Market
Analyst รายงานว่าตลาดของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพจะเติบโตจนมีมูลค่ากว่า
3,900
ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2023 จากปัจจุบันที่ 2,960
ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2018
ที่ผ่านมา โดยพลาสติกชีวภาพประกอบด้วยพลาสติกที่ผลิตจากแหล่งวัตถุดิบจากพืชเช่น
อ้อย มัน แป้งข้าวโพด และอื่น ๆ แทนการใช้น้ำมันปิโตรเลียม
ซึ่งพลาสติกชีวภาพช่วยลดการใช้ปิโตรเลียมและเป็นที่นิยมของผู้บริโภคเนื่องจากเป็นวัสดุอินทรีย์
โดยปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตของตลาดพลาสติกชีวภาพคือความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การมีแหล่งวัตถุดิบที่เพียงพอ และนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมใช้พลาสติกชีวภาพ ซึ่งการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลต่อการเติบโตของตลาดนี้
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลค์ Facebook bangkokbanksme
ขณะที่ตลาดพลาสติกชีวภาพถูกแบ่งเป็นชนิดที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ
คือ PLA, PHA,
วัสดุผสมจากแป้ง, พอลิเอสเตอร์ชนิดย่อยสลายได้
ในขณะที่พลาสติกชีวภาพประเภทที่ไม่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพรวมถึง Bio-PA, Bio-PET, Bio-PE,
Bio-PC, Bio-TPE, Bio-PUR และ epoxy
ทั้งนี้ในแง่ของภูมิภาคนั้น
เอเชียแปซิฟิกเป็นแหล่งความต้องการหลักจากปริมาณโรงงานและวัตถุดิบที่มีอยู่จำนวนมาก
ในขณะที่ยุโรปก็ขาดแคลนแหล่งน้ำมันสำรองและต้องใช้วัสดุทางเลือกแทนการใช้พลาสติกแบบดั้งเดิม
การผลิตและการใช้พลาสติกชีวภาพถูกมองว่าเป็นทางออกที่มีความยั่งยืนเนื่องจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต่ำ
และมีปัจจัยช่วยกระตุ้นตลาดจากความสนใจของผู้บริโภค
ความกังวลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และนโยบายรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการผลิตและประสิทธิภาพในการทำงานที่ต่ำกว่าพลาสติกจากน้ำมันยังคงเป็นปัจจัยจำกัดการเติบโตของตลาดอยู่
โอกาสในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ
Circular Economy
เป็นกระแสที่สังคมไทยตื่นตัวอย่างมากโดยเฉพาะขยะพลาสติก ที่ผ่านมารัฐได้วางรากฐานอุตสาหกรรม Bio-Circular และ Green Economy เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลปัจจุบันที่ต้องการวางรากฐานเศรษฐกิจประเทศ
โดยอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
(อีอีซี) ได้แก่ เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
โดยปัจจุบันพลาสติกชีวภาพมักใช้สำหรับการผลิตบรรจุภัณฑ์เป็นหลัก
โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนตัว (Flexible Packaging) ที่คิดเป็น 44%
ของพลาสติกชีวภาพทั้งหมด โดยเฉพาะในสินค้าออร์แกนิค
หรือสินค้าแบบพรีเมี่ยมประเภทอื่นๆ ที่มักเลือกใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด
ด้วยเหตุนี้ นับเป็นโอกาสสำคัญ เพราะไทยมีความได้เปรียบเนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และมีวัตถุดิบทางการเกษตรที่เหมาะแก่การผลิตพลาสติกชีวภาพ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกและกำลังการผลิตระดับผู้นำโลก จึงมีศักยภาพในการผลิตพลาสติกที่ทำจากพืช (bio-based plastic)
พลาสติกชีวภาพ เปิดตลาดใหม่ในระยะยาว
ดังนั้นการหันมาให้ความสนใจในเทคโนโลยีด้านพลาสติกชีวภาพในภาคอุตสาหกรรมอาจเป็นโอกาสอันดี
และช่วยให้ประเทศได้เปิดตลาดใหม่ๆ
เพราะบริษัทในอุตสาหกรรมอาหารเครื่องดื่มและอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวข้องได้ออกนโยบายบริษัทในการควบคุมการใช้พลาสติกให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ
ซึ่งคาดว่านักลงทุนและผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตพลาสติก เช่น
ผู้ส่งออกเม็ดพลาสติก
รวมถึงธุรกิจอาหารเครื่องดื่มของไทยที่ส่งออกไปญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบด้านปริมาณการส่งออกในระยะยาวเช่นกันหากยังใช้พลาสติกที่ทำจากปิโตรเลียมอยู่
นอกจากการส่งเสริมของภาครัฐให้ผู้ประกอบหันมาผลิตพลาสติกชีวภาพมากขึ้นแล้ว
ผู้ส่งออกในปัจจุบันอาจต้องพิจารณาปรับตัวและวางแผนกลยุทธ์ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานในระยะยาว
โดยเฉพาะการให้ความสนใจในด้านนวัตกรรมการผลิตที่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศผู้ซื้อและรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันรวมทั้งส่วนแบ่งการตลาดในปัจจุบัน
กระนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องกระหนักคือ ราคาต้นทุนของเม็ดพลาสติกชีวภาพมีราคาสูงกว่าเม็ดพลาสติกทั่วไป ซึ่งส่งผลให้สินค้าจากพลาสติกชีวภาพมีราคาสูงตามไปด้วย จึงเป็นสาเหตุให้ผู้ประกอบการไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดต่างประเทศ ซึ่งทางออกของเรื่องนี้คือการที่ไทยต้องพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพใช้เองภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นแนวทางออกในระยะยาว เพราะเทรนด์การใส่ใจสิ่งแวดล้อมจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