กลยุทธ์แบบ Inside-out หรือ Outside-in แบบไหนเหมาะกับบริษัทมากกว่ากัน?
ทุกธุรกิจมักตั้งต้นจากการที่ว่า อยากนำเสนออะไรสักอย่างให้แก่ลูกค้า ซึ่งกว่าจะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ได้ก็ต้องเริ่มจากการคิด ทีนี้วิธีที่จะคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมานั้น อาจจะตั้งต้นได้จาก 2 ทาง คือหาว่าเราเก่งอะไร หรือหาว่าลูกค้าอยากได้อะไร โดยมีชื่อเรียกกลยุทธ์ทั้งสองแบบนี้ว่า กลยุทธ์แบบ Inside-out และ Outside-in
กลยุทธ์แบบ Inside-out
คือการที่การตลาดและธุรกิจให้ความสำคัญกับความสามารถและความแข็งแกร่งภายในองค์กร เช่น กระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และบุคลากรที่มีความสามารถ องค์กรที่ใช้กลยุทธ์ Inside-out คือองค์กรที่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีเหล่านี้เพื่อสร้างสินค้าและบริการที่มีคุณค่าได้อย่างเต็มศักยภาพ
ธุรกิจที่ใช้กลยุทธ์นี้ จะตั้งต้นจากไอเดียก่อน แล้วก็ค่อยหาคนเก่งๆ ที่เข้าใจคอนเซ็ปเข้ามาช่วยพัฒนา หลังจากนั้นเป้าหมายก็คือให้คนอื่นเข้าใจว่าสินค้าหรือบริการใหม่นี้จะช่วยให้ชีวิตเขาง่ายขึ้นยังไง ช่วยให้เขามีความสุขมากขึ้น หรือได้อะไรจากสิ่งนี้
บริษัทที่ใช้กลยุทธ์นี้ จะเน้นสร้างสินค้าโดยไม่ได้อ้างอิงจากความต้องการตลาด แต่มาจากความเชื่อในศักยภาพของสินค้าว่าจะกลายเป็นสินค้าที่คนต้องการ ทำให้บริษัทามารถเอาทรัพยากรทั้งหมดไปลงกับผลิตภัณฑ์นี้จนออกมาเป็นผลิคภัณฑ์ที่คุณภาพดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และคุณภาพของสินค้าก็จะเป็นตัวดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาเอง
ประโยชน์ของกลยุทธ์ Inside-out
ลดต้นทุน
เพราะกลยุทธ์ Inside-out นี้เริ่มจากการที่บริษัทใช้ทรัพยากรที่มีภายใต้ข้อจำกัดทั้งหมด รู้ว่าจะต้องใช้เงินเท่าไหร่ และคำนวณคร่าวๆ ว่าจะประหยัดต้นทุนได้อย่างไรด้วยการใช้ประโยชน์สูงสุดจากระบบการดำเนินงาน
สร้างความแตกต่าง
กลยุทธ์นี้จะช่วยให้บริษัทรู้ว่าจะวางตัวเองยังไงให้แตกต่างจากคนอื่น หัวใจหลักๆ ก็คือการที่องค์กรรู้จุดแข็ง เข้าใจเป้าหมายและวิสัยทัศน์ รู้ว่าตัวเองทำอะไรได้ดี ทำไมถึงมาอยู่ตรงนี้ได้ และต้องการจะไปทางไหนต่อ การริเริ่มแนวคิดขององค์กรเช่นนี้ สามารถกลายเป็น Branding ขององค์กร ที่จะสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งได้ และทำให้ลูกค้ารู้สึกเชื่อมโยงกับแบรนด์ได้
ถ้าพูดถึงบริษัทที่โดดเด่นด้านการใช้กลยุทธ์นี้ก็คือ Apple
ผลิตภัณฑ์ทุกอย่างจะเริ่มจากคำว่า “ทำไม?”
แม้ Apple จะไม่เคยถามลูกค้าเลยว่าต้องการอะไร แต่ Apple ก็เหมือนจะเข้าใจสัญชาติญาณลึกๆ ของลูกค้า และออกแบบผลิตภัณฑ์แบบที่คิดมาแล้วว่าลูกค้าจะชอบเสมอ
กลยุทธ์แบบ Outside-in
ตรงกันข้ามกับกลยุทธ์ Inside-out เลย คือเริ่มต้นด้วยการถามลูกค้าก่อนว่าลูกค้าน่าจะต้องการอะไร ซึ่งบ่อยครั้งลูกค้าก็มักจะต้องการในสิ่งที่ผลิตภัณฑ์และบริการที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถตอบโจทย์ได้ เป้าหมายของกลยุทธ์นี้คือการเติมเต็มช่องว่างที่มีอยู่ในตลาด โดยอาจจะเริ่มจากการรีเสิร์ชเพื่อให้เข้าใจภาพรวมทิศทางของตลาดที่คุณต้องการจะดึงเข้ามาเป็นฐานลูกค้า
ข้อดีของกลยุทธ์แบบ Outside-in
ได้ข้อมูลเชิงลึกและความพึงพอใจของผู้บริโภค
เนื่องจากกลยุทธ์นี้พยายามมองจากมุมของลูกค้า และเป้าหมายหลักคือการให้ในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ องค์กรจึงต้องมีการรีเสิร์ชข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกจากลูกค้าและเข้าใจว่าลูกค้าต้องการอะไร จึงทำให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ออกมานั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นที่พึงพอใจ และสร้างประสบการณ์ที่ที่สุดให้แก่ลูกค้า
เกิดความภักดีของลูกค้าต่อแบรนด์
และเมื่อกลยุทธ์ Outside-in ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการเป็นอันดับแรกๆ ก็จะทำให้ลูกค้ารู้สึกได้ว่าแบรนด์สนใจความคิดเห็นของเขา ทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกดี และมีความภักดีต่อแบรนด์ได้ง่าย แล้วเมื่อลูกค้ากลุ่มหนึ่งช่วยสร้างภาพลักษณ์ในเชิงบวกใหแบรนด์ไปแล้ว ก็สามารถดึงดูดลูกค้าใหม่ๆ ให้เข้ามาได้อีกต่อหนึ่ง
ถ้าถามว่ากลยุทธ์แบบไหนดีที่สุด ก็คงตอบได้ยากเพราะแต่ละองค์กรก็มีบริบทที่แตกต่างกัน อีกทั้งการบริหารงานในองค์กรเดียวกัน บางครั้งก็ควรคิดแบบ Outside-in เช่น การทำการตลาด การพัฒนาธุรกิจ การพัฒนาความสัมพันธ์กับลูกค้า แต่ในส่วนของด้าน HR, การเงิน, การวางแผน และการดำเนินงานต่างๆ บางทีก็ควรจะคิดแบบ Inside-out ควบคู่กันไปเช่นเดียวกัน
ผู้เขียน ชนาภา มานะเพ็ญศิริ
References
https://www.hypeinnovation.com/blog/inside-out-versus-outside-in-which-is-better-for-your-business
https://www.indeed.com/career-advice/career-development/inside-out-vs-outside-in-strategy#:~:text=What%20is%20an%20inside%2Dout,processes%20and%20a%20talented%20workforce.