ปัจจุบันสถานการณ์ตลาดข้าวในอาเซียนมีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น
เพราะในอาเซียน 10 ประเทศ
มีทั้งประเทศที่เป็นผู้ผลิตข้าว อาทิ ไทย เวียดนาม เมียนมา กัมพูชา ลาว
และมีทั้งประเทศที่ยังเพาะปลูกข้าวไม่เพียงพอจำเป็นต้องนำเข้าข้าว หรือเป็นประเทศผู้บริโภคข้าว
อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และบรูไน
จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) ระบุว่า ในแต่ละปีอาเซียนสามารถผลิตข้าวได้เฉลี่ย 120 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งเป็นการใช้เพื่อบริโภคภายในประมาณ 105 ล้านตันข้าวสาร และที่เหลืออีก 15 ล้านตันจากการบริโภคก็จะถูกนำไปส่งออก
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
โดยล่าสุดในฤดูการผลิต ปี 2563/2564 คาดว่าจะมีผลผลิต 115.61 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ประมาณ 2.05% และคาดว่าจะมีสต๊อก
14.09 ล้านตัน ลดลง 1.60% จากปีก่อน
โดยประเทศที่มีการปลูกข้าวเพิ่มขึ้นในปีนี้ มีทั้งอินโดนีเซีย ไทย เมียนมา และกัมพูชา
ส่วนเวียดนามคาดว่าผลิตได้ลดลง จากพื้นที่ปลูกข้าวลดลง
เนื่องจากข้าวยังถือเป็นอาหารหลักของประชากรในอาเซียน
ซึ่งมีจำนวนผู้บริโภคมากถึง 600 ล้านคน จะนำข้าวมาประกอบอาหารทั้งคาวและหวาน ด้วยเหตุที่จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นทำความต้องการบริโภคข้าวเพิ่มขึ้น
และยิ่งประชาชนยุคใหม่ใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ก็จะยิ่งหันมานิยมบริโภคข้าวที่มีคุณภาพดี
และข้าวพิเศษเพื่อสุขภาพ เช่น ข้าวอินทรีย์ หรือข้าวเฉพาะเพื่อสุขภาพ เช่น
ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวหอมนิล ข้าวหอมมะลิแดงเป็นต้น
แม้ว่าแนวโน้มความต้องการบริโภคข้าวเพิ่มขึ้น
แต่ปรากฏว่าในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.)
ของปี 2563 ไทยส่งออกข้าวได้ 4.04 ล้านตัน
ลดลง 30% ขณะที่เวียดนามส่งออกได้ 4.99 ล้านตัน ลดลง 1.9% จากปีก่อนที่ส่งออกได้ 5.06
ล้านตัน (สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย : 2563) จึงถือว่าปี 2563 นี้ เวียดนามยังครองตลาดส่งออกเหนือกว่าไทย
จากในอดีตที่ไทยเคยส่งออกได้มากกว่าเวียดนาม
นี่จึงนับว่าเป็นความท้าทายสำหรับการส่งออกข้าวไทยในอนาคต
โดยปัจจัยสำคัญมาจากการที่ราคาข้าวไทยสูงกว่าราคาข้าวเวียดนามค่อนข้างสูง
โดยยกตัวอย่างเช่น ราคาข้าวหอมมะลิไทยตันละ 1,000 เหรียญสหรัฐ สูงกว่าราคาข้าวหอมเวียดนามตันละ 500 เหรียญสหรัฐ
และยังสูงกว่าคู่แข่งน้องใหม่อย่างกัมพูชาซึ่งราคาตันละ 800-900 เหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มว่าการแข่งขันด้านราคาจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
เพื่อแต่ละประเทศต่างมีแนวโน้มที่จะเพิ่มการปลูกข้าวมากยิ่งขึ้น
ดังนั้นไทยต้องวางกลยุทธ์เรื่องรักษาตำแหน่งการเป็นผู้ส่งออกข้าวไทยให้ดี
ว่าจะรักษาตลาดอย่างไร มุ่งเน้นสินค้าเพื่อผู้บริโภคกลุ่มใด
และต้องพยายามรักษาอัตลักษณ์ข้าวไทยไว้ให้ได้
สำหรับกลยุทธ์สำคัญในการเจาะตลาด
ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์มุ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คือการร่วมกิจกรรมการทำการตลาดกับห้างค้าปลีกต่างๆ
หรือที่เรียกว่า In store Promotion ทั้งผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์
เพื่อประชาสัมพันธ์ข้าวไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น
ในกลุ่มผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ รวมถึงการจัดกิจกรรมร่วมกับร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ที่ได้รับการรับรองตราสัญลักษณ์
Thai Select ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความมั่นใจในการบริโภคข้าวไทย
และที่สำคัญต้องพัฒนาต่อยอดสินค้าข้าวไปสู่สินค้าอาหารแปรรูปชนิดต่างๆ เช่น ขนมขบเคี้ยวจากข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว น้ำมันรำข้าว น้ำนมข้าว เครื่องสำอางจากข้าว และเวชภัณฑ์จากข้าว เป็นต้น เพื่อเพิ่มมูลค่าและเพิ่มโอกาสทางการค้าให้ข้าวไทยด้วย