ในวิกฤติของสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา
2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) ที่กำลังลุกลามไปทั่วโลก
ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ลดความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีความต้องการทางการตลาดสูง
เป็นโอกาสของผู้ประกอบการในการปรับตัวเพื่อสร้างรายได้
ข้อมูลจากส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)
ระบุว่า ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ลดความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีความต้องการทางการตลาดสูง
และผู้ประกอบการไม่สามารถผลิตสินค้าได้เพียงพอกับความต้องการโดยมีด้วยกัน 5
ผลิตภัณฑ์ ได้แก่
1. หน้ากากอนามัย
2. เจลล้างมือ
3. ทิชชูเปียกแอลกอฮอล์
4. ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น-เสปรย์ยับยั้งเชื้อไวรัส
5. สมุนไพรไทย
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
โดย กสอ.ได้สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยปรับกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับความต้องการของตลาด
โดยนำองค์ความรู้มาผสานกับเทคโนโลยี
เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ พร้อมกับเพิ่มศักยภาพทางด้านกระบวนการผลิต
ด้วยการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตสินค้าเป็นที่ต้องการของตลาดและสามารถเลือกใช้วัตถุดิบอื่นๆ
ในการผลิตทดแทนกับวัตถุดิบหลักที่ขาดแคลน โดยมีรายละเอียด 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ดังต่อไปนี้
เปลี่ยนการผลิตเสื้อผ้าสู่หน้ากากผ้า : การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ทำให้ความต้องการหน้ากากอนามัยสูง
สวนทางกับกำลังการผลิตภายในประเทศได้ประมาณ 40.5 ล้านชิ้นต่อเดือน
(ข้อมูลจาก กรมการค้าภายใน) ดังนั้นผู้ประกอบการในกลุ่มสิ่งทอ
สามารถปรับกระบวนการผลิต การตัดเย็บเสื้อผ้าแฟชั่น เสื้อผ้ากีฬา
มาสู่การตัดเย็บหน้ากากผ้า โดยสามารถดำเนินการได้ทันที สามารถดีไซน์ลวดลายตามเทรนด์แฟชั่นและพัฒนาขนาดให้สอดรับกับกลุ่มผู้ใหญ่และเด็ก
สำหรับโครงสร้างสิ่งทอที่เหมาะสมกับการป้องกันไวรัสโควิด-19 อาทิ
ผ้านิตเจอร์ซี่ (Jersey Knit) หรือผ้าสะท้อนน้ำ
ซึ่งมีคุณสมบัติป้องกันสารคัดหลัง ไอ จาม หรือเสมหะ
ปรับสายการผลิตน้ำหอมสู่เจลล้างมือ : สำหรับความต้องการกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
“เจลล้างมือ” พุ่งสูงขึ้น โดยกำลังการผลิตในประเทศไทยประมาณ 400,000 หลอดต่อเดือน (ข้อมูลจาก องค์การเภสัชกรรม)
ซึ่งอาจไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด
ดังนั้นกลุ่มธุรกิจความงามที่มีสายการผลิตน้ำหอม
สามารถปรับกระบวนการผลิตจากน้ำหอมสู่การทำเจลล้างมือ
เนื่องจากมีสายการผลิตที่สามารถดำเนินการได้
แต่ในสถานการณ์ที่กำลังการผลิตแอลกอฮอล์ขาดแคลน และราคาพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว
ผู้ประกอบการสามารถนำ “ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์” หรือ “แอลกอฮอล์ล้างแผล”
เป็นวัตถุดิบทดแทนการผลิตเจลล้างมือได้
เพราะมีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อไวรัสได้ดีและยังมีราคาถูก
สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตทิชชูเปียกผสมแอลกอฮอล์ : ประเทศไทยผู้ประกอบการโรงงานกระดาษทิชชูเปียกที่ปราศจากแอลกอฮอล์มีอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศไทย
ดังนั้นในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้ในท้องตลาดมีความต้องการผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น
จึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
ที่จะหันมาเร่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ด้วยการพัฒนา “ทิชชูเปียก” มาสู่
“ทิชชูผสมแอลกอฮอล์” ต่อยอดจากผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติยับยั้งแบคทีเรีย 99.9% มาสู่ผลิตภัณฑ์ที่ยับยั้งเชื้อไวรัส
ซึ่งปัจจุบันทิชชูเปียกผสมแอลกอฮอล์เริ่มเป็นที่ต้องการของตลาดสูงขึ้น
เนื่องจากมีความสะดวกต่อการใช้งาน
ต่อยอดผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น-สเปรย์ยับยั้งเชื้อไวรัส
: สำหรับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้นหรือสเปรย์ในปัจจุบัน
อาจมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอสำหรับการยับยั้งไวรัส เพราะผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั่วไป
มีคุณสมบัติทำความสะอาดคราบสกปรกและฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้เท่านั้น
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทดังกล่าว
ผู้ประกอบการสามารถต่อยอดองค์ความรู้ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยี
พัฒนาผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดยับยั้งไวรัส หรือพัฒนาสเปรย์เพื่อเป็นอีกทางหนึ่งสำหรับการใช้งาน
เสริมสร้างภูมิปัญญาไทยโอกาสสมุนไพรไทยระดับสากล : ปัจจุบันประเทศไทยมีความโดดเด่นเรื่องพืชสมุนไพร ซึ่งเป็นพืชที่ไม่ใช่พืชเศรษฐกิจหลัก กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ สามารถนำองค์ความรู้ทางภูมิปัญญาไทยสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายในเชิงพาณิชย์ อย่างเช่น ฟ้าทะลายโจร เป็นสมุนไพรที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ดีเพื่อผลักดันสมุนไพรไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ผู้ประกอบการควรเติมเต็มองค์ความรู้ การออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีคุณภาพผ่านการรับรองมาตรฐานความปลอดภัย
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน จึงต้องเร่งปรับกระบวนการผลิตให้ทันกับความต้องการของตลาด เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสและเป็นการส่งเสริมรายได้และการสร้างงาน