วัคซีนโควิด 19 ที่นำมาใช้แล้วขณะนี้ เป็นชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อผ่านเข็มฉีดยาซึ่งทำให้เจ็บปวดบริเวณที่ฉีด อีกทั้งยังมีข้อจำกัดอื่นด้วย จึงมีการพัฒนาวัคซีนโควิด 19 สู่รูปแบบที่ไม่ใช้เข็มฉีดยา ซึ่งวิธีการให้วัคซีนเหล่านี้ไม่ทำให้เจ็บ จึงคาดว่าจะเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในผู้ที่กลัวเข็มฉีดยาโดยเฉพาะเด็ก การให้วัคซีนในรูปแบบที่กล่าวมา (ยกเว้นชนิดฉีดแบบไร้เข็ม) สามารถเรียนรู้และให้วัคซีนได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องอาศัยบุคลากรสาธารณสุข จึงเพิ่มความสะดวก ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสถานพยาบาล ช่วยให้การกระตุ้นภูมิคุ้มกันจากการได้รับวัคซีนครั้งที่สองเป็นไปได้มากขึ้น ทำให้โครงการป้องกันโรคระบาดประสบความสำเร็จสูง ซึ่งคาดว่าวัคซีนโควิด 19 รูปแบบที่ไม่ใช้เข็มฉีดยานี้อาจมีบทบาทมาก ภายหลังพ้นการระบาดครั้งใหญ่ไปแล้ว โดยการพัฒนาวัคซีนโควิด 19 สู่รูปแบบที่ไม่ใช้เข็มฉีดยาที่จะกล่าวถึงมีดังนี้
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
1. วัคซีนโควิด 19 ชนิดฉีดแบบไร้เข็ม
เทคโนโลยีการฉีดแบบไร้เข็ม (needle-free jet
injection) มีใช้มานานแล้ว ทั้งการให้ยาทั่วไปและการให้วัคซีน
โดยมีอุปกรณ์ที่เป็นตัวฉีด (jet injector) ซึ่งทำให้เกิดแรงดันยาผ่านหัวฉีดที่มีรูเปิดขนาดเล็กกว่าเส้นผม
(แทนที่จะเป็นเข็มฉีดยา) ทำให้ยาปริมาณน้อยเคลื่อนที่ด้วยแรงดันและความเร็วสูง
พุ่งผ่านผิวหนังลงสู่ชั้นเป้าหมายที่ต้องการให้ยาออกฤทธิ์คล้ายการฉีดผ่านเข็มฉีดยา
ไม่ว่าจะเป็นการฉีดเข้าในผิวหนัง การฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ สามารถใช้ได้กับยาไม่ว่าจะเป็นของเหลวหรือผง
การให้ยาแบบนี้จะช่วยดันยาเข้าใต้ผิวหนังชั้นลึกและทำให้ยากระจายตัวได้ดี
จึงใช้ยาในปริมาณที่น้อยกว่าการฉีดผ่านเข็ม
2. วัคซีนโควิด 19 ชนิดให้ทางจมูก
ไวรัสโควิด 19 เข้าสู่ทางเดินหายใจได้โดยผ่านทางจมูกเข้าสู่ปอด
การให้วัคซีนทางจมูกสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่ชั้นเมือก (mucosal immunity) ในทางเดินหายใจได้
ซึ่งที่ทางเดินหายใจตั้งแต่จมูกจนถึงปอดมีเซลล์ภูมิคุ้มกัน (immune cells) มากมาย การให้วัคซีนทางจมูกและสูดเข้าทางเดินหายใจ
จึงน่าจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้ดีทั้งการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันด้วยสารน้ำหรือแอนติบอดี
(humoral immunity หรือ antibody-mediated
immunity) และการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันชนิดพึ่งเซลล์ (cellular immunity หรือ cell-mediated
immunity) ซึ่งอาศัยเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที-ลิมไฟไซต์ (T lymphocyte หรือ T cell), แมคโครฟาจ (macrophage) และสารไซโตไคน์ (cytokines)
ชนิดต่างๆ
จึงต่างจากการฉีดเข้ากล้ามเนื้อซึ่งจะกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันด้วยสารน้ำหรือแอนติบอดีเกือบทั้งสิ้น
ด้วยเหตุนี้วัคซีนโควิด 19
ชนิดให้ทางจมูกจึงน่าจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสได้ดีกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
3. วัคซีนโควิด 19 ชนิดกิน
วัคซีนชนิดกินสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่ชั้นเมือกในทางเดินอาหารได้
ทั้งการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันด้วยสารน้ำหรือแอนติบอดีและการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันชนิดพึ่งเซลล์
4. วัคซีนโควิด 19 ชนิดสูดทางปาก
การสูดวัคซีนทางปากโดยใช้อุปกรณ์พ่นละอองยา (nebulizer) เพื่อให้วัคซีนเข้าสู่ทางเดินหายใจ (orally inhaled vaccine) จะคล้ายกับการได้รับเชื้อที่มากับละอองสารคัดหลั่งซึ่งล่องลอยในอากาศตามธรรมชาติ
สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในทางเดินหายใจได้
5. วัคซีนโควิด 19 ชนิดแผ่นติดผิวหนัง
กำลังได้รับความสนใจจากหลายหน่วยงาน ในการติดแผ่นวัคซีนจะเลือกติดบริเวณที่มีเซลล์ภูมิคุ้มกันอยู่หนาแน่นและติดเป็นเวลาสั้นๆ เพื่อให้วัคซีนผ่านผิวหนังไปกระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกัน ก่อนหน้านี้ได้มีการพัฒนาเพื่อใช้กับวัคซีนอื่นอยู่แล้ว เมื่อเกิดการระบาดของโควิด 19 หน่วยงานเหล่านั้นจึงมีการพัฒนาวัคซีนโควิด 19 เป็นชนิดแผ่นติดผิวหนังด้วย
แหล่งอ้างอิง :
https://pharmacy.mahidol.ac.th/
สมัครสินเชื่อ >>สินเชื่อธุรกิจบัวหลวง SMEs ดีแน่นอน<<