การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในเมืองอู่ฮั่นประเทศจีนช่วงปลายเดือนธันวาคม
2562 ได้ลุกลามขยายวงกว้างไปในหลายประเทศทั่วโลกภายในเวลาไม่นาน ทำให้มนุษย์ทั่วโลกติดเชื้อแล้วกว่า 2 ล้านกว่าชีวิต และสูญเสียไปแล้วเกือบ 2
แสนคน นั้นได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวและการส่งออกจากจีนเป็นหลัก
แม้ว่าแนวโน้มล่าสุดจะดีขึ้น
และมีความหวังว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลายไปในทางที่ดี แต่อาจเป็นไปได้ยากในข้อที่ว่า
ชีวิตหลังจากนี้จะกลับสู่ภาวะปกติเหมือนไม่เคยเกิดขึ้น เพราะต่อให้ควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้ได้ เชื้อไวรัสชนิดนี้ก็ยังไม่สูญพันธุ์หายไปจากโลก
แถมไม่มีวัคซีนป้องกันและรักษา นอกจากภูมิคุ้มกันเฉพาะคนที่เคยเป็นแล้วเท่านั้น
ดังนั้นโอกาสที่จะกลับมาสร้างความเสียหายให้แก่มนุษยชาติใหม่จึงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
จนกว่ามนุษย์จะคิดค้นวัคซีนป้องกันหรือยารักษาได้ ความปกติสุขในแบบก่อนหน้าที่ผู้คนถวิลหาจึงจะกลับมาอีกครั้ง
ซึ่งความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้
นอกจากจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้คนแล้ว ยังส่งผลต่อการทำธุรกิจชนิดที่ต้องปรับตัวไปต่อหากอยากอยู่ให้รอด
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
10 ข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบการอาจต้องเผชิญหลังโควิด-19
1. เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลขึ้นในหลายภาคส่วนธุรกิจ
การทำธุรกิจต่อจากนี้จะปฏิเสธเทคโนโลยีและดิจิตอลได้ยาก จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปทั้งก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโรค
และช่วงที่พบการแพร่ระบาด ยุคต่อจากนี้จึงเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยการนำเอาไอทีหรือเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เพิ่มผลผลิต
เพิ่มผลงาน บริษัทและองค์กรน้อยใหญ่จะมุ่งสู่ความเป็นดิจิตอลมากขึ้น
2. เกิดการแข่งขันบนโลกออนไลน์อย่างดุเดือด เรื่องของเทคโนโลยีกับโลกออนไลน์เป็นสิ่งที่แยกและตัดขาดจากกันยาก
ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจดิจิทัลเกิดขึ้นมาเพื่อรองรับพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไป
และผู้คนหันไปทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ-ขาย จ่ายเงิน
จองตั๋วโรงแรม เรียนหนังสือ ทำงาน ฯลฯ กันมากขึ้น
โลกออนไลน์ก็จะกลายเป็นสมรภูมิการแข่งขันที่ใครๆ
ก็อยากมีพื้นที่ยืนและมีส่วนแบ่งรายได้ในสนามรบแห่งนี้
3. พฤติกรรมผู้บริโภคจะเป็นตัวกำหนดรูปแบบธุรกิจและบริการ
เชื้อไวรัสโควิด-19
กลายเป็นยาเร่งสำคัญที่ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
และกำลังจะกลายเป็น New Normal หรือความปกติใหม่ของโลกเศรษฐกิจ จากพฤติกรรมของคนในสังคมที่แปรเปลี่ยนไป กลายเป็นภาคธุรกิจต้องวิ่งรับปรับตัวตาม
เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งฐานลูกค้ามาไว้ในมือให้ได้มากที่สุด
4. เกิดธุรกิจไร้เงินสดเต็มรูปแบบ การปรับตัวของคนช่วงกักตัว-ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้คนเข้ามาทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์มากขึ้น
เพื่อป้องกันการติดต่อแพร่เชื้อผ่านธนบัตรหรือเหรียญ ซึ่งกำลังจะกลายเป็นพฤติกรรมถาวรที่ต่อไปมือถือจะมีความสำคัญมากกว่ากระเป๋าสตางค์
และเดินหน้าเข้าสู่ “สังคมไร้เงินสด” อย่างเต็มรูปแบบ หากธุรกิจไม่มีการตอบโจทย์ยอมรับเพราะยังห่วงกังวลเรื่องการเสียภาษี
ก็เห็นทีว่าจะไปต่อได้ยากหรือทำยอดขายกระตุ้นการซื้อได้น้อยลง
5. เกิดการกีดกันทางการค้าเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศตัวเอง นักเศรษฐศาสตร์หลายคนประเมินว่า หลังวิกฤติโควิดสงบลงอาจเกิดการทวนกระแสของโลกาภิวัตน์ หรือ deglobalization ที่หนักมากขึ้น ประเทศต่างๆ จะเริ่มกีดกันทางการค้า ไม่ใช่เพราะต่อต้านการค้าเสรี แต่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศของตัวเอง เพราะวิกฤติครั้งนี้นับเป็นวิกฤติที่หนักหน่วง สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง ทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องตกงาน ดังนั้นรัฐบาลของแต่ละประเทศจะเร่งผลักดันให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศก่อน เพื่อฟื้นฟูความเสียหายให้เร็วที่สุด
6. การท่องเที่ยวและการบินส่อแววซบยาว ตราบใดที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงไม่สูญหายไปจากโลกนี้
และพฤติกรรมการกินอยู่ของมนุษย์ไม่มีการปรับเปลี่ยน
ไม่มีการรณรงค์เรื่องการงดบริโภคเนื้อสัตว์ป่าอย่างจริงจัง ไปจนถึงยังไม่สามารถคิดค้นวัคซีนต้านไวรัสหรือรักษาโรคโควิด-19
ได้ การเดินทางข้ามประเทศจะเป็นไปอย่างยากลำบากและเข้มงวด จากความวิตกกังวลต่อมนุษย์พาหะของโรคมาจากหลายประเทศ เพราะแม้ว่าประเทศไทยจะสงบจากโรคนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าอีกหลายประเทศทั่วโลกจะสงบได้ในเวลาเดียวกัน
ดังนั้นการไหลของผู้คนแบบข้ามประเทศ จึงอาจต้องอยู่ในวงจำกัดเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคให้ได้เด็ดขาดจนกว่าจะมียารักษาได้จริง
เมื่อคนไม่เดินทาง การบินก็ขาดรายได้ ความหวังจากการท่องเที่ยวก็จะหดหู่ซบเซาต่อไป
7. เกิดสังคมแบบ 5G เต็มรูปแบบ การกักตัวป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ทำให้ผู้บริโภคหันเข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้นนี้
จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดสังคม 5G แบบเต็มรูปแบบเร็วขึ้น จากพฤติกรรมการที่เปลี่ยนไป เช่น
ต้องอาศัยเทคโนโลยีต่างๆ ในการทำงาน ประชุมทีม มีการใช้เทคโนโลยีติดตั้งเครื่องสแกนอุณหภูมิด้วยระบบอินฟาเรดในแว่นตาของตำรวจจีน
ติดตั้งตู้จำหน่ายอาหารปรุงสุกพร้อมทานโดยหุ่นยนต์ที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และรถยนต์ไร้คนขับใช้ส่งอาหาร
กระจายเวชภัณฑ์ ทำความสะอาดถนนพ่นฆ่าเชื้อ ซึ่งเป็นเทคโนโลยี 5G ที่จีนนำมาใช้ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งเปรียบเสมือนสนามซ้อมที่กำลังจะเข้าสู่สนามจริงหลังจากนี้อีกไม่นาน
8. ผุดธุรกิจการลงทุนในดิจิทัลมากขึ้น เมื่อ 5G มาและธุรกิจต้องปรับตัวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
ย่อมไปกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในธุรกิจดิจิทัลเพื่อรองรับการเปลี่ยนไปมากขึ้น
ดังนั้นจึงคาดได้ว่าจะเกิดธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับการคิดค้นเทคโนโลยี แพลตฟอร์ม
และสินค้าดิจิทัลมากมายตามมาตามการใช้ชีวิตและสังคมที่เปลี่ยนไป
9. เกิดการปรับตัวของธุรกิจเดิมสู่บริการหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
สิ่งนี้เริ่มมาเมื่อธุรกิจมีการปรับตัวเพื่อไปต่อในช่วงกักตัวลดการแพร่เชื้อ
ดังจะเห็นได้จากมีคนลุกขึ้นมาขายข้าวแกงออนไลน์ ทำให้เปลี่ยนภาพคุ้นชินของร้านข้าวแกงแบบตักราดข้าวนั่งทานที่ร้านไปจากเดิม, มีคนคิดทำธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารราคาไม่แรงวิ่งในระแวก
โซนร้าน เพื่อลดภาระค่าจัดส่งของผู้ซื้อ ไปจนถึงผู้ขายชากาแฟปรับจากการขายเป็นแก้วมาขายเป็นลิตร
และขายอาหารบุฟเฟต์ส่งตรงถึงบ้านพร้อมอุปกรณ์การกิน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพื่อก่อเกิดบริการหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค
ที่ต่อไปจะได้เห็นผู้ประกอบการลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนกันอีกมาก
10. Omni Channel จะมาเต็ม
เมื่อตลาดอีคอมเมิร์ซโตพุ่ง
ประกอบกับเกิดการแข่งขันแบบดุเดือดบนโลกออนไลน์ และพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ไม่ได้ใช้บริการช้อปปิ้งออนไลน์หรือออฟไลน์เพียงอย่างเดียว
แต่จะใช้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ตลอดขั้นตอน การเชื่อมโยงโลกช้อปปิ้งออนไลน์กับร้านออฟไลน์ได้แบบไม่สะดุด
จะมัดใจลูกค้าได้มากกว่าการค้าขายแบบ Single Channel หรือ Multi Channel
แหล่งอ้างอิง :
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/876874
https://www.matichon.co.th/economy/eco-report/news_2136918