AEC Connect | ‘อาเซียน’ เล็งคว้าโอกาส ตามรอย ‘ยุโรป’ ใช้ไฮโดรเจน
ยุโรปกำลังสนับสนุนการใช้ไฮโดรเจนสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาความเป็นอิสระด้านพลังงาน หลังจากมีการรุกรานของรัสเซียในยูเครน โดยยุโรปได้เพิ่มเป้าหมายการผลิตและนำเข้าก๊าซธรรมชาติจำนวน 15 ล้านตันต่อปี
ในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ราคาพลังงานในภูมิภาคพุ่งสูงขึ้นจากสงคราม คณะกรรมาธิการยุโรปจึงได้ออกข้อเสนอ ‘RepowerEU’ มาเพื่อสร้างความมั่นใจว่ายุโรปจะเป็นอิสระจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลของรัสเซียก่อนสิ้นทศวรรษนี้ ซึ่งการเพิ่มปริมาณการใช้ ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’ ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของแผนเช่นกัน
ปัจจัยนี้จึงช่วยเร่งการใช้กลยุทธ์ไฮโดรเจนของคณะกรรมาธิการที่เปิดตัวในปี 2563 ซึ่งเรียกร้องให้มีการลงทุนมูลค่า 470 ล้านยูโร ภายในปี 2593 และตั้งเป้าการผลิตก๊าซพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านตันภายในปี 2573 ซึ่งในตอนนี้ RepowerEU ได้เพิ่มจำนวนขึ้นอีก 5 ล้านตัน และเพิ่มจำนวนไฮโดรเจนนำเข้าอีก 10 ล้านตัน
อย่างไรก็ดี ความต้องการไฮโดรเจนจะเติบโตอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่จะถึงนี้ โดย Hydrogen Council คาดว่าอุปสงค์จะเพิ่มขึ้นถึง 40% ในปี 2573 และเพิ่มขึ้นเกือบ 200% ในปี 2583 โดยมีเทคโนโลยีหลัก 2 เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการผลิตไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำในปริมาณมาก
เทคโนโลยีที่ 1 คือ การดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) จะได้ผลผลิตเป็น ‘ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน’ โดยจะใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการดักจับและส่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปตามท่อ เพื่อกักเก็บระยะยาวไว้ในโพรงทางธรณีวิทยา ซึ่งจะพบมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เทคโนโลยีที่ 2 คือ การใช้กระบวนการอิเล็กโทรลิซิสจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อแยกไฮโดรเจนและออกซิเจนออกจากน้ำ ทำให้เกิดเป็น ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’
อย่างไรก็ดี ไฮโดรเจนสีน้ำเงินจะมีความสามารถในการแข่งขันได้มากขึ้น เนื่องจากประเทศต่างๆ มีการเพิ่มราคาการปล่อยก๊าซคาร์บอน ทำให้ไฮโดรเจนสีเทาที่ผลิตมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเริ่มมีราคาแพงกว่า ส่วนราคาของไฮโดรเจนสีเขียวก็ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยมีผลมากจากต้นทุนพลังงานหมุนเวียนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งราคาไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลงถึง 35% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะลดลงอีก 60-70% ในทศวรรษที่จะถึงนี้
‘โอกาสของอาเซียน’
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นผู้ผลิตไฮโดรเจนสีเทารายใหญ่ เนื่องจากต้องรองรับอุตสาหกรรมการผลิตเหล็ก การกลั่น และปิโตรเคมีขนาดใหญ่จำนวนมาก ดังนั้นความต้องการไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำที่เพิ่มขึ้นจะสร้างโอกาสครั้งใหญ่ให้กับอาเซียนได้
นอกจากนี้ อาเซียนยังเป็นผู้นำของไฮโดรเจนสีน้ำเงินและยังมีรากฐานในการขยายขนาดการใช้เทคโนโลยี CCS ที่แข็งแกร่ง อีกทั้งยังมีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นหนึ่งในผู้ผลิตไฮโดรเจนสีเขียวที่สามารถแข่งขันได้ทั่วโลก เนื่องจากมีทรัพยากรหมุนเวียนคุณภาพสูงอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ โดยการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวของท้องถิ่นเพียงพอต่อการบริโภคภายในภูมิภาค และสามารถรองรับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากภาคการขนส่งและการผลิตไฟฟ้าคาร์บอนต่ำ รวมถึงการส่งออกไปยังประเทศที่มีความต้องการสูงอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างระบบนิเวศที่ช่วยสนับสนุนนวัตกรรมและการเติบโตดังกล่าว ซึ่งรวมไปถึงการสร้างกรอบกฎหมายและข้อบังคับเพื่อสร้างแรงจูงใจและส่งเสริมการลงทุนในการผลิตพลังงานคาร์บอนต่ำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคา CO2 ภาษี การค้าการปล่อยมลพิษ หรือเงินจูงใจสำหรับเทคโนโลยี CCS ก็ตาม
ที่มา:
https://sciencebusiness.net/climate-news/news/hydrogen-get-boost-eu-looks-secure-energy-independence
ผู้เขียน: ณภัสสร มีไผ่แก้ว
╔═══════════╗
ติดตามช่องทางอื่นๆ ของ AEC Connect
╚═══════════╝