เช็คอุณหภูมิเศรษฐกิจเมียนมา หลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย
การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
เริ่มมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจของเมียนมาเช่นเดียวกับประเทศอื่นทั่วโลก โดยกระทั่งถึง 5 พฤษภาคม 2563 มียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสม
161 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมที่พบการระบาดเพียง 15 ราย ส่งผลเชื่อมโยงต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ
หรือ จีดีพี เมียนมาในปีนี้ให้มีความเสี่ยงที่จะขยายตัวได้ต่ำกว่าคาดการณ์ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ
(IMF)
คาดไว้ว่าจะขยายตัว 6%
โดยที่ผ่านมารัฐบาลเมียนมาได้มีมาตรการเข้มงวดเช่นเดียวกับทั่วโลก ทั้งการยกเลิกการจัดงานพิธี หรือการจัดกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากเข้าร่วม การยกเลิกทั่วบินโดยสารเข้าเมียนมา โดยยกเว้นให้เฉพาะทั่วบินขนส่งสินค้า และเที่ยวบินทางการแพทย์ ที่จะได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ประกาศปิดสถานบันเทิงตลาด รวมถึงร้านอาหารเพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อด้วย
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
ขณะเดียวกันรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19
โดยมุ่งไปที่กลุ่มธุรกิจรับจ้างผลิต หรือ Cut Make Produce (PMC) ธุรกิจโรงแรม รวมถึงกิจการของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ( SMEs)
ซึ่งรัฐบาลได้จัดให้มีกองทุน COVID-19 วงเงิน
1 แสนล้านจ๊าต หรือประมาณ 2,300 ล้านบาท เป็นเงินที่มาจากรัฐบาลร้อยละ 50%
เพื่อนำมาปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียงร้อยละ
1 ระยะเวลาให้กู้ยาว 1 ปี
ทั้งยังได้มีมาตรการผ่อนผันด้านภาษีรายไตรมาส
และภาษีการค้ารายเดือน สำหรับธุรกิจ CMP ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม
และเอสเอ็มอี โดยกำหนดให้ขยายระยะเวลาชำระภาษีออกไปจากเดิมจะสิ้นสุด 30 มิถุนายน
เป็น 30 กันยายน 2563 และการชำระภาษีการค้าจากเดิมสิ้นสุด 31 สิงหาคม เป็น 30
กันยายน 2563 นอกจากนี้ในส่วนของภาษีเงินได้ที่เก็บล่วงหน้าจากการส่งออกอัตราร้อยละ
2 จะได้รับการยกเว้นไปจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2019-2020
การค้าชายแดนเริ่มกลับมาฟื้น
โอกาสในการขยายการค้าและการลงทุนในเมียนมายังพอมีความหวังมากสำหรับผู้ประกอบการไทย
โดยเฉพาะการค้าผ่านชายแดน
ซึ่งรัฐบาลเมียนมายังคงอนุญาตให้มีการขนส่งสินค้าผ่านจุดผ่านแดนถาวร 3 แห่ง คือ
จุดท่าขี้เหล็ก-อ.แม่สาย จ.เชียงราย สามารถขนส่งผ่านสะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 2
โดยอนุญาตบรรทุกพร้อมคนขับ 1 คน จุดผ่านแดนเมียวดี-แม่สอด จ.ตาก สามารถขนส่งสินค้าผ่านสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่
2 โดยอนุญาตการเข้า-ออก รถทั้งคนขับ และคนประจำรถรวม 2 คนต่อคัน ผ่านด่านภายใน
14.00 น.และจุดผ่านแดนเกาะสอง-จ.ระนอง สามารถนำเข้าและส่งออกผ่านแดนได้เช่นกัน
ทั้งหมดจะต้องมีการตรวจสอบตามระบบการคัดกรอง
ทั้งนี้ผลจากการระบาดขอโควิด-19
ทำให้เมียนมาต้องนำเข้าสินค้าเวชภัณฑ์
และสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพเพิ่มขึ้น
อีกทั้งค่าเงินจ๊าตแข็งค่าสูงสุดในรอบ 1 ปี 6 เดือน
จึงทำให้ยอดการค้าระหว่างประเทศในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2019-2020
(ต.ค.2019- มี.ค. 2020) มีมูลค่า 18,684.71 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.4
โดยเป็นการนำเข้า 10,021 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 และส่งออก 8,663
ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9
ขณะที่มูลค่าการชายแดนไทย-เมียนมา 2 เดือนแรก (ม.ค.- ก.พ.) 2020 มีมูลค่า 1,241 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.39 โดยไทยส่งออก 475.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.75 และนำเข้า 766 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 5.69 จากการมาตรตรวจสอบการแพร่ระบาดโควิด-19 เข้มข้น ทำให้การส่งออกและนำเข้าต้องล่าช้า
การลงทุนยังชะลอตัว
ด้านสถานการณ์การลงทุนนั้น กระบวนการพิจารณาอนุมัติการลงทุนโครงการขนาดต่ำกว่า
5 ล้านเหรียญสหรัฐในย่างกุ้งยังเป็นปกติ และโรงงานผลิตส่วนใหญ่ยังคงเดินเครื่องผลิตได้เป็นปกติ ยกเว้นโรงงานที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ
เช่น สิ่งทอ จะมีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบบ้าง และสำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่กว่า 5
ล้านเหรียญสหรัฐ ต้องใช้เวลาเตรียมการลงทุน 6-12 เดือน
ภาพรวมการขอรับการส่งเสริมการลงทุนช่วง 5
เดือนแรกของปีงบประมาณ 2019-2020 (ต.ค.2019- ก.พ.2020)
โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งเมียนมา (MIC) มีมูลค่า
2,635 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในจำนวนนี้ไทยถือเป็นนักลงทุนอันดับ 6
ที่เข้าไปลงทุนในเมียนมา มีมูลค่าการลงทุน 34.1 ล้านเหรียญสหรัฐ รองจาก ฮ่องกง
สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร จีน และเกาหลีใต้ (ตามลำดับ) และมูลค่าการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ
(SEZ) ณ วันที่ 31 มี.ค. 2020 ไทยลงทุนอยู่ที่ 180.3
ล้านเหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ตามทางหน่วยงานที่ดูแลด้านการลงทุนในเมียนมา (DICA) ยอมรับว่าผลจากการระบาดของโควิด-19 อาจจะทำให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเมียนมาชะลอตัวลง เพราะโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเมียนมา