ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวไปไกลอย่างไม่หยุดยั้งและไวกว่าโลกหมุนรอบตัวเองเช่นปัจจุบัน
เป็นโอกาสที่ดีที่จะปั้น Deep
Tech Startup ให้เป็น Unicorn ตัวแรกของไทย (Unicorn
ในวงการ Startup หมายถึง ธุรกิจ Startup
ที่ประสบความสำเร็จจนมีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ)
แต่ทำไมถึงควรเป็น Deep Tech Startup และจะผลักดันอย่างไรให้ก้าวไปสู่การเป็น
Unicorn ได้
นอกจากคำว่า
Unicorn ยังมีคำว่า ‘Centaur’ (เซนทอร์)
ที่วงการสตาร์ทอัพหมายถึงธุรกิจที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนอีกคำหนึ่งคือคำว่า ‘My Little Pony’
ในวงการสตาร์ทอัพหมายถึงธุรกิจมูลค่าบริษัทมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั่นเอง
มากไปกว่านั้นยังมีคำว่า Decacorn (เดเคคอร์น) มาจากคำว่า (Deca-)
ที่แปลว่า 10 หมายถึง ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 10 Billion
USD หรือ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐอีกด้วย ตัวอย่างอาทิ Facebook
Google และ Microsoft
สำหรับ Deep Tech Startup เป็นสตาร์ทอัพที่มีจุดประสงค์จัดหาหรือสร้างสรรค์เทคโนโลยี ไม่ว่าจะทางวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ หรือใดๆ ก็ตามที่มีลักษณะเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงไม่เหมือนทั่วไป และยากต่อการเลียนแบบ ค่อนข้างได้เปรียบมากกว่าสตาร์ทอัพอื่นๆ ด้วยความที่ไม่เหมือนใครเลยตัดคู่แข่งไปได้มาก หากเปรียบวงการสตาร์ทอัพเป็นพีระมิดก็เหมือนกับ Deep Tech Startup อยู่บริเวณบนยอดของพีระมิดเลยทีเดียว
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
หนทางสู่การปั้น
Deep Tech Startup เป็น Unicorn
เมื่อช่วงประมาณ
3-4 ปีที่ผ่านมานี้ IMD ได้มีการจัดอันดับ The
IMD World Talent Ranking โดยนำการลงทุนและการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นอีกหนึ่งประกอบในการจัดอันดับส่วนการลงทุนและการพัฒนาด้วย
ทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีซึ่งเป็นตัวสะท้อนความสำเร็จโดยรวมของแต่ละประเทศถูกพัฒนาไปมากน้อยขนาดไหน
ซึ่งหากจะดูเรื่องความก้าวหน้าของประเทศไทยแล้วถือว่า
มีความด้อยลงจากในแต่ละปีจนปัจจุบันตกลงมาอยู่ในอันดับที่ 43 และหากรวมการลงทุนและการพัฒนาเข้าไปด้วยจะอยู่ในอันดับ 51
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า
ในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังคงไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องของการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างจริงจังเท่าที่ควร
ในขณะที่องค์กรยักษ์ใหญ่ทั่วโลกอย่าง Google, Facebook, Amazon, Microsoft ฯลฯ ต่างให้ความสนใจอย่างมาก แต่ทั่วโลกยังไม่ได้มีสตาร์ทอัพแนวนี้มากเท่าไหร่นัก
เนื่องจากด้วยความยากและต้องใช้เวลาอย่างยาวนาน
ปัจจุบัน
Deep Tech ในไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นของการคิดค้น พัฒนา และต่อยอด ซึ่งไทยนับว่าเป็นอีกประเทศที่มีความพร้อมในด้านของบุคลากรและองค์ความรู้
เพียงแต่ขาดการสนับสนุน
หากนักลงทุนและนักพัฒนาสร้างสรรค์เทคโนโลยีของไทยร่วมมือร่วมใจกันทำ Deep
Tech Startup รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากส่วนภาครัฐเอง ก็มีโอกาสที่จะดัน
Deep Tech Startup ให้ประสบความสำเร็จจนเป็น Unicorn ตัวแรกของไทยได้ไม่ยาก
ดัน
Deep Tech Startup ไทยให้ก้าวไปสู่การเป็น Unicorn
1) บุคลากรเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน : เริ่มแรกคือด้วยความที่
Deep Tech
Startup เป็นธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูงที่ต้องใช้ความรู้ เวลา
และทุนสนับสนุนเป็นจำนวนมาก ดังนั้นในการทำงานแต่ละด้านจำเป็นที่จะต้องเป็นผู้มีความรู้อย่างเชี่ยวชาญ
ทั้งด้านเทคโนโลยี การตลาด การบริหาร ฯลฯ ตั้งแต่การวางแผน ทดลอง
สื่อสารกับผู้สนับสนุนและกลุ่มเป้าหมาย ไปจนถึงสร้างสรรค์และผลิตผลงาน
เพื่อให้ยากต่อการเลียนแบบ และผลิตออกมาได้ดีจริงจนตอบโจทย์การใช้งานในระดับนานาชาติ
2) วิเคราะห์นวัตกรรมที่ต้องการสร้าง :
สิ่งที่คุณจะสร้างจำเป็นที่จะต้องผ่านการคิดมาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่า
สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และเป็นเทคโนโลยีซับซ้อนที่แตกต่างจากคนอื่น เช่น
สำรวจตลาด, ตรวจสอบเอกสารสิทธิบัตรให้เรียบร้อย ฯลฯ
อีกทั้งอาจตรวจสอบทรัพยากรที่มีอยู่และแตกต่างจากชาติอื่น
ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ตาเห็น หรือสินทรัพย์ไม่มีตัวตน เพื่อเสริมความโดดเด่นและไม่สิ้นเปลือง
3) โฆษณาอย่างมีประสิทธิภาพ : ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องโฆษณาแค่เพียงเมื่อสำเร็จจนผลิตออกมาวางขาย
แต่อาจจะมีการวางแผนโฆษณาอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ช่วงระดมทุนให้นักลงทุนที่สนใจธุรกิจสาย
Deep Tech รู้จักและรู้สึกมั่นใจ (ทั้งความสำเร็จและผลกำไร)
จนเลือกมาสนับสนุนคุณ
รวมถึงปูทางให้ผู้บริโภครู้จักชื่อเสียงองค์กรและตัวผลิตภัณฑ์ตั้งแต่เนิ่นๆ
4) มีการวางแผนที่ชัดเจน : แม้แต่การผลิตที่ใช้เวลาไม่นานยังต้องมีแผนที่ชัดเจนว่า
ในแต่ละขั้นตอนจะสำเร็จเมื่อไหร่อย่างไร
การทำธุรกิจที่ต้องใช้ทุนสูงและระยะเวลายาวนานอย่าง Deep Tech ก็จำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนแบ่งเป็นช่วงเวลาที่ชัดเจนว่า ควรจะวิจัย
ทดลอง ผลิตได้ภายในกี่ปี แต่ละขั้นตอนจะใช้ทุนเท่าไหร่
เพื่อรายงานให้ผู้สนับสนุนได้รับทราบ
ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนจะออกมาร่วมมือสนับสนุนให้ Deep Tech Startup ได้กลายเป็น Unicorn ตัวแรกของไทย และสร้างโครงการสนับสนุน Startup สาย Deep Tech กันต่อไปเรื่อยๆ เพราะไม่เพียงแต่จะสร้างรายได้เข้าประเทศแล้ว ยังเป็นตัวช่วยสะท้อนศักยภาพความสามารถของทรัพยากรและคุณภาพของระบบการศึกษาภายในประเทศอีกด้วย