สหรัฐฯ
ถือเป็นตลาดจำหน่ายสินค้าแฟชั่นปลีกที่ใหญ่ที่สุดอันดับที่ 2 ของโลก โดยแต่ละปีชาวอเมริกันใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าแฟชั่นเป็นมูลค่าทั้งสิ้นกว่า
1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วงทศวรรษที่ผ่านมากลุ่มสินค้าแฟชั่นรวดเร็วได้เข้ามามีบทบาทและมีส่วนแบ่งในอุตสาหกรรมแฟชั่นในสหรัฐฯ
ค่อนข้างสูง เนื่องจากมีความทันสมัยตามกระแสนิยมในขณะที่มีราคาจำหน่ายค่อนข้างถูก
จึงทำให้เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคในตลาดอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามเมื่อระยะเวลาผ่านไป
ผู้บริโภคในตลาดเริ่มตระหนักถึงผลกระทบจากการบริโภคสินค้าแฟชั่นมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่านี่คือขาลงของ
Fast fashion สู่เทรนด์ Eco Fashions
หรือ Sustainable Fashion
ซึ่งก็คือแฟชั่นที่มีความยั่งยืนมากขึ้น
จากข้อมูลรายงานผลการสำรวจผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจสินค้าแฟชั่นล่าสุด พบว่ากลุ่มผู้ประกอบการสินค้าแฟชั่นในตลาด แม้ว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดในปัจจุบัน แต่ผู้ประกอบการในตลาดส่วนใหญ่ยังคงพิจารณาให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม (Sustainable) เป็นอันดับต้นๆ
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
จากรายงานของ The US Cotton Trust Protocol ได้เปิดเผย ข้อมูลรายงานผลการวิจัยตลาดที่ได้ดำเนินการร่วมกับ
The Economist Intelligence Unit (EIU) เพื่อศึกษาปัจจัยด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมแฟชั่น
(Is Sustainable in Fashion) โดยได้สอบถามและเก็บข้อมูลจากผู้บริหารระดับสูงของกิจการในอุตสาหกรรมแฟชั่นชั้นนำในตลาดจำนวน
150 ราย โดยผลการสำรวจพบว่าผู้ประกอบการค้าปลีกสินค้าแฟชั่นและเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ในตลาด
ส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญต่อปัจจัยด้านการพัฒนาความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าในการดำเนินกิจการสูงสุด
ด้านความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมสูงสุดในระดับค่อนข้างใกล้เคียงกันที่ ร้อยละ 64
และร้อยละ 60 ตามลำดับ ในขณะที่ปัจจัยด้านผลตอบแทนผู้ถือหุ้นเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการในตลาดให้ความสำคัญในระดับค่อนข้างต่ำเพียงร้อยละ
15 เท่านั้น
รายงานดังกล่าวยังระบุว่า
ผู้นำตลาดในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่นยังให้ความสำคัญต่อปัจจัยด้านความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการดำเนินกิจการต่าง
ๆ ได้แก่ การเลือกวัตถุดิบ การผลิตที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน (ร้อยละ 65) การปรับการดำเนินกิจการในการผลิตสินค้า เช่น
การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ร้อยละ 51) รวมถึงการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ
เช่น ระบบการพิมพ์สามมิติ (3D Printing) และระบบการเก็บโครงข่ายบัญชีธุรกรรมออนไลน์
(Blockchain) (ร้อยละ 41)
นอกจากนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในตลาด
(ร้อยละ 70) ยังเห็นว่า
มีความเป็นไปได้สูงที่จะเห็นกลุ่มสินค้าแฟชั่นรวดเร็ว (Fast Fashion) ซึ่งมีราคาจำหน่ายอย่างสมเหตุสมผล (Affordable) หันไปทำตลาดสินค้าเพื่อความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอันใกล้
รายงานดังกล่าวยังพบว่า
การตั้งกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมที่มีเป้าหมายชัดเจน (ร้อยละ 58) และการรวบรวมข้อมูลในอุตสาหกรรมและระบบห่วงโซอุปทาน
เพื่อใช้เปรียบเทียบตำแหน่งของกิจการในอุตสาหกรรม (ร้อยละ 53) เป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการในตลาดให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ นอกจากนี้กลุ่มผู้ประกอบการส่วนใหญ่
(ร้อยละ 73) ยังสนับสนุนการสร้างมาตรฐานความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมในระดับโลก
(Global Benchmark) เพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมในระดับโลกด้วย อีกทั้งผู้ประกอบการในตลาดยังให้ความสำคัญในการตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดการดำเนินกิจการของผู้ผลิตสินค้า
ได้แก่
ข้อมูลรับรองการผลิตสินค้าที่สนับสนุนความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิตวัตถุดิบ
(ร้อยละ 65) ข้อมูลการให้สิทธิและสวัสดิการแรงงานในระบบห่วงโซ่อุปทาน
(ร้อยละ 62) ข้อมูลการปลดปล่อยก๊าซ เรือนกระจกจากกระบวนการผลิตและขนส่ง
(ร้อยละ 45) เป็นต้น
แฟชั่นกับกระแสรักษ์โลกของคนรุ่นใหม่
ทั้งการเพิ่มปริมาณขยะจากสินค้าแฟชั่น
ซึ่งย่อยสลายได้ยาก และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้แรงงานเด็กและแรงงานทาสในอุตสาหกรรม
เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าได้รวดเร็วทันต่อกระแสนิยม จึงทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันเริ่มหันไปนิยมเลือกซื้อสินค้าแฟชั่นเพื่อความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
เพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยเฉพาะกลุ่มประชากรรุ่นใหม่ ได้แก่
กลุ่มประชากร Millennials และกลุ่มประชากร
Generation Z
โดยปัจจัยดังกล่าวมีส่วนสำคัญทำให้ผู้ประกอบการสินค้าแฟชั่นในอุตสาหกรรม
หันไปให้ความสำคัญกับการเลือกใช้วัตถุดิบที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
เช่น ผ้าจากวัสดุรีไซเคิล แผ่นรองกันกระแทกจากขยะพลาสติกในทะเล เป็นต้น
เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในตลาดที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้
แม้ว่าปัจจุบันตลาดสินค้าแฟชั่นในสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบจากภาวะการแพร่ระบาดขอ เชื้อไวรัสโควิด
ทำให้ผู้บริโภคในตลาดลดปริมาณการบริโภคลง
ดังจะเห็นได้จากมูลค่าการนำเข้าสินค้าในกลุ่มแฟชั่น
เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของสหรัฐฯ ในระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2563 ที่หดตัวลงอย่างเห็นได้ชัดเกือบร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาก็ตาม
แต่เชื่อว่าผู้บริโภคในตลาดจะยังคงให้ความสำคัญและเลือกซื้อสินค้าแฟชั่นที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป
จนทำให้มูลค่าตลาดสินค้าแฟชั่นยั่งยืนในสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 6.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2571 หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ยต่อปี
(Compound Annual Growth Rate หรือ CAGR) ร้อยละ 11.51
กระนั้นในปัจจุบันแม้ว่าผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้าแฟชั่น
โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มจะ สูญเสียตลาดส่งออกในสหรัฐฯ
ให้กับประเทศคู่แข่งที่มีต้นทุนค่าแรงงานการผลิตต่ำกว่า เช่น จีน เวียดนาม อินเดีย
และบังคลาเทศก็ตาม แต่หากมองในมุมของการส่งออกสินค้าวัตถุดิบ ในการผลิตสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่นยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมของไทย
ยังถือว่ามีโอกาสในการขยายตลาดค่อนข้างมากในอนาคต
โดยนอกจากไทยจะสามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบขยะพลาสติกที่จะนำมาใช้แปรรูปได้จำนวนมากในระดับราคาถูกแล้ว
ไทยยังมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการแปรรูปขยะรีไซเคิลที่ทันสมัย ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในอุตสาหกรรมการแปรรูปได้อย่างเป็นรูปธรรม
อีกทั้งวัตถุดิบที่สามารถผลิตได้น่าจะเหมาะกับการทำตลาดกลุ่มผู้ประกอบการสินค้าแฟชั่นรวดเร็ว
ที่มักจะเน้นเลือกใช้วัตถุดิบการผลิตสินค้าที่มีราคาต่ำ ซึ่งผู้ประกอบการในตลาดมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในอนาคตด้วย
แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์ Just-Style Apparel Sourcing
Strategy เรื่อง: “Sustainability top of mind for fashion
leaders despite Covid-19”
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครไมอามี