“โควิด
19” เป็นตัวเร่งการเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจบริการส่งอาหารออนไลน์ หรือ
Online Food Delivery โดยมีข้อมูลจาก Research
and Markets รายงานว่ามูลค่าตลาด Online Food Delivery ทั่วโลก ปี 2563 สูงถึง 111,320 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 3.67% จากปี 2562 ที่มีมูลค่า 107,440 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
และแน่นนอนว่า ปัจจัยหลักมาจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกต้องใช้ชีวิตและทำงานจากที่บ้าน จึงหันมาใช้บริการ Online Food Delivery มากขึ้น และยังมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาด Online Food Delivery จะเพิ่มขึ้นเป็น 154,340 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2573
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
สำหรับธุรกิจนี้ในประเทศไทย ปัจจุบันก็เติบโตไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก โดยในปี 2563 มีมูลค่า 68,000 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2564 จะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 74,000 ล้านบาท
ประเภทผู้ให้บริการธุรกิจนี้ จะมีทั้งผู้ประกอบการร้านอาหารเดิมที่เปิดบริการช่องทางนี้ (Own Channel) เช่น กลุ่มเชนร้านอาหารรายใหญ่ เช่น ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป ซีอาร์จี (CRG) และผู้ประกอบการที่ทำหน้าที่รวบรวมร้านอาหารประเภทต่างๆ (Food Aggregator) เพื่อมาให้บริการบนแพลตฟอร์มออนไลน์ 4 รายคือ Grab, Gojek, LINE MAN, Food Panda
นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการที่มาจากธุรกิจอื่นที่พัฒนาบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ซึ่งจะเห็นว่าผู้ให้บริการแต่ละรายต่างแข่งขันกันสร้างจุดเด่น เพื่อจูงใจลูกค้า ซึ่งต้องการเลือกใช้แพลตฟอร์ม Food Delivery ที่ให้บริการอย่างรวดเร็ว จัดส่งอาหารถูกต้องตามที่ออเดอร์ไป โปรโมชัน และค่าส่งสมเหตุสมผล คุณภาพบริการของพนักงานจัดส่ง และความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการ
อย่างไรก็ตาม
แม้ว่าตลาดนี้จะเติบโตสูงและมีการแข่งขันที่รุนแรงเพียงใด แต่ทว่ามักจะมีปัญหาที่ถูกร้องเรียนในเรื่องของแพลตฟอร์มผู้ให้บริการ Food Delivery ต่างๆ ปรับขึ้นค่าส่วนแบ่งรายได้
(Commission Fee หรือ Gross Profit (GP)) หรือ ค่าคอมมิชชั่นจากผู้ประกอบร้านอาหารสูงมากถึง
30% ของยอดขาย จนส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค
โดยเฉพาะยิ่งเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิดระลอก 3 ที่รุนแรง ทำให้รัฐออกมาตรการห้ามไม่ให้นั่งรับประทานอาหารในร้าน
เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด ยิ่งบีบให้ผู้บริโภคต้องเลือกใช้บริการ Food
Delivery นำมาสู่การกำหนดเงื่อนไขบีบร้านอาหารมากขึ้น
พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า
ปกป้องร้านค้าโดนเอาเปรียบ
จากปัญหาดังกล่าว นำมาสู่การวางแนวทางการกำกับดูแล โดยในส่วนกรมการค้าภายในในฐานะผู้กำกับดูแลกฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ 2542 ได้ออกมาดูแลผู้ให้บริการ Food Delivery ห้ามฉวยโอกาสขึ้นราคา พร้อมขอให้ลดค่าGP เดลิเวอรี
ไม่เพียงเท่านั้น
สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า
(สขค.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลตาม
พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า
2560 ยังขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบธุรกิจทุกราย พิจารณาแนวทางการปรับลดอัตราค่า
GP รวมทั้งมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์การการแพร่ระบาดของโควิด
19
จากที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ได้ออกประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่องแนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ระหว่างผู้ประกอบธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มรับและส่งอาหารกับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร (ไกด์ไลน์ ฟู้ด เดลิเวอรี่ )
ซึ่งมีข้อกำหนดต่างๆ อาทิ การเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ค่าตอบแทน หรือผลประโยชน์อื่น ๆ ที่ไม่เป็นธรรม โดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารทราบล่วงหน้า ถึงเหตุผลและความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาที่เหมาะสม
การกำหนดเงื่อนไขทางการค้าอันเป็นการจำกัด
หรือขัดขวางการประกอบธุรกิจของผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม เช่น การห้ามจำหน่ายอาหารผ่านช่องทางของผู้ประกอบธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มรับและส่งอาหารรายอื่น
โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
ทั้งนี้
การใช้อำนาจตลาดหรืออำนาจต่อรองที่เหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรม เช่น การเข้าไปแทรกแซง การกำหนดเงื่อนไขบังคับด้านราคา การประวิงเวลาจ่ายค่าสินค้าตามระยะเวลาที่กำหนด
(Credit Term) การปฏิเสธการทำการค้ากับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร การยกเลิกผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารออกจากช่องทางจำหน่ายโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขภายใต้สัญญา โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ไม่มีการแจ้งล่วงหน้า เป็นต้น
เพื่อเป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติ
ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจ Online Food Delivery และผู้ประกอบการร้านอาหารที่กำลังจะเปิดช่องทางเดลิเวอรี จำเป็นที่ต้องศึกษาและปฏิบัติตามแนวทางกำกับดูแลเหล่านี้ เพื่อให้การแข่งขันเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม