Bnomics | เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แต่ “เงินเฟ้อ” ยังเป็นความเสี่ยงหลักของไทย

Library > Economic Outlook/Trends
08/07/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 1496 คน
Bnomics | เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แต่ “เงินเฟ้อ” ยังเป็นความเสี่ยงหลักของไทย
banner
ข้อมูลบ่งชี้ทางด้านเศรษฐกิจของไทยล่าสุดยังแสดงสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการบริโภคในประเทศและการท่องเที่ยวที่มีแรงหนุนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มกลับมาคึกคัก

อุปสงค์ภายในประเทศและภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง

โดยดัชนี PCI (Private Consumption Index) ล่าสุดในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการบริโภคภาคครัวเรือน ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน สะท้อนภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากการคลายกังวลจากสภาวะการระบาดของโควิด และจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เริ่มกลับเข้ามาในไทย

ทางด้านดัชนี PII (Private Investment Index) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการลงทุนภาคเอกชนของเดือนเดียวกัน ก็ปรับขึ้นสอดคล้องกับอุปสงค์โดยรวมที่ฟื้นขึ้นมา โดยเฉพาะในด้านการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจดทะเบียนรถยนต์พาณิชย์ แต่ในด้านการก่อสร้างปรับลดลงไปเล็กน้อย



อย่างที่กล่าวข้างต้น นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มกลับเข้ามา เป็นแรงสนับสนุนสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในช่วงนี้ รวมถึงในระยะข้างหน้าด้วย โดยภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยมายาวนาน 

อย่างในช่วงก่อนเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 มูลค่าเศรษฐกิจจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งหมดมากเกินกว่า 10% และมีการจ้างงานแรงงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดราว 10 ล้านคน การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจึงเป็นการฟื้นตัวขนาดใหญ่ที่ส่งผลต่อคนในวงกว้าง ซึ่งก็จะสร้างเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจด้านอื่นต่อ

โดยข้อมูลเครื่องชี้การท่องเที่ยวล่าสุดในเดือนพฤษภาคมปรับตัวดีขึ้นกว่าที่หลายคนคาดการณ์ไว้ มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยมากกว่า 5 แสนคน ซึ่งตัวเลขเดือนเดียวมากกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2564 ที่อยู่ที่ประมาณ 4.3 แสนคนเสียอีก และเมื่อคิดรวม 5 เดือนแรกของปี 2565 แล้ว ประเทศไทยรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วกว่า 1.3 ล้านคน 

ด้านอัตราการเข้าพักแรม แม้จะไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากข้อมูลเดือนก่อนหน้า แต่ก็ออกมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกันที่เกือบ 42% ซึ่งระดับอัตราการเข้าพักแรมของ 2 เดือนล่าสุด ถือเป็นระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563  

ซึ่งเมื่อพิจารณาจากนโยบายการเปิดประเทศของทั่วโลกที่เพิ่มมากขึ้น และความต้องการท่องเที่ยวที่อัดอั้นมานาน คาดการณ์ว่า การท่องเที่ยวปีนี้ก็น่าจะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งต่อไป



ภาคการผลิต

อ้างอิงข้อมูลของ IHS Markit ดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ และยูโรโซน ในเดือนมิถุนายน ออกมาที่ 52.7 และ 52.1 ตามลำดับ แม้จะยังอยู่ในระดับสูงกว่า 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวทั้งคู่ แต่เมื่อเทียบย้อนกลับไป จะพบว่า เป็นการปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มีวิกฤติสงครามในยูเครน ซึ่งตอนนี้เมื่อมีความกังวลใจต่อวิกฤติเศรษฐกิจระลอกใหม่มากขึ้น ก็ทำให้ธุรกิจเริ่มชะลอการจัดซื้อ

สวนทางกับจีน ที่ระดับ PMI ภาคการผลิตฟื้นตัวกลับมาอยู่ระดับสูงกว่า 50 ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน อันเป็นผลมาจากการคลายนโยบายควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากภาครัฐ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเพิ่มสูงขึ้น

ในส่วนของประเทศไทย PMI ภาคการผลิตปรับตัวลงเล็กน้อยจากระดับ 51.9 มาสู่ระดับ 50.7 ปัญหาสำคัญมาจากอัตราเงินเฟ้อผู้ผลิตที่ปรับตัวขึ้นสูง ทั้งจากปัญหาการขาดแคลนการขนส่งโลกที่เกิดขึ้นเป็นระยะต่อเนื่องและปัญหาราคาพลังงานที่สูง ซึ่งก็มากดดันต้นทุนของผู้ผลิต



อัตราเงินเงินเฟ้อ

อัตราเงินเฟ้อระดับสูงกำลังเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไป ทั้งในด้านของการกัดกร่อนความสามารถของผู้บริโภคและแรงกดดันต่อต้นทุนของผู้ผลิต 

โดยข้อมูลอัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาถือเป็นอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดในรอบ 14 ปี หรือตั้งแต่วิกฤติการเงินโลก (Global Financial Crisis) โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนของผู้บริโภคออกมาอยู่ที่ระดับ 7.66%  

ส่วนอัตราเงินเฟ้อของผู้ผลิตอยู่ที่ระดับ 13.81% ตัวเลขนี้มีนัยยะว่า ในขณะนี้ทางผู้ผลิตกำลังแบกรับต้นทุนเงินเฟ้อที่สูงยิ่งกว่าผู้บริโภคอีก ที่ก็โอกาสส่งต่อมาที่ผู้บริโภคได้ในอนาคตหากปัญหายังไม่คลี่คลาย
 


นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ และความกังวลใจต่อโอกาสที่จะเกิดวิกฤติ ทำให้เงินทุนไหลกลับเข้าไปที่สหรัฐฯ ซึ่งการที่เงินบาทอ่อนค่าลง ก็เป็นหนึ่งในแรงกดดันที่ทำให้ไทยนำเข้าสินค้าพลังงานด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น  ซึ่งก็จะกดดันต่อไปยังอัตราเงินเฟ้อในภาพรวมต่อไปได้ 

ซึ่งเราก็เริ่มเห็นแล้วว่า ระดับราคาที่เพิ่มสูงขึ้นจากตอนแรกที่มาจากราคาพลังงานเป็นสำคัญนี้ ค่อยๆ ขยายไปสู่ระดับราคาของสินค้าอื่นๆ ในวงกว้างแล้ว ซึ่งสิ่งนี้อาจจะส่งผลต่ออัตราคาดการณ์เงินเฟ้อของคนในระยะยาว ที่เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญ

ทำให้ปัญหาเงินเฟ้อเป็นประเด็นพิจารณาสำคัญว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนสิงหาคมหรือไม่ และจะต้องขึ้นต่อเนื่องแค่ไหน 

ซึ่งถ้าสถานการณ์เงินเฟ้อไม่ทุเลาลง แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังแข็งแกร่ง ภาคการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวได้ดีกว่าคาดการณ์ต่อเนื่องแบบนี้ แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นของไทยก็อาจจะมาเร็วกว่าที่คาดกันเมื่อหลายเดือนก่อน จากที่เคยคิดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะคงอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ 0.5% ไปตลอดทั้งปี ก็จำเป็นต้องเข้าสู่ช่วงขาขึ้น เพื่อจัดการปัญหาเงินเฟ้อ

สรุป

เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากด้านอุปสงค์ภายในประเทศ และภาคการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นมาอย่างมีนัยยะสำคัญ อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงสำคัญมาจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบกว่า 14 ปี ที่กำลังกัดกร่อนผู้บริโภคและกดดันต้นทุนผู้ผลิต ประกอบกับค่าเงินบาทที่กำลังอ่อนค่าต่อเนื่อง กำลังกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งก็จะส่งผลต่อเนื่องไปสู่ต้นทุนของธุรกิจและประชาชนต่อไปได้

ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
 
════════════════
ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website : https://www.bnomics.co
Facebook : https://www.facebook.com/Bnomics.co
Blockdit : https://www.blockdit.com/bnomics
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube : https://www.youtube.com/bnomics
Twitter : https://twitter.com/bnomics_co
════════════════
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงตั้งค่าที่เมนูมุมขวาบนเพจให้
เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด”
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Reference :
https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/EconomicConditions/PressRelease/PressRelease2557/MonthlyReport_May2022_ks6m2.pdf
https://www.bloomberg.com/news/newsletters/2022-07-05/what-s-happening-in-the-world-economy-the-38-risk-of-a-us-recession
https://www.cnn.com/2022/06/30/economy/china-economy-pmi-covid-intl-hnk/index.html
https://wttc.org/Research/Economic-Impact/moduleId/704/itemId/219/controller/DownloadRequest/action/QuickDownload


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Bnomics | ดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวเริ่มหมดแรง เว้นภาคการท่องเที่ยวซึ่งยังฟื้นตัวต่อไป

Bnomics | ดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวเริ่มหมดแรง เว้นภาคการท่องเที่ยวซึ่งยังฟื้นตัวต่อไป

เครื่องยนต์ของเศรษฐกิจไทยในหลายด้านเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง อันเป็นผลมาจากแรงกดดันทางด้านอัตราเงินเฟ้อและการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจคู่ค้าไทยในต่างประเทศเป็นสำคัญ…
pin
1359 | 04/11/2022
เจาะใจ สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ปั้นระบบ ‘FoodStory’ เสริมแกร่งร้านอาหาร ช่วยให้ SME บริหารร้านได้ทุกที่ทุกเวลา

เจาะใจ สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ปั้นระบบ ‘FoodStory’ เสริมแกร่งร้านอาหาร ช่วยให้ SME บริหารร้านได้ทุกที่ทุกเวลา

ย้อนเส้นทาง บริษัท ลีฟวิ่ง โมบาย จำกัด สตาร์ทอัพผู้นำด้านการพัฒนาระบบ POS ด้วย แอปพลิเคชัน ‘FoodStory’ สำหรับร้านอาหารทุกประเภท ตั้งแต่ร้านอาหารรายย่อย…
pin
3803 | 26/10/2022
โอกาสมาแล้ว! ดีมานด์มันสำปะหลังจีนโตแรง เกษตรกรไทยลุยรุกส่งออกแดนมังกร ชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนยักษ์

โอกาสมาแล้ว! ดีมานด์มันสำปะหลังจีนโตแรง เกษตรกรไทยลุยรุกส่งออกแดนมังกร ชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนยักษ์

อีกหนึ่งโอกาสเกษตรกรไทย! คาดการณ์ความต้องการมันสำปะหลังช่วง 6 เดือนหลังของปี 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดทั้งปีไทยส่งออกกว่า 11 ล้านตัน…
pin
5168 | 23/10/2022
Bnomics | เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แต่ “เงินเฟ้อ” ยังเป็นความเสี่ยงหลักของไทย