Libra หรือจะเป็นยุคใหม่ของธุรกรรมการเงินโลก

SME Update
10/07/2019
รับชมแล้วทั้งหมด 2692 คน
Libra หรือจะเป็นยุคใหม่ของธุรกรรมการเงินโลก
banner

กลายเป็นกระแสที่สร้างการสั่นสะเทือนเขย่าทุกวงการทั่วโลก เมื่อเฟซบุ๊ก และพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้ง (founding members) ที่เป็นบริษัทชั้นนำของโลกรวม 28 ราย เช่น วีซ่า มาสเตอร์การ์ด เพย์พาล อีเบย์ และอูเบอร์ ได้เปิดตัวคริปโทเคอร์เรนซีชื่อ "Libra" (ลิบรา) ที่จะเริ่มนำมาใช้ในปี 2563 นี้เพื่อให้เป็นเงินดิจิทัลที่ใช้ได้อย่างแพร่หลายทั่วโลกที่เข้าถึงง่าย รวดเร็ว และต้นทุนต่ำ โดยมีลักษณะเป็นสเตเบิลคอยน์ (stable coin) ที่มีมูลค่าตามสินทรัพย์หนุนหลัง ต่างจากคริปโทเคอร์เรนซีอย่างบิทคอยน์ รวมทั้งมีความผันผวนน้อยกว่า

นอกจากนี้ เฟซบุ๊กและพันธมิตรได้จัดตั้งสมาคมลิบราขึ้นในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีลักษณะเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร เพื่อขับเคลื่อนและดูแลประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับลิบรา เช่น ระบบบล็อกเชน และการบริหารจัดการทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง โดยก่อนเปิดบริการจริง เฟซบุ๊กตั้งใจจะหาพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้งประมาณ 100 ราย มาร่วมลงทุนอย่างน้อยรายละ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยการออกและเสนอขาย Libra Investment Token (ซึ่งไม่ใช่เหรียญเดียวกันลิบรา คริปโทเคอร์เรนซีที่จะออกมาเป็นกลไกเพื่อการชำระเงิน) รวมถึงเฟซบุ๊กจะจัดตั้ง บริษัทชื่อ Calibra เพื่อเป็นผู้ให้บริการ wallet สำหรับผู้ที่จะใช้ลิบราด้วย

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลค์ Facebook bangkokbanksme 


Libra เขย่าเสถียรภาพการเงินทั่วโลก

เนื่องจากมีผู้ใช้บริการเฟซบุ๊กกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลกซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะต่อการโอนเงินข้ามประเทศระหว่างรายย่อย ซึ่งจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถโอนเงินได้ทันทีเหมือนการส่งสติ๊กเกอร์ในไลน์แอปพลิเคชัน ขณะที่ภาคการเงินการธนาคารจะได้รับผลกระทบโดยตรง จึงต้องปรับตัวและหารูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อรองรับ เพราะอาจจะสูญเสียธุรกิจการโอนเงิน อีคอมเมิร์ซจะกลายเป็นโซเชียลคอมเมิร์ซ ที่ทำธุรกรรมผ่านโซเชียลมีเดีย และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็จะเข้าถึงอีคอมเมิร์ซระดับโลกได้ง่ายขึ้น รวมทั้งโซเชียลแบงก์กิ้งจะมาแทนที่โมบายแบงก์กิ้ง นอกจากนี้ อาจมีผู้เล่นรายอื่นเข้ามาแข่งขันกับลิบรา เช่น อาลีบาบา กูเกิล เทนเซ็นต์ และอเมซอน

ผลกระทบต่อภาครัฐ ภาครัฐอาจไม่สามารถเก็บข้อมูลเพื่อนำไปกำหนดนโยบายด้านการเงินและการคลังได้ เนื่องจากการทำธุรกรรมหรือกิจกรรมต่าง ๆ อาจไม่มีความจำเป็นต้องผ่านผู้ประกอบการหรือตัวกลางที่ภาครัฐกำกับดูแลอีกต่อไป อย่างไรก็ดี ภาครัฐไม่ควรปิดกั้นหรือหยุดยั้งนวัตกรรม แต่ควรต้องศึกษาและเรียนรู้อย่างใกล้ชิด เพื่อหาทางบริหารจัดการความเสี่ยงให้ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงเชิงระบบ (systematic risk) รวมทั้งเพื่อให้สามารถวางนโยบายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย

กฎหมายและการกำกับดูแล

ลิบราเป็นความท้าทายของหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกซึ่งมีท่าทีที่ค่อนข้างระมัดระวัง แม้จะเปิดใจแต่ยังไม่เปิดรับโดยไร้การกำกับดูแล สำหรับประเทศไทย การกำกับดูแลลิบราโดยใช้กฎหมายในภาคการเงินที่มีอยู่อาจเป็นไปได้ยาก และต้องอาศัยการพิจารณาเพิ่มเติมว่า ลิบราเป็นเงินหรือไม่ ผู้ให้บริการลิบรา หรือ authorized reseller เป็นใครได้บ้าง เข้าข่ายการกำกับดูแลภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ อาทิ กฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจสถาบันการเงิน การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน หรือการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) และอาจมีความจำเป็นต้องแก้ไข หรือออกกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อรองรับการกำกับดูแล

ในขณะที่ด้านภาษีมีความจำเป็นต้องมีกระบวนการคิดใหม่ หากจะกำกับดูแล ความท้าทายอยู่ที่การเก็บภาษีจากอีคอมเมิร์ซที่ย้ายไปขายสินค้าและบริการบนเฟซบุ๊ก โดยใช้ลิบราเป็นสื่อกลางในการซื้อขายทั้งหมด ซึ่งอาจทำให้กรมสรรพากรไม่ได้รับข้อมูลสำหรับการกำกับดูแล

