ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
Facebook ได้อัปเดตถึงแผนการสร้างอินเตอร์เฟซคอมพิวเตอร์อ่านความคิดจากสมอง
ซึ่งเป็นผลงานจากทีมนักวิทยาศาสตร์ของ the University of
California, San Francisco (UCSF) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Facebook Reality Labs โดยล่าสุดทีมวิจัยได้เผยแพร่ผลการทดลองถอดรหัสคำพูดของคนโดยใช้อิเล็กโทรดชนิดฝังที่สามารถอ่านคำและวลีได้จากสมอง
ซึ่งนั่นทำให้ Facebook เข้าใกล้ความฝันอีกขั้นที่จะสร้างระบบพิมพ์ผ่านความคิดได้แบบไม่รุกล้ำร่างกาย
ทราบหรือไม่ว่า แท้จริงในปัจจุบันเราสามารถสั่งพิมพ์ผ่านอินเตอร์เฟซสมองกับคอมพิวเตอร์ได้แล้ว แต่ระบบเหล่านั้นมักให้ผู้ใช้งานสะกดคำแต่ละคำออกมาโดยใช้ “คีย์บอร์ดจำลอง” แต่ในการทดลองของ Facebook ซึ่งเผยแพร่ใน Nature Communications นั้น ทีมนักวิจัยพยายามใช้บริบทเข้าช่วยในการให้ระบบแปลคำและวลีได้ทั้งคำ
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลค์ Facebook bangkokbanksme
โดยนักวิจัยติดตั้งสายอิเล็กโทรดบนพื้นผิวสมองของผู้ป่วยโรคลมชักที่เป็นอาสาสมัครในการทดลองครั้งนี้
อุปกรณ์ดังกล่าวจะถูกวางตำแหน่งไว้ในสมองส่วนต่างๆ
ที่เกี่ยวข้องกับความเข้าใจและการสร้างคำพูด
ผู้เข้าร่วมการทดลองได้ฟังคำถามแบบหลายตัวเลือกและพูดคำตอบนั้นออกมา
สายอิเล็กโทรดจะบันทึกการทำงานในสมองส่วนต่างๆ
และมองหารูปที่จับคู่เข้ากับคำและวลีเฉพาะได้แบบเรียลไทม์
หากผู้ร่วมทดลองได้ยินคำถามว่า “คุณชอบฟังเครื่องดนตรีชนิดใด”
พวกเขาอาจเลือกตอบว่า “ไวโอลิน” หรือ “กลอง”
ในขณะที่การทำงานในสมองกำลังถูกบันทึกอยู่
ระบบจะคาดเดาเมื่อพวกเขากำลังถามคำถามและเมื่อกำลังตอบ
จากนั้นจึงเดาเนื้อหาคำพูดในทั้งสองเหตุการณ์
การคาดการณ์นั้นจะขึ้นอยู่กับบริบทก่อนหน้า
ดังนั้นเมื่อระบบระบุได้ว่าผู้ร่วมทดลองได้ยินคำถามไหน ระบบก็จะจำกัดชุดคำตอบที่เป็นไปได้
ซึ่งผลที่ได้มีความแม่นยำตั้งแต่ 61 ถึง 76 เปอร์เซ็นต์
เมื่อเทียบกับความแม่นยำที่เกิดจากการสุ่มเพียง 7 ถึง 20 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตามแม้ผลการทดลองจะออกมาเชิงบวก
แต่ถึงตอนนี้ก็ยังมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น ระบบยังรู้จักชุดคำได้อย่างจำกัดมาก
ผู้ร่วมทดลองถูกถามเพียง 9 คำถามด้วยตัวเลือกคำตอบทั้งหมด 24 อัน
ผู้เข้าร่วมทดลองที่กำลังเตรียมตัวเข้ารับการผ่าตัดรักษาโรคลมชักนั้นก็ต้องใช้อุปกรณ์ฝังในร่างกาย
และแทนที่จะแค่คิดคำตอบในหัวเท่านั้น พวกเขาก็ต้องตอบคำถามออกมา
ซึ่งนั่นต่างจากระบบที่ Facebook ได้อธิบายไว้เมื่อปี
2560 ที่ตั้งใจว่าจะทำให้คนสามารถพิมพ์แบบไม่ใช้มือได้มากกว่า 100 คำต่อนาที
หรือแบบ speech-to-text อีกทั้งยังเน้นถึงชุดอุปกรณ์สวมศีรษะที่อ่านการทำงานของสมองด้วยแสงระดับใกล้อินฟราเรด
ซึ่งจะทำให้อินเตอร์เฟสที่ไม่รุกล้ำร่างกายนั้นมีความเป็นไปได้มากขึ้น
ทีมงาน Facebook ยังเชื่อว่า แว่น VR และ
AR อาจใช้อ่านสมองได้แม้ด้วยสมรรถภาพที่จำกัด
ความสามารถในการถอดรหัสแม้จะเป็นเพียงแค่คำในความคิดเพียงหยิบมืออย่างเช่น “เลือก”
หรือ “ลบ” ก็ช่วยให้เกิดวิธีการโต้ตอบกับระบบ VR ในปัจจุบันนี้และแว่น
AR ในอนาคตได้
ทั้งนี้ Facebook ไม่ได้เป็นบริษัทใหญ่เพียงบริษัทเดียวที่กำลังพัฒนาอินเตอร์เฟซการทำงานร่วมกันระหว่างคอมพิวเตอร์และสมอง ที่ผ่านมา Elon Musk ก็ได้เปิดตัว Neuralink ที่เป็นเส้นใยฝังสมองเพื่ออ่านสมองด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี แม้เราอาจจะไม่ได้เห็นเทคโนโลยีอ่านสมองในสินค้าของ Facebook เอง แต่นักวิจัยคาดว่าอาจนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่ไม่สามารถพูดได้ เช่น ผู้ป่วยอัมพาต