‘เคลาส์
ชวาบ’
ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic
Forum) ได้เขียนถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที 4
หรือที่เรียกว่า 4IR (The Fourth Industrial Revolution) เป็นหนังสือที่ให้ภาพรวมแนวกว้างรวมกับข้อมูลเชิงลึกว่า
โลกในวันพรุ่งนี้หลายปีข้างหน้าจะไปในทิศทางไหน ด้วยผลของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่
4
แต่ก่อนไปถึงครั้งที่ 4 เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงอยากรู้ว่า 3 ครั้งที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลค์ Facebook bangkokbanksme
ปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1
การปฏิวัติแรงงานจากคนและสัตว์ กลายมาเป็น “เครื่องจักรไอน้ำ”
ทำให้การทำงานที่ต้องใช้แรงงานในรูปแบบซ้ำๆ ถูกทดแทนด้วยเครื่องจักรไอน้ำ
เรียกได้ว่าเป็นยุคแรก ที่มนุษย์เข้าใจคำว่า ‘พลังงาน’ ไม่จำกัดเฉพาะ ‘แรงงาน’
จากไอน้ำมนุษย์ในยุคนั้นยังรู้จักใช้ประโยชน์จาก ‘น้ำมัน’ มากขึ้น
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2
คือการปฏิวัติพลังงานไอน้ำมาเป็น “ไฟฟ้า”
และการผลิตแบบสายพานการผลิตถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายและลดอันตรายจากการเผาถ่านเพื่อใช้ในเครื่องจักรไอน้ำลงมากมาย
จากความเข้าใจเรื่องพลังงาน นำไปสู่การค้นพบสิ่งที่ดีกว่า
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3
คือการปฏิวัติด้วยคอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต
หรือเป็นยุคของการเริ่มของปฏิวัติดิจิทัล
ทำให้การเข้าถึงและเชื่อมต่อข้อมูลที่เคยมีข้อจำกัดด้านระยะทาง ภูมิศาสตร์
และอื่นๆที่เคยเป็นเรื่องยากนั้นกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาก เริ่มขึ้นในช่วงที่เครื่องคอมพิวเตอร์เริ่มกระจายลงสู่บ้านผู้คนเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา
เห็นได้ชัดว่า
ทุกการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ผ่านมาบอกให้รู้ว่ามีหลายอาชีพต้องสูญหายไป
แต่ก็ตามมาด้วยอาชีพเกิดใหม่มากมาย
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4
ซึ่งก็คือ ยุคแห่งดิจิทัลและนวัตกรรม เป็นยุคที่สามารถเข้าถึงข้อมูลขนาดมหาศาล(Big Data) ยุคที่หุ่นยนต์ทำงานหลายอย่างแทนคน
ยุคที่การติดต่อสื่อสารไร้ข้อจำกัด และเป็นยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI)มีบทบาทในทุกภาคส่วนของสังคมมนุษย์
และอีกหลายอย่างที่ทั้งภาคสังคมและเศรษฐกิจ ไม่สามารถทำแบบเดิม ได้อีกต่อไป
กล่าวโดยสรุปคือ 4IR คือยุคที่ธุรกิจ
‘ใหญ่’ก็ล้มได้ถ้าช้า ‘เล็ก’ ก็ชนะได้ถ้าเร็วมากพอ และหัวใจสำคัญคือ
เครื่องมือดิจิทัล
บทบาทอาเซียนกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม
มองในมุมของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอาเซียน
จากรายงานซิสโก้ และ บริษัท เอ.ที. เคียร์เน่ ที่เผยผลการศึกษาล่าสุดชี้ว่าอุตสาหกรรมภาคการผลิตของไทยจะเติบโตถึง
5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.6 ล้านล้านบาท
ในทศวรรษหน้าจากการปรับใช้เทคโนโลยียุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Fourth Industrial
Revolution หรือ 4IR)
รายงานการศึกษาดังกล่าว มีชื่อว่า
“เร่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ในอาเซียน:
แผนปฏิบัติการสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต (Accelerating 4IR in ASEAN: An Action Plan for
Manufacturers)” ระบุว่า
การเติบโตดังกล่าวเป็นผลมาจากผลผลิตที่มีมูลค่าสูงถึง 3.5 - 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
หรือ 1 – 1.3 ล้านล้านบาท และการขยายช่องทางรายได้อื่น ๆด้วยไลน์สินค้าใหม่ๆ
และการปรับปรุงคุณภาพสินค้า
โดยทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้หากภาคการผลิตปรับใช้เทคโนโลยี 4IR
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 มีจุดเด่นที่ระบบอีโคซิสเต็มส์อัจฉริยะที่เชื่อมต่อบุคลากรและเครื่องจักรเข้าด้วยกัน โดยอาศัย 5 เทคโนโลยีหลักที่ได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลายในห่วงโซ่มูลค่าด้านการผลิต เทคโนโลยีที่ว่านี้ได้แก่ IoT, AI, ระบบการพิมพ์ 3 มิติ, เทคโนโลยีหุ่นยนต์ขั้นสูง และอุปกรณ์สวมใส่
อาเซียนยังอยู่ในช่วงตั้งไข่
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า
ภาคการผลิตในอาเซียน รวมถึงประเทศไทย
ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาสู่ระบบดิจิทัล
โดยมีรูปแบบการดำเนินงานที่ยังล้าสมัย และการปรับใช้เทคโนโลยี 4IR ยังมีความช้าและไม่ต่อเนื่อง
จาก 5 สาเหตุหลักดังต่อไปนี้
แรงงานยังมีราคาถูก ค่าจ้างแรงงานในโรงงานของประเทศต่าง
ๆ ในอาเซียน (ยกเว้นสิงคโปร์) ยังคงอยู่ในระดับต่ำ
และเป็นอุปสรรคต่อการปรับใช้เทคโนโลยี 4IR แม้กระทั่งในบริษัทระดับโลกหลายบริษัทที่มีการดำเนินงานในภูมิภาคนี้
ยังไม่มีความต้องการของลูกค้าในตอนนี้ ความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันยังไม่ได้สร้างแรงผลักดันให้แก่ผู้ผลิตในการสร้างกระบวนการผลิตที่คล่องตัวและไร้รอยต่อ
ไม่สามารถเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญที่มีความชำนาญ
การเข้าถึงบุคลากรที่เชี่ยวชาญและมีทักษะยังคงเป็นปัญหาท้าทายที่สำคัญสำหรับภาคการผลิต
เพราะบุคลากรเหล่านั้นมีค่าจ้างที่สูงเกินไปสำหรับผู้ผลิตหลายราย
อีโคซิสเต็มส์ของซัพพลายเออร์ มีความซับซ้อนและแยกออกเป็นส่วนๆ
ภาคการผลิตมักไม่แน่ใจเกี่ยวกับการดำเนินการในสภาพแวดล้อมของซัพพลายเออร์ 4IR ที่มีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
เป้าหมายทางธุรกิจเป็นแบบระยะสั้นและไม่ชัดเจน
การจัดซื้อและติดตั้งเทคโนโลยีใหม่อาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก จึงเป็นเรื่องยากที่ภาคการผลิตจะสามารถระบุเป้าหมายทางธุรกิจที่เหมาะสม
ทั้งภายใต้การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่
34 หัวข้อ ‘Fourth Industrial Revolution’ หรือ
4IR เป็นหัวข้อที่
10 ชาติอาเซียนให้ความสำคัญและพร้อมที่จะเผชิญความท้าทายผลักดันให้อาเซียนมีศักยภาพสูงที่จะก้าวสู่ยุค
4IR เพื่อพัฒนาไปพร้อมๆ
กันในทุกสาขา รวมทั้งรักษาพลวัตของการพัฒนาต่อไป
ว่ากันตามจริง
อาเซียนมีความพร้อมและโอกาสที่ดีในหลายด้านอาเซียนมี GDP รวมถึง
2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการเติบโตร้อยละ 5.3 มาตั้งแต่ปี 2553
ตลาดดิจิทัลของอาเซียนขยายตัวถึง 3 เท่า ในรอบ 3 ปี ปัจจุบัน ร้อยละ 7 ของ GDP อาเซียนมาจากเศรษฐกิจดิจิทัล
ประเทศที่ก้าวหน้าด้านนี้ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย
ซึ่งมีชนชั้นกลางที่กำลังขยายตัวและประชากรส่วนมากเติบโตในยุคดิจิทัล
มีคนใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ SMEs ส่วนใหญ่ในประเทศเหล่านี้ก็ปรับใช้เครื่องมือดิจิทัล
(digital
tools) ในการดำเนินธุรกิจด้วยแล้ว
ว่ากันว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งนี้ อาจจะเป็นโอกาสครั้งสำคัญของอาเซียนเช่นกัน