ก.ล.ต.เฝ้าระวังผลกระทบจาก Libra

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้จัดสัมมนาเชิงวิชาการหัวข้อ "Libra ก้าวที่กล้าของเฟซบุ๊ก : ก้าวสู่โลกใหม่ไร้พรมแดน" เพื่อเป็นเวทีกลางในการแลกเปลี่ยนมุมมองและแบ่งปันประสบการณ์จากผู้ปฏิบัติทั้งจากภาครัฐและเอกชน อันเป็นประโยชน์ต่อการนำไปขยายผลด้านแนวทางการพัฒนาธุรกิจและการกำกับในแวดวงสินทรัพย์ดิจิทัล

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า เป้าหมายคืออยากให้ประชาชนได้รับทราบว่า ความเป็นมาของ " ลิบรา" เป็นอย่างไร มีส่วนใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายในประเทศไทย และเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองจากผู้ปฏิบัติ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในวงการสินทรัพย์ดิจิทัลต่อไป

ทั้งนี้ จากการสัมมนาสรุปสาระในประเด็นสำคัญดังนี้ "ลิบรา" ถือเป็นความท้าทายของโลก และอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้มีการใช้คริปโทเคอร์เรนซีแพร่หลายยิ่งขึ้น ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องติดตามความคืบหน้าของลิบราและหารือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลกระทบควบคู่กับการกำกับดูแลที่เหมาะสม ขณะที่เอกชนมองว่า " Libra " จะอยู่นานหรือไม่ เป็นเรื่องที่ไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่โซเชียลมีเดียและคริปโทเคอร์เรนซีจะคงอยู่อีกนาน

สำหรับการกำกับดูแลภายใต้ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

1.) การออกและเสนอขาย Libra Investment Token (ไม่ใช่ลิบราที่เป็นคริปโทเคอร์เรนซี) ซึ่งหากจะเสนอขายในประเทศไทยจะต้องมาขออนุญาต อย่างไรก็ดี กรณีดังกล่าวมีความเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากผู้ที่จะสามารถลงทุนใน Libra Investment Token ได้ต้องเป็นสมาชิกของสมาคมลิบรา ซึ่งกำหนดคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้าร่วมไว้สูงมากและไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปลงทุนใน Libra Investment Token

2.) การขออนุญาตประกอบธุรกิจตัวกลาง (ศูนย์ซื้อขาย นายหน้า หรือผู้ค้า) ที่แสดงตนว่าจะให้บริการรับซื้อขายแลกเปลี่ยนลิบราในไทย


อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแลเพื่อป้องกันภัยคุกคามต่อความเป็นส่วนตัว และให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อให้เกิดความตระหนักในเรื่องดังกล่าว สำหรับประเทศไทยซึ่งมีกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลใช้บังคับแล้วนั้น ก่อนที่ภาคธุรกิจจะสามารถนำข้อมูลไปใช้ได้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใช้บริการก่อน มิเช่นนั้นจะมีความผิดตามกฎหมาย

รวมทั่งความเสี่ยงและข้อควรระวังสำหรับประชาชน หากมีผู้ฉวยโอกาสแอบอ้างหรือชักชวนให้ไปลงทุนในโครงการลิบรามีความเป็นไปได้สูงมากว่าเป็นการหลอกลวง เนื่องจากประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึง Libra Investment Token ได้ ส่วนลิบราที่เป็นคริปโทเคอร์เรนซีก็ยังไม่เปิดให้บริการจริงในปัจจุบัน

นับว่าตอนนี้ลิบรายังเป็นความอึมครึมของรัฐบาลทั้งโลกดังนั้นคงต้องเฝ้าติดตามดูความชัดเจนกันต่อไป แต่ทุกอย่างเป็นไปได้ตามที่เจ้าพ่อเฟซบุ๊ก มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กหวังไว้นี่อาจเป็นยุคใหม่ของธุรกรรมการเงินโลก


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Personal Branding สําหรับเจ้าของธุรกิจ SME: ทําอย่างไรให้คุณเป็นที่จดจําในวงการธุรกิจ

Personal Branding สําหรับเจ้าของธุรกิจ SME: ทําอย่างไรให้คุณเป็นที่จดจําในวงการธุรกิจ

กระแสการเติบโตของอินฟลูเอนเซอร์และสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้แนวคิดเรื่อง Personal Branding ถูกนำมาพูดถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง เพราะในวันนี้ที่โลกมีคนเก่งเกิดขึ้นมากมาย…
pin
5 | 17/04/2025
สาย SME ต้องรู้ไว้! AI คืออะไร ทำงานอย่างไร พร้อมตัวอย่าง AI สำหรับใช้ปั้นธุรกิจให้โต

สาย SME ต้องรู้ไว้! AI คืออะไร ทำงานอย่างไร พร้อมตัวอย่าง AI สำหรับใช้ปั้นธุรกิจให้โต

แนวโน้มการใช้ AI และประโยชน์ต่อการเติบโตของ SMEในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้เข้ามาสร้างผลกระทบอย่างมหาศาลต่อธุรกิจ…
pin
5 | 16/04/2025
ทรัมป์ขึ้นภาษี 37% กระทบอะไรบ้าง และ SME ไทยต้องปรับตัวยังไง?

ทรัมป์ขึ้นภาษี 37% กระทบอะไรบ้าง และ SME ไทยต้องปรับตัวยังไง?

Topic Summary: นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ สร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ต่อการค้าโลก มาดูกันว่าเหตุการณ์นี้กระทบ…
pin
7 | 11/04/2025
Libra หรือจะเป็นยุคใหม่ของธุรกรรมการเงินโลก