กัมพูชาออกมาตรการช่วยธุรกิจสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ส่งผลกระทบทำให้โรงงานผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าในกัมพูชา ประสบปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบที่จะนำมาผลิต เนื่องจากกว่าร้อยละ 60 ของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและรองเท้าในกัมพูชานั้น นำเข้าจากประเทศจีน ส่งผลให้โรงงานผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าหลายรายต้องทยอยปิดตัวลง บางโรงงานต้องลดต้นทุนการผลิต ลดพนักงาน หรือลดค่าจ้าง เพื่อให้โรงงานสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในช่วงวิกฤตเช่นนี้
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
อย่างไรก็ตาม
ภาครัฐพยายามออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและคนงานในสมาคม
ผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในประเทศกัมพูชา ดังนี้
1.
มาตรการด้านภาษีสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป (
เสื้อผ้า รองเท้า และกระเป๋า) ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการขาดแคลนวัตุดิบที่นำมาใช้ในการผลิต
หรือถูกระงับสิทธิ์ EBA จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
(ภาษีกำไร) เป็นระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี ซึ่งรัฐบาลจะประกาศวิธีพิจารณาและวิธีการคำนวณที่ชัดเจนให้ทราบอีกครั้ง
2.
ขอความร่วมมือให้สมาคมธนาคารในประเทศกัมพูชา (ABC) และสมาคมสินเชื่อรายย่อยของกัมพูชา (CMA) เลื่อนเวลาการชำระเงินกู้และดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้า
โดยเฉพาะในกลุ่มของภาคอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าและรองเท้า ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ
COVID-19
3. มาตรการ "กรีนเลน"
ที่ออกโดยกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน
เพื่อให้กรมศุลกากรและสรรพสามิตลดขั้นตอนและพิธีการศุลกากร ในการตรวจปล่อยสินค้าที่เป็นวัตถุดิบสำหรับภาคอุตสาหกรรมฯ
ดังกล่าว ให้สามารถออกจากท่าเรือได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้วัตถุดิบสามารถส่งตรงไปยังโรงงานผู้ผลิตในพื้นที่ต่างๆ
ได้ทันที
ทั้งนี้ สมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในกัมพูชา
(GMAC) ให้ข้อมูลว่า ภายในสัปดาห์หน้าจะเริ่มมีวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มจากจีนทยอยส่งเข้ามายังกัมพูชา
โดยเป็นการขนส่งทางเรือเข้ามาทางท่าเรือสี หนุวิลล์ จำนวน 12 ลำ
ลำแรกที่ขนวัตถุดิบจำนวน 60 ตู้คอนเทนเนอร์จะมาถึงกัมพูชาในวันจันทร์ และอีก 11 ลำจะทยอยเดินทางเข้ามาถึงภายในวันอาทิตย์ที่
22 มีนาคม
โดยวัตถุดิบจะเริ่มทยอยเดินทางมาและส่งมอบต่อให้โรงงาน ตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงเดือนพฤษภาคมนี้จนกว่าสถานการณ์จาก COVID-19 คลี่คลายลง
สิ่งที่ภาคเอกชนไทยยังต้องจับตา
การออกมาตรการต่างๆ ดังกล่าวของรัฐบาลกัมพูชา ในภาพรวมถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือกลุ่มคนงาน และผู้ประกอบการในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ COVID-19 ในระยะสั้น ทั้งนี้รวมถึงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าของไทยที่มีอยู่จำนวน 8 โรงงานด้วย เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจให้แก่ภาคเอกชน และลดค่าใช้จ่ายบางส่วนที่ส่งผลกระทบต่อแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าและรองเท้า ในขณะที่ต้องออกจากงานหรือโดนลดค่าจ้าง
อย่างไรก็ตาม
สิ่งสำคัญที่สุดภาคเอกชนยังคงมีความกังวลอยู่ คือในทางปฏิบัติจริงจะสามารถช่วยเหลือเยียวยาได้จริงตามนโยบายที่ภาครัฐประกาศไว้หรือไม่
โดยเฉพาะด้านการยกเว้นภาษีที่ยังคงต้องรอดูวิธีการพิจารณาและวิธีการคำนวณที่ชัดเจนอีกครั้ง
สำหรับมาตรการช่วยเหลือในระยะยาวที่ภาคเอกชนต้องการเรียกร้องจากภาครัฐ คือการชะลอการขึ้นค่าแรงไว้อีกระยะหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยภาคเอกชนในการลดต้นทุนการผลิตในช่วงที่ได้รับผลกระทบสถานการณ์ COVID-19 และ EBA โดยตรงแล้ว ยังจะช่วยให้อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าในกัมพูชา มีความได้เปรียบด้านแรงงานและสามารถแข่งขันด้านราคากับผู้ผลิตจากประเทศอื่นในตลาดโลกได้