เจ้านายบางคนอาจไม่ชอบที่ลูกน้องบางคนชอบเล่าปัญหา
บ่นนั่นบ่นนี่ตลอดเวลา หรือหมกมุ่นเล่นโซเชียลทั้งวัน แต่พนักงานขี้บ่นไม่จำเป็นต้องเป็นพนักงานไม่ดี
พวกเขาแค่ขาดทักษะในการสื่อสาร
ส่วนพนักงานที่ออนไลน์ตลอดเวลาก็สามารถสะท้อนอะไรได้เหมือนกัน
ดังนั้นการมีลูกน้อง “นิสัยน่าเบื่อ” ก็มีประโยชน์สำหรับนายจ้างเหมือนกัน
ไม่ว่าจะเป็นช่วยให้เข้าใจปัญหา การที่ลูกน้องมาบ่นให้เจ้านายฟัง
แสดงว่าลูกน้องเชื่อถือในตัวเจ้านาย
ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสที่เจ้านายจะได้เข้าใจและทราบว่าประเด็นปัญหาอยู่ตรงไหน
จากนั้นก็หาทางแก้ไขกันต่อไป เพราะคนที่ไม่เชื่อใจกันมากพอ
คงไม่กล้ามาบ่นอะไรให้ฟัง อันจะทำให้นายจ้างไม่มีวันทราบว่ามีจุดบกพร่องตรงไหนบ้าง
จริงๆ แล้ว พนักงานขี้บ่นอาจมีไอเดียว่าทำยังอย่างไรสถานการณ์จะดีขึ้น
นายจ้างจึงสามารถขอความเห็นจากพนักงานได้ว่าจะแก้ไขอย่างไรดี
ซึ่งหากพนักงานอยากให้สถานการณ์ที่ตนเองบ่นถึง เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ
ก็จะเสนอไอเดียดีๆ ขึ้นมา
การที่นายจ้างรับฟังคำบ่นและไอเดียแก้ปัญหาที่มีเหตุผล ยังเป็นการสร้าง “วัฒนธรรมแห่งการมีส่วนร่วม” ขึ้นในบริษัท เพราะมีการรับฟังและทำตามไอเดียที่เข้าท่าจากพนักงานทุกระดับ แทนที่จะคอยฟังแต่ความเห็นจากหัวหน้างาน วิธีนี้ยังทำให้พนักงานคิดใคร่ครวญมากขึ้นก่อนจะบ่นอะไรออกมา เพราะต้องมาพร้อมทางออกหรือวิธีแก้ปัญหาด้วย
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลค์ Facebook bangkokbanksme
สะท้อนว่าพนักงานแคร์อะไร
ปกติแล้วคนเรามักไม่บ่นในเรื่องที่ไม่ได้สนใจ
ดังนั้นเมื่อลูกน้องมาบ่นเรื่องอะไรให้ฟัง
ก็น่าจะสะท้อนให้เห็นว่าสิ่งนั้นมีความสำคัญต่อลูกน้อง เช่น ลูกน้องอาจบ่นถึงกระบวนการบางอย่างที่คลุมเครือ
ไม่มีความโปร่งใส หรือบ่นเรื่องการส่งสินค้า เรื่องการควบคุมคุณภาพสินค้า ฯลฯ
ไม่ว่าลูกน้องจะบ่นเรื่องอะไรก็เป็นโอกาสที่นายจ้างจะได้ทำความเข้าใจว่าลูกน้องกำลังกังวลกับเรื่องไหน
และทำไมถึงร้อนใจกับเรื่องนั้น
หากนายจ้างไม่สนใจคำบ่นเลย
ก็จะไม่ได้ยินเสียงบ่นอีก ฟังเผินๆ อาจดูดี แต่จริงๆ
แล้วพนักงานหันไปบ่นกันเองหรือไม่กล้าบ่นออกมาดังๆ
ซึ่งหมายความว่าพนักงานไม่ค่อยแฮปปี้และไม่กระตือรือล้นที่จะปรับปรุงการทำงาน
ดังนั้นแม้การรับฟังคำบ่นอาจเป็นเรื่องเหนื่อยอกเหนื่อยใจอยู่บ้าง
แต่นายจ้างก็ต้องทำใจว่านี่เป็นการสื่อสารวิธีหนึ่ง
ช่วยสะสางความขัดแย้ง
เมื่อลูกน้อง 2 คนในทีมเดียวกัน
มาบ่นให้หัวหน้าฟังถึงอีกคนหนึ่ง หัวหน้าจะได้ฟังเรื่องราวจากปากของ 2 ฝ่าย
ซึ่งถือเป็นเรื่องดี เพราะจะมีข้อมูลมากพอช่วยสะสางความขัดแย้งหรือการกินแหนงแคลงใจกัน
ไม่ว่าจะเป็นการอธิบายให้ลูกน้องฟังว่าการกระทำหรือคำพูดของลูกน้อง
ส่งผลต่ออีกฝ่ายอย่างไรบ้าง หรืออธิบายให้ลูกน้องเห็นข้อดีของอีกฝ่าย
เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นไปอย่างสร้างสรรค์มากขึ้นและสามารถทำงานร่วมกันต่อไปได้อย่างราบรื่น
การที่คู่ขัดแย้งต่างมาบ่นให้เจ้านายฟัง แสดงว่าลูกน้องเชื่อถือในตัวเจ้านาย
ซึ่งเจ้านายก็อาศัยความเชื่อถือที่ลูกน้องมีให้นี่แหละ
สร้างบรรยากาศของการถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างกัน
เป็นโอกาสโค้ชชิ่ง
บ่อยครั้งที่คนบ่นอุบอิบ
เพราะอยากให้ทุกอย่างเป็นไปตามใจคิด อันเป็นสิ่งที่สวนทางกับความเป็นจริง
ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่นายจ้างจะเข้ามาโค้ชชิ่ง พร้อมให้มุมมองที่แตกต่างออกไป
รวมถึงอธิบายสิ่งต่างๆ ให้ลูกน้องได้เข้าใจ เช่น
หากลูกน้องมาบ่นว่าเพื่อนร่วมงานทำงานไม่ได้ดั่งใจ
อาจเป็นโอกาสอธิบายให้ลูกน้องฟังว่าจะสามารถช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานได้อย่างไรบ้าง
หรือจะแนะนำเพื่อนร่วมงานอย่างไรดี บางทีลูกน้องอาจมาบ่นเกี่ยวกับนโยบายของบริษัท
ก็เป็นโอกาสของนายจ้างที่จะได้ชี้แจงให้เกิดความกระจ่างว่ามีเหตุผลเช่นไรในการกำหนดนโยบายอย่างนั้น
และนโยบายนี้ก่อให้เกิดผลดีอย่างไร ซึ่งเมื่อลูกน้องเข้าใจสถานการณ์ก็พร้อมจะทำงานภายใต้ภาวะที่อาจมีข้อจำกัดอยู่บ้าง
แทนที่จะโทษนั่นโทษนี่อยู่เรื่อย
การเริ่มต้นบทสนทนาด้วยประโยคที่ว่า
“ลองมองในมุมที่ต่างออกไป” หรือ “เราลองมาทำความเข้าใจว่าเรื่องนี้มีเหตุผล
ที่มาที่ไปยังไง” จะช่วยให้การสนทนาพลิกไปอีกมุมหนึ่ง
ได้แสดงความเห็นใจ
เสียงบ่นบางเสียงได้ยินแล้วอาจอดคิดไม่ได้ว่า
“เรื่องแค่นี้เองเหรอ” อย่างไรก็ตาม แม้นายจ้างมองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่โต
แต่ลูกน้องไม่ได้มองอย่างนั้น ดังนั้นก็สูดหายใจลึกๆ แล้วลองฟังดูสักตั้ง
บางครั้งเสียงบ่นอาจดูเหมือนไม่มีสาระแต่คนที่บ่นออกมาก็อยากให้มีคนได้ยิน และจะพูดจาซ้ำๆ
เดิมๆ ไปจนกว่าจะมีคนมาแสดงความเห็นอกเห็นใจทำนองว่า“ถ้าเจอเรื่องแบบนี้
ก็คงรู้สึกอย่างเดียวกัน” ซึ่งจะทำให้พนักงานรู้สึกว่ามีคนรับฟังแล้ว
และอาจเลิกบ่นไปเลย
หัวหน้าได้พิจารณาตัวเอง
นอกเหนือจากคนขี้บ่นแล้ว พวกชอบโอ้เอ้
เสียเวลาไปกับการทำนั่นทำนี่ที่ไม่เกี่ยวกับงาน
เป็นมนุษย์ทำงานอีกประเภทที่พบเจอได้บ่อย ไม่ว่าจะเป็นการไปพักเบรกกินกาแฟเป็นชั่วโมง
หรือนั่งเล่นเฟซบุ๊กครึ่งค่อนวัน ต่อด้วยช้อปปิงออนไลน์สักหน่อย
หากพนักงานคนไหนมีพฤติกรรมทำนองนี้บ่อยๆ
ก็ต้องจับตาดูเป็นพิเศษ และตามงานอย่างสม่ำเสมอว่าเสร็จสิ้นครบถ้วนหรือไม่
หากงานออกมาไม่ครบถ้วนก็ต้องมีคำอธิบายจากพนักงาน
อย่างไรก็ตาม นอกจากการจับตาแล้ว การที่หัวหน้างานหรือนายจ้าง ทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกน้อง ถือเป็นวิธีปฏิบัติที่ดี เพราะพนักงานส่วนใหญ่จะคอยดูการกระทำของหัวหน้า หากหัวหน้าเข้างานสาย ลูกน้องก็เข้าสายด้วย หากหัวหน้าเล่นไลน์หรือเฟซบุ๊กทั้งวัน ลูกน้องก็ทำตาม หรือหัวหน้าไปพักกินกาแฟบ่อยมาก ลูกน้องก็จะเลียนแบบ ดังนั้นหากลูกน้องมีพฤติกรรมดังที่กล่าวมา ก็เป็นโอกาสที่หัวหน้าจะได้พิจารณาว่าย่อหย่อนตรงไหนหรือไม่ หากหัวหน้าทำตัวได้อย่างไม่บกพร่องแล้วแต่ลูกน้องยังไม่ปรับปรุงตัว ก็ต้องตักเตือนกัน
ปรับปรุงบรรยากาศการทำงาน
ยังมีพนักงานประเภทที่ชอบ “แผ่พลังงานเชิงลบ”
ไม่ว่าใครเสนออะไรมาในที่ประชุมก็เอาแต่บอกว่าไม่มีทางเวิร์กแต่ก็ไม่ยอมเสนอไอเดียอื่นขึ้นมาแทน
หรือประเภทที่สัญชาติญาณการเอาตัวรอดสูงคือชอบโยนความผิดพลาดให้คนอื่น
รวมถึงประเภทที่ทำหน้าบูดทั้งวัน แน่นอนว่าเมื่อเจอพนักงานอย่างนี้
เจ้านายต้องไม่ไปเพิ่มพลังงานด้านลบเข้าไปในออฟฟิศอีก ด้วยการชี้นิ้วตำหนิคนอื่น
หรือมองโลกแง่ลบตาม หรือพูดถึงพนักงานที่มีนิสัยแบบนี้ในแง่ร้ายลับหลัง
เพราะหากพนักงานคนอื่นได้ยินเข้า
ก็จะคิดว่าเจ้านายคงพูดถึงพวกเขาไม่ดีลับหลังเหมือนกัน
และสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเจ้านาย
นอกจากไม่ทำตัวเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาแล้ว
นายจ้างก็ต้องรวบรวมข้อเท็จจริงด้วยการดูว่าพนักงานจงใจทำแต่อะไรในเชิงลบ
หรือแค่สื่อสารกันผิดพลาด จากนั้นหากมีโอกาสก็เรียกพนักงานมาพูดคุย
หรือให้นำเสนอไอเดียอื่นในกรณีที่ไม่ยอมรับไอเดียคนอื่น
พนักงานเป็นทรัพยากรที่มีค่าของบริษัท
แม้นิสัยของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไปบ้าง แต่ปัญหาก็มีไว้แก้ไข ไม่ได้มีไว้กลุ้มใจ
การดูแลเอาใจใส่พนักงานและการสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการทำงาน
จะทำให้งานเดินหน้าไปอย่างราบรื่นและคนในองค์กรร่วมมือกันด้วยความเต็มอกเต็มใจ
อันจะส่งผลดีต่อธุรกิจในที่สุด