กัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศที่ประกาศนโยบายให้ประชาชนทำงานจากบ้าน
หรือ Work
from home หลังจากสถานการณ์โควิด-19 แพร่กระจายออกไปเช่นเดียวกับทั่วโลก
และด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป จากการ Work From Home ทำให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น
เกิดวิถีชีวิตใหม่ หรือ 'New Normal' ผู้บริโภคลดการเดินทางออกจากบ้าน
หันมาใช้บริการออนไลน์เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสั่งอาหารออนไลน์
การประชุมทางไกลแบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ รวมถึงการเรียนทางไกลผ่านระบบออนไลน์
ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ
ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ระบุว่ารายงาน Digital Cambodia 2019 พบว่า ปี 2562 ในกัมพูชามีประชาชนที่ใช้โทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต
ประมาณ 16.36 ล้านคัน มีคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 12.50 ล้านคน เพิ่มขึ้น 56% จากปี
2561 คิดเป็นสัดส่วน 76% ของประชาชนทั้งหมด
และมีประชาชนเข้าถึงโซเชียลมีเดียผ่านโทรศัพท์มือถึอ 8.1 ล้านคน
และมีคนที่ใช้เฟซบุ๊กมากถึง 8.3 ล้านคน
ขณะที่ผู้ใช้งานระบบการค้าออนไลน์ e-Commerce เริ่มเป็นที่นิยม คือ Mobile Banking มีสัดส่วนผู้ใช้งาน 22% ส่วนการซื้อของและชำระสินค้าผ่านออนไลน์ยังมีเพียง 3.8% ถือว่าเป็นสัดส่วนไม่มากนัก อาจจะเป็นผลจากการที่ประชาชนมีบัตรเครดิตยังน้อยมากเพียง 0.6%
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
COVID-19 คันเร่งอีคอมเมิร์ซแดนขแมร์
แต่ปรากฎว่าภายหลังจากเกิดภาวะโควิด-19
ประชาชนกัมพูชาเริ่มหันมาใช้บริการ Food Delivery มากขึ้น โดยมีอัตราเติบโตถึง 130% ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้
สำหรับแอพพลิเคชั่น
Food Delivery ที่ได้รับความนิยมมากเป็นแอพพลิเคชั่นจากต่างชาติ
เช่น Food Panda, E-Gets แต่ก็มีแอปพลิเคชันสัญชาติกัมพูชาที่ได้รับความนิยมมากเช่นกัน
อาทิ Meal Temple, Nham 24 และ YPP Express เป็นต้น สำหรับประเภทอาหารที่ได้รับความนิยม เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ดส์,
สตรีทฟู้ด และชานมไข่มุก
กรณีแอปพลิเคชั่น Nham
24 เป็นตัวอย่างแอพพลิเคชั่นท้องถิ่นที่ได้รับความนิยมมาก แอปฯ นี้มีร้านอาหารเป็นสมาชิก
2,000 ร้านทั้งในกรุงพนมเปญและเสียมราฐ
โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้แอพเติบโตมาจากประชาชนมีการใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้น
ทำให้เข้าถึงแอพพลิเคชั่นได้สะดวกอีกทั้งผลจากการระบาดของโควิด-19
ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารเปลี่ยนกลยุทธ์หันมาทำธุรกิจผ่านออนไลน์มากขึ้น
ขณะที่แพลตฟอร์มออนไลน์ด้านการศึกษา ก็เป็นอีกหนึ่งสาขาธุรกิจที่ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยประชาชนที่ไม่สามารถเดินทางออกจากบ้านได้หลังจากโควิด-19 ระบาดต่างก็ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นเรียนออนไลน์ โดยเฉพาะแอปพลิเคชั่นท้องถิ่นที่ได้รับความนิยมสูงสุดเช่น e-School Learning, KOOMPI Academy ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับโรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่ต้องการเผยแพร่เนื้อหา และบทเรียนต่างๆ นอกจากนี้ยังมี Khmer Academy และ Ourn Sarath เป็นต้น
ไม่เพียงเท่านั้นแอพพลิเคชั่นให้บริการทำธุรกรรมทางการเงิน
ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการใช้ชีวิตออนไลน์ที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้น
เป็นผลจากความไม่สะดวกในการเดินทางออกไปทำธุรกรรมที่ธนาคาร
รวมไปถึงการจ่ายชำระค่าสินค้าด้วยเงินสด
ทำให้หลายร้านค้าหลายแห่งหันมาใช้บริการธุรกรรมการเงินรูปแบบ e-Wallet หรือ e-Money แทน
อีกทั้งทางสถาบันการเงินในกัมพูชาได้เริ่มปรับตัวหันมาทำ Mobile Banking มากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการชำระเงิน โอนเงิน หรือแม้แต่การแลกเปลี่ยนเงิน ซึ่งนับได้ว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการเติบโตของธุรกิจ e-Commerce และจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยจะขยายตลาดการค้าไปยังกัมพูชามากขึ้นในอนาคตด้วย