EU ลดพลาสติกแก้วิกฤต ‘ขยะ’ ภาคธุรกิจต้องปรับตัวอย่างไร?
สหภาพยุโรป (EU) มีจำนวนขยะพลาสติกมากถึง 26 ล้านตัน/ปี (ประมาณ 16 ล้านตัน มาจากบรรจุภัณฑ์ต่างๆ อาทิกล่องอาหาร ขวด
แก้วน้ำถุงพลาสติก ฯลฯ) โดยมีเพียงร้อยละ 30 ที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ ในขณะที่พลาสติกอื่นๆ
จะถูกกำจัดด้วยการเผา (ร้อยละ 39) หรือฝังกลบ (ร้อยละ 31) ปัญหาขยะพลาสติกจำนวนมากที่เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งขยะพลาสติกที่ไม่ได้ถูกคัดแยกหรือกำจัดอย่างถูกวิธี
ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างมลพิษในดิน น้ำ และอากาศ เกิดภาวะโลกร้อน
รวมทั้งเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์และสัตว์
ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญ ในปี 2561 สหภาพยุโรปออก “ยุทธศาสตร์พลาสติก (European Plastics Strategy)” โดยมุ่งปรับเปลี่ยนวิธีการออกแบบ ผลิตและรีไซเคิลผลิตภัณฑ์พลาสติกในสหภาพยุโรป โดยเน้นการออกแบบที่ดีขึ้น การเพิ่มอัตราการรีไซเคิลพลาสติก การสนับสนุนการรีไซเคิล และการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ ขณะที่เดือนมีนาคม 2562 สภายุโรปลงมติผ่าน “ร่างข้อบังคับเรื่องพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-Use Plastics Directive)” โดยมีสาระสำคัญดังนี้
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
- ยกเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ประเภทที่มีผลิตภัณฑ์ทางเลือกอื่นๆ
ในตลาดที่สามารถใช้ทดแทนกันได้ อาทิ ก้านสำลี ส้อม ช้อน จาน หลอดพลาสติก
หันมาใช้ภาชนะที่ทำมาจากพลาสติกพอลิสไตรีนชนิด Expanded Polystyrene และพลาสติกย่อยสลายได้จำพวก
Oxo-degradable plastic มีผลบังคับใช้วันที่ 3 กรกฎาคม 2564
เป็นต้นไป
- ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ประเภทที่ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ทางเลือกอื่นที่สามารถใช้ทดแทนกันได้ เช่น แก้วน้ำ ฝาปิดพลาสติก
เพื่อให้ผู้บริโภครับทราบข้อมูล ประเภท และวิธีจัดการขยะดังกล่าวอย่างเหมาะสม
- ตั้งเป้าหมายจัดเก็บและคัดแยกขวดพลาสติกไปรีไซเคิลเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 77 ในปี 2568 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 90 ภายในปี 2572 และกำหนดให้ขวดพลาสติก PET ต้องมีส่วนประกอบของพลาสติกรีไซเคิลอย่างน้อยร้อยละ 25 ภายในปี 2568
กฎระเบียบภาษีพลาสติกของสหภาพยุโรป (EU Plastic Levy)
มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจสหภาพยุโรป
(EU Recovery Plan) เพื่อช่วยเหลือภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์
COVID-19 โดยประเทศสมาชิกจะต้องจ่ายเงินเพื่อเป็นงบประมาณให้แก่สหภาพยุโรป
ซึ่งคำนวณจากน้ำหนักขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทที่รีไซเคิลไม่ได้ (non-recycled plastic waste) ในอัตรา 0.80 ยูโร/กิโลกรัม หรือ 800 ยูโร/ตัน
โดยประเทศสมาชิกสามารถพิจารณารูปแบบการจ่ายเงินดังกล่าวได้ไม่ว่าจะเป็นจากงบประมาณแผ่นดิน
หรือใช้วิธีเรียกเก็บภาษีพลาสติกในประเทศ อาทิ ผู้ผลิต
ผู้ประกอบการ หรือผู้จำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติที่รีไซเคิลไม่ได้
ความท้าทายต่อภาคอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม
กฎระเบียบและมาตรฐานบรรจุภัณฑ์พลาสติกของสหภาพยุโรปมีแนวโน้มที่จะเข้มงวดมากยิ่งขึ้น
โดยในปี 2564 สหภาพยุโรปจะมีการบังคับใช้กฎระเบียบจำนวน 2 เรื่อง ได้แก่กฎระเบียบว่าด้วยการยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งประเภทที่มีทางเลือกอื่นๆ
ในตลาดทดแทนกันได้ และกฎระเบียบว่าด้วยการเก็บภาษีขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทที่รีไซเคิลไม่ได้
ดังนั้นผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตพลาสติก
อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกหรือผู้จำหน่าย จะต้องเตรียมพร้อมในการรับมือและปรับตัวในการใช้บรรจุภัณฑ์อาหารที่มีความยั่งยืน
(sustainable food packaging) ได้แก่
1. หลีกเลี่ยงหรือลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก (Prevention/Reduction
of packaging)
โดยลดหรือยกเลิกการใช้พลาสติกห่อหุ้ม อาหารโดยไม่จำเป็นซึ่งเป็นวิธีดีที่สุดในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการใช้ทรัพยากร โดยต้องไม่เป็นการทำให้คุณภาพหรือความปลอดภัยของอาหารลดลง
2. บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ (Reuseable
packaging)
โดยออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง
ซึ่งช่วยลดขยะพลาสติก ลดต้นทุนระยะยาวของธุรกิจและสอดคล้องกับแนวคิด
เศรษฐกิจหมุนเวียน
3. พลาสติกรีไซเคิล (Recycle plastics)
เพิ่มสัดส่วนการใช้พลาสติกรีไซเคิลในบรรจุภัณฑ์ในขณะเดียวกันจะต้องคำนึงถึงการรักษาคุณภาพ
ลดความสูญเสียอาหารและความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก
4. ใช้วัสดุทดแทน (Alternative materials)
วัสดุทดแทนพลาสติกที่ผลิตจากชีวมวลเส้นใยหรือสารสกัดจากธรรมชาติที่ย่อยสลายได้
อาทิ พลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากเศษปลาเหลือทิ้งและสาหร่ายทะเล พลาสติกชีวภาพ Polylactic
acide ที่ผลิตจากข้าวโพด มันสำปะหลังหรืออ้อย และฟิล์มห่ออาหารที่ผลิตจากพอลิเมอร์ชีวภาพในกลุ่มคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน
5. บรรจุภัณฑ์อัจจฉริยะ (Smart/Intelligent
packaging)
ปัจจุบันสหภาพยุโรปได้มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะที่ช่วยยืดอายุและรักษาคุณภาพอาหาร
ควบคุมการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย นอกจากนี้บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะที่ผนวกเทคโนโลยีบาร์โค้ด
QR Code และ RFID (Radio Frequency Identification System) มีประโยชน์ในการติดตามและควบคุมสภาพการเก็บรักษาอาหาร
ตั้งแต่สถานที่ผลิตไปจนถึงมือผู้บริโภค
ตลอดจนให้ข้อมูลเกี่ยวกับการคัดแยกขยะและรีไซเคิลที่เหมาะสม
เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
การบังคับใช้กฎระเบียบพลาสติกของสหภาพยุโรปอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของประเทศที่สามในอนาคต
ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มต้องจ่ายภาษีสำหรับการส่งออกบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทที่รีไซเคิลไม่ได้
ดังนั้นผู้ประกอบการไทยอาจต้องพิจารณาความเหมาะสมในการติดตามความคืบหน้า / ศึกษากฎระเบียบ
/ มาตรฐานบรรจุภัณฑ์อาหารของสหภาพยุโรปอย่างใกล้ชิด เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยัง
EU
แหล่งอ้างอิง :