คนไทยกินกาแฟน้อยกว่าในยุโรป! อัตราการบริโภคกาแฟสดของคนไทยเฉลี่ยที่ 1.2
แก้วต่อวัน (300 แก้วต่อคนต่อปี) ถือว่ายังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของคนยุโรปที่บริโภคมากกว่า
2 เท่าของคนไทย ด้วยเหตุนี้ตลาดเมล็ดกาแฟในต่างประเทศ
โดยเฉพาะในยุโรปจึงเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง
อีกข้อมูลที่น่าสนใน International Coffee Organization จัดอันดับไทยเป็นประเทศที่มีการส่งออกเมล็ดกาแฟเป็นอันดับ
10 ของโลก หรือเฉลี่ยราว 81,000 ตันในปี 2562 มูลค่าราว 4
พันล้านบาทต่อปี ขณะที่มีความต้องการในการใช้เมล็ดกาแฟเฉลี่ยที่ 78,953 ตันต่อปี จากปริมาณการบริโภคกาแฟทั่วโลกที่มีปริมาณสูงถึง 9.5 ล้านตันต่อปี
ตัวเลขนี้สะท้อนว่าตลาดกาแฟสดยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้มาก
และอาจจะมีตัวเลขถึงปีละ 10%
แน่นอนว่าการแข่งขันยังดุเดือดขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน
เพราะมีคู่แข่งรายใหญ่ๆ จำนวนมาก
ทั้งนี้ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้สังเกตว่าตลาดเมล็ดกาแฟยิ่งขยาดตัวได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภครุ่นใหม่มองหาเมล็ดกาแฟจากแหล่งผลิตใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งไทยก็เป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับตลาดเมล็ดกาแฟโลก จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ จะนำกาแฟไทยออกสู่ตลาดโลก
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
ตราสัญลักษณ์ ‘กบเขียว’ รุกตลาดยุโรปต้องมี
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการสร้างเอกลักษณ์และจุดขายที่โดดเด่น
หากสินค้าของไทยได้รับตรารับรองมาตรฐานสากล ก็จะช่วยให้ผู้บริโภครวมถึงผู้นำเข้าสินค้าในต่างประเทศให้การยอมรับ
และเปิดโอกาสให้กับกาแฟของไทยได้ง่ายขึ้น
สำหรับสินค้าประเภทเมล็ดกาแฟโดยทั่วไป
จะสังเกตเห็นตราสัญลักษณ์ ‘กบเขียว’ (Rainforest Alliance) ประทับอยู่บนบรรจุภัณฑ์
ซึ่งเป็นตรารับรองมาตรฐานระดับนานาชาติที่มอบให้แก่สินค้าทางการเกษตรที่มีกระบวนการผลิตแบบยั่งยืน
ไม่ทำลายป่า สัตว์ป่า และแหล่งน้ำธรรมชาติ มีความรับผิดชอบต่อสังคม
และมีมาตรฐานในการกำจัดศัตรูพืชที่ดี โดยเฉพาะการเกษตรในภูมิภาคละตินอเมริกา
แอฟริกา เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ ตรากบเขียว
ยังใช้รับรองมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรอื่นๆ ด้วย อาทิ โกโก้ ชา ถั่วเฮเซลนัท
และกล้วย สำหรับตลาดเมล็ดกาแฟไทยซึ่งมีสภาพพื้นที่เพาะปลูกกาแฟที่หลากหลาย
จึงสามารถสร้างอัตลักษณ์กาแฟไทยได้หลากหลายและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นด้วย
ชีเป้า ‘เวียนนา’ เมืองหลวงของคอกาแฟ
กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของการดื่มกาแฟแห่งหนึ่งของโลก
ที่มีพัฒนาการอย่างเข้มแข็งมาเป็นเวลาหลายร้อยปี
จนวัฒนธรรมร้านกาแฟของเวียนนาได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมขององค์การยูเนสโก
เมื่อปี 2011 (พ.ศ. 2554) อีกด้วย
กาแฟจึงเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในประเทศออสเตรียอย่างไม่ต้องสงสัย
ปี 2021
(พ.ศ. 2564) ตลาดออสเตรียบริโภคกาแฟราว 60,000
ตัน คิดเป็นมูลค่าตลาด 3,743 ล้านยูโร และคาดว่าจะเติบโตไปถึง
4,851 ล้านยูโร ในปี 2025 (พ.ศ. 2568)
จากสถิติของปี 2019 (พ.ศ. 2562) ยังพบว่าคน ออสเตรียกว่าร้อยละ 86 ดื่มกาแฟโดยเฉลี่ย
2 ถ้วยต่อวัน และมีปริมาณการดื่มกาแฟเฉลี่ยต่อคนที่ 162
ลิตรต่อปี
กล่าวได้ว่า แทบทุกครัวเรือนจะต้องมีอุปกรณ์สำหรับทำกาแฟ
(สด) อย่างน้อยหนึ่งชนิด ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในปัจจุบัน ได้แก่
เครื่องทำกาแฟแบบใช้แคปซูล (ร้อยละ 45.7) และที่ไม่น้อยไปกว่ากันคือเครื่องทำกาแฟอัตโนมัติ แบบใช้เมล็ดกาแฟคั่ว
(ร้อยละ 45.4) ซึ่งอย่างหลังนี้มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอีก
เนื่องจากผู้บริโภคให้ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ต้องการสร้างขยะแคปซูลกาแฟ
นอกจากนี้ประชาชนราวร้อยละ 28 ใช้เครื่องทำกาแฟฟิลเตอร์ และร้อยละ
10 มีกาต้มเอสเปรสโซ่แบบดั้งเดิม
โอกาสรุกตลาดเมล็ดกาแฟโลก
เห็นได้ว่าตลาดเมล็ดกาแฟคั่วของออสเตรียนั้นมีความสำคัญมาก
ในโลกที่ผู้บริโภคใส่ใจต่อที่มาของสินค้าและความยั่งยืน
ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายจึงต้องสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคได้ อาทิ
การได้รับตราสัญลักษณ์รับรองคุณภาพมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง
คุณภาพเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟไทยให้สามารถแข่งขันได้ในโลกการค้าเสรี
เนื่องจากไทยมีผลผลิตเมล็ดกาแฟดิบไม่มาก จึงควรเน้นการขายไปยังตลาดพรีเมียมและเน้นคุณภาพให้ดีมีมาตรฐาน
ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้นได้
สิ่งสำคัญนอกเหนือจากคุณภาพของเมล็ดกาแฟ คือมาตรฐานการจัดการอย่างยั่งยืน ได้รับการรับรองจากองค์กรความยั่งยืนสิ่งแวดล้อมระดับโลก Rain Forest Alliance ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ที่ทั่วโลกเชื่อมั่นว่า กาแฟดังกล่าวไม่ได้มาจากการบุกรุกป่า มีธรรมาภิบาลไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน มีการจ้างงานที่เป็นธรรม และมีคุณภาพชีวิต เพิ่มโอกาสและยกระดับการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย อันเป็นสิ่งสำคัญที่โลกตะวันตกให้ความสำคัญอย่างมาก