า (Customer Experience Enhancement)
การใช้ AI เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ลูกค้าให้ดีขึ้น เช่น การใช้ Chatbot ที่สามารถตอบสนองคำถามของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ หรือการใช้ AI ในการคาดการณ์ความต้องการของลูกค้า และเสนอข้อเสนอที่เหมาะสม ธุรกิจจะสามารถเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าและเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
ยกตัวอย่าง
- Sephora ใช้ AI ในการปรับปรุงประสบการณ์การช็อปปิ้งของลูกค้า โดยการใช้แชทบอทในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ หรือการใช้ AI เพื่อเสนอแนะเครื่องสำอางที่ตรงตามความต้องการของลูกค้า
- ChatGPT by OpenAI ใช้ AI ในการสร้างประสบการณ์การสนทนาที่มีคุณภาพสำหรับลูกค้า โดยการตอบคำถามให้ข้อมูลและแก้ไขปัญหาของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

5. การจัดการความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล (Data Privacy and Security)
จากรายงานของ Check Point Threat Intelligence Report ระบุว่า องค์กรในประเทศไทยถูกโจมตี โดยเฉลี่ย 1,956 ครั้งต่อสัปดาห์ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 61% สถิติที่น่าตกใจนี้ ทำให้เกิดภาพที่น่ากังวลเกี่ยวกับภาพรวมความปลอดภัยในปัจจุบันของประเทศไทย จากการโจมตีทาง ไซเบอร์ที่บ่อยครั้ง ควบคู่ไปกับแผน AI เชิงรุก ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงในหลากหลายมิติเพื่อการเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่น
การใช้ AI เพื่อการจัดการและป้องกันความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและความปลอดภัย โดยเฉพาะการใช้ AI ในการตรวจจับและป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ การจัดการข้อมูลที่ละเอียดอ่อน หรือการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความเป็นส่วนตัว เช่น GDPR ธุรกิจจึงต้องให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลลูกค้า
การติดตามแนวโน้มเหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเอไอเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ เพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า และรักษาความปลอดภัยของข้อมูล การนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในทางที่เหมาะสมจะช่วยให้ธุรกิจมีความได้เปรียบในการแข่งขันและตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในตลาด
ยกตัวอย่าง:
- Darktrace ใช้ AI ในการตรวจจับภัยคุกคามทางไซเบอร์และการป้องกันความเสี่ยง โดยระบบ AI ของพวกเขาสามารถเรียนรู้พฤติกรรมที่ผิดปกติในเครือข่ายและตอบสนองต่อการโจมตีในทันที

ความท้าทายของไทยในการแข่งขันด้าน AI กับทั่วโลก
ปัจจุบันตลาด Generative AI ทั่วโลก มีการลงทุนด้าน Generative AI มากกว่า 180,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าในปี 2030 จะมีการลงทุนมากกว่า 800,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และตลาดที่ใหญ่ที่สุด ก็คือสหรัฐอเมริกา ดังนั้น Generative AI มีความสำคัญและถูกนำมาใช้งานอย่างกว้างขวางในการทำงาน เพราะสามารถลดต้นทุนและประหยัดเวลาทำงานไปพร้อมกันได้
ดังนั้น การผสมผสาน AI เข้ากับเศรษฐกิจของประเทศไทยคาดว่าจะช่วยเพิ่ม GDP อย่างมาก โดยคาดการณ์ว่าตลาด AI ในประเทศไทยจะเติบโตถึง 28.55% ในปีนี้
โดยได้รับแรงหนุนจากการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม
การเติบโตนี้ไม่เพียงแสดงถึงศักยภาพของ AI เท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของประเทศในการเป็นผู้นำในภูมิภาคด้านการประยุกต์ใช้ AI ด้วยการส่งเสริมวัฒนธรรมนวัตกรรมและความร่วมมือ ประเทศไทยสามารถเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดโลก
เมื่อ AI คือเทคโนโลยีลูกใหม่ที่สามารถเข้ามาเป็นตัวเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ในทุกอุตสาหกรรม ทำให้ประเทศต่าง ๆ ให้ความสนใจและเร่งออกนโยบายสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนา AI อย่างเข้มข้น เพื่อให้ก้าวทันเทคโนโลยีที่กำลังจะเป็นมาตรฐานใหม่ แต่การพัฒนา AI ให้ประสบความสำเร็จและสามารถต่อยอดไปในทางอื่น ๆ ได้ประกอบด้วยปัจจัยสำคัญ 2 ประการ ดังนี้
1. ระบบนิเวศของแต่ละประเทศ ในการสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ และเทคโนโลยี (Overall Environment) ซึ่ง
เป็นปัจจัยสำคัญในการบ่มเพาะการเติบโตของสิ่งประดิษฐ์และความคิดใหม่ ๆ เช่น กฎหมายการคุ้มครอง
ทรัพย์สินทางปัญญา ความสามารถในการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและคุณภาพของ
สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในประเทศ เป็นต้น
2. การเตรียมพร้อมรับมือของผู้ประกอบการ (Business Embracement)
ซึ่งเป็นปัจจัยในการรับ AI มาใช้จริงในภาคธุรกิจ เช่น ประโยชน์ทางธุรกิจที่จะได้รับหากนำ AI มาใช้ยกระดับความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและภาคการศึกษา และความตื่นตัวของธุรกิจในการลงทุนด้าน AI เป็นต้น
ทั้งนี้ หากเทียบความพร้อมในการรับ AI ของประเทศไทย เมื่อเทียบกับประเทศอื่น 10 ประเทศ ผ่านปัจจัยหลัก 2 ประการดังที่กล่าวข้างต้น จะสามารถแบ่งกลุ่มประเทศทั้ง 10 ออกเป็น 3 กลุ่มหลักคือ
1. ผู้บุกเบิกการพัฒนา AI (Frontier) คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา
2. ผู้นำด้าน AI (Leaders) ประกอบด้วย ญี่ปุ่น จีน แคนาดา เยอรมนี และฝรั่งเศส ซึ่งมีโครงสร้างทางสถาบันที่ส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ เช่น กฎหมายความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มแข็ง ระดับความเปิดกว้างในการรับเทคโนโลยีจากนานาชาติและสถาบันวิจัยที่มีคุณภาพ
3 . ผู้ตามด้าน AI (Followers) ประกอบด้วย อินโดนีเซีย อินเดีย ไทย และเวียดนาม ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ไม่ได้คิดค้นพัฒนา AI และยังขาดปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี สะท้อนจากระดับของการคิดค้นนวัตกรรมในปัจจุบัน ผลิตภาพเพิ่มขึ้นไม่มากนัก จากการนำระบบ Automation ซึ่งเป็นเทคโนโลยีก่อนหน้า AI มาใช้ส่งผลให้ธุรกิจยังมีข้อจำกัดหรือความลังเลในการรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง AI

จากข้อมูลของ McKinsey ชี้ว่า ธุรกิจที่มีการนำ AI มาใช้มากที่สุดในอาเซียน คือ ภาคโทรคมนาคม ภาคการเงิน ธุรกิจการขนส่ง และกลุ่มสุขภาพและโรงพยาบาล ขณะที่ประเทศไทยพบว่า การนำเทคโนโลยีมาใช้ ยังจำกัดอยู่ในภาคโทรคมนาคมและโรงพยาบาลเป็นหลัก สอดคล้องกับข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการในไทยกว่า 1,800 ราย เกี่ยวกับการตัดสินใจลงทุนใน ARTIFICIAL INTELLIGENCE IN THAILAND ระบบ Automation และซอฟท์แวร์ซึ่งพบว่า อุตสาหกรรมในไทยส่วนใหญ่ที่ลงทุนด้าน AI คือ กลุ่มโทรคมนาคม กลุ่มโรงพยาบาลและภาคการผลิต
ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการค้นคว้าและพัฒนานวัตกรรมใหม่ เพื่อก้าวให้ทันประเทศต่าง ๆ ให้ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่มากที่สุด โดย 3 อุปสรรคหลักในการพัฒนา AI จากแบบสอบถามของผู้บริหารทั่วโลก คือ (1) ด้านข้อมูล (Big Data) (2) ด้านแรงงาน และ (3) ด้านวัฒนธรรมองค์กรและการให้ความสำคัญของผู้บริหาร ซึ่งไทยเรามีข้อได้เปรียบประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่มผู้ตามด้วยกัน คือเรื่องข้อมูลเนื่องจากประชากรไทยมีอัตราการเข้าถึงสมาร์ทโฟนที่ค่อนข้างสูง จึงเกิดร่องรอยทางดิจิทัล (Digital Footprint) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญต่อการพัฒนา AI แต่ยังต้องเร่งพัฒนาในด้านแรงงานและวัฒนธรรมด้วย
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ในปีนี้ AI และ Machine Learning มีความโดดเด่นและมาแรงมาก จึงถูกนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายในแทบทุกวงการธุรกิจ เหตุเพราะสามารถตอบโจทย์ได้ทั้งผู้ประกอบการธุรกิจและผู้บริโภค ที่สำคัญปัจจุบันเริ่มใช้งานง่ายขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอาชีพนำข้อมูลและเครื่องมือเหล่านี้ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการในการทำงานได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น เทคโนโลยีใหม่นี้ ย่อมส่งผลต่อดีต่อ SME ไทย หากใครสามารถปรับและนำไปใช้งานได้ก่อน ย่อมเป็นโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจอย่างแน่นอน
อ้างอิง :
ธนาคารแห่งประเทศไทย