มาตรฐานใหม่ฉลากสินค้าใน EU เรื่องที่ผู้ส่งออกไทยควรติดตาม
จากกรณีที่สหภาพยุโรป หรือ EU เตรียมทบทวนมาตรฐานในการติดฉลากสินค้าประเภทต่าง ๆ รวมถึงการสร้างมาตรฐานฉลากเดียวเพื่อป้องกันการโฆษณาเกินจริง และการรับรองฉลากที่มากเกินความจำเป็น
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
โดยในปี 2564 ภาคเอกชนและรัฐสภาในยุโรปได้มีประเด็นข้อสังเกตเกี่ยวกับรายละเอียดของข้อมูลบนฉลากประเภทต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายใน EU ที่อาจไม่เป็นไปตามข้อกำหนดใน Regulation (EU) 1169/2011 กำหนดให้ระบุรายละเอียดต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์ เช่น คุณค่าทางโภชนาการแหล่งประเทศที่มาสำหรับเนื้อสัตว์ที่ยังไม่ได้แปรรูป สารที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้เป็นต้น สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ฉลากแสดงระดับคุณค่าทางโภชนาการอาหาร Nutri – Score : ต้องประกอบด้วย ปริมาณไขมัน น้ำตาล เกลือ เส้นใยอาหารและอื่น ๆ แต่อย่างไรก็ดี การออกฉลากสำหรับผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทยังไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ในด้านสุขภาพของผู้บริโภคอย่างแท้จริง ทั้งนี้ การออกฉลากฯ อยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบทางเลือกต่าง ๆ และรับฟังคำแนะนำทางวิทยาศาสตร์จาก European Food Safety Authority : EFSA และจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป
2. ฉลากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม EU Eco Label : มุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบไปจนถึงกระบวนการผลิต ซึ่งครอบคลุมกลุ่มผลิตภัณฑ์สินค้าหลายชนิด โดยอาจเป็นการโฆษณาเกินจริงของผู้ผลิตเกี่ยวกับการได้รับรองฉลากที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งในทางปฏิบัติไม่สามารถพิสูจน์ได้ ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประสานกับหน่วยงานผู้บริโภคของประเทศสมาชิกเพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติ ในการพิจารณาอนุญาตใช้ฉลากบนผลิตภัณฑ์เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค รวมถึงสนับสนุนให้กำหนดบทลงโทษ อย่างเข้มงวดต่อผู้ผลิตสินค้าที่โฆษณาเกินจริง
3. ฉลาก Eco – Score : แสดงข้อมูลที่เป็นผลกระทบของผลิตภัณฑ์ต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศการใช้น้ำและการใช้ที่ดิน โดยใช้วิธีให้คะแนนตั้งแต่ 0 – 100 ควบคู่ไปกับการใช้รหัสสีและตัวอักษร A – E ในการแสดงรายละเอียดด้านผลกระทบฯ ในฉลากบนผลิตภัณฑ์ ซึ่งสมาชิกรัฐสภาสหภาพยุโรปต้องการให้มีการพิจารณาเพื่อประเมินการออกฉลาก Eco – Score อย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อผู้บริโภค
นอกจากนี้ภาคเอกชนและรัฐสภายุโรปได้กล่าวถึงประเด็นความไม่ชัดเจนในการติดฉลากต่าง ๆ ที่อาจส่งผลให้ผู้บริโภคไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องของสินค้า อาทิ การไม่มีมาตรฐานฉลากเดียวของ EU ส่งผลให้แต่ละประเทศสมาชิกมีการใช้ฉลากและเครื่องหมายต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก การรับรองมาตรฐานฉลากเป็นจำนวนมาก (Over – certification) และการฟอกเขียว (Green washing) ในสินค้าเกษตรและอาหาร เนื่องจากการติดฉลากบนผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งที่ผู้ผลิตกำหนดขึ้นเพื่อทำการตลาด จึงนำไปสู่การรับรองฉลากที่เกินความจำเป็นและยังเป็นการโฆษณาเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ในด้านสิ่งแวดล้อมที่เกินจริง
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปอยู่ระหว่างจัดทำข้อเสนอด้านกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโดยมีเป้าหมายเพื่อกำหนดระบบในการรับรองข้อมูล โดยการใช้ฉลากที่เป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อแสดงผลกระทบของผลิตภัณฑ์ที่มีต่อสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และสังคม
นโยบาย European
Green Deal ของ EU มุ่งเน้นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและดิจิทัล
ส่งผลต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในด้านต่าง ๆ เช่น เกษตรกรรม สารเคมี
เศรษฐกิจหมุนเวียนและความยั่งยืน เป็นต้น
ซึ่งผู้บริโภคจะต้องได้ข้อมูลที่ถูกต้องและตรวจสอบได้
รวมถึงกำหนดประเภทฉลากและการรับรองฉลากอย่างมีมาตรฐานทั้งภาคบังคับและสมัครใจ
ผู้ส่งออกไทยควรให้ความสำคัญและติดตามรายละเอียดที่เกี่ยวกับการติดฉลากต่าง
ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมและปรับตัว
เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และสร้างโอกาสในการเข้าถึงตลาด EU ที่มุ่งเน้นความเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป
แหล่งอ้างอิง :
กรมการค้าต่างประเทศ
ได้รับรายงานจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซล