ไอเดีย Transforms ธุรกิจครอบครัวของทายาทรุ่น 3 โรงงานเฟอร์นิเจอร์ ต่อยอด ‘Flo’ แบรนด์เฟอร์ฯ สำหรับคนรักงาน

SME in Focus
20/11/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 1644 คน
ไอเดีย Transforms ธุรกิจครอบครัวของทายาทรุ่น 3 โรงงานเฟอร์นิเจอร์ ต่อยอด ‘Flo’ แบรนด์เฟอร์ฯ สำหรับคนรักงาน
banner

คุณนรุตม์ ปิติทรงสวัสดิ์ นักบริหารรุ่นใหม่ ทายาทรุ่น 3 แห่ง บริษัท เฟอร์นิสท์ อินดัสทรีส์ จำกัด อีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จ ของการส่งต่อธุรกิจครอบครัวจากรุ่นปู่สู่รุ่นพ่อ สานต่อทายาทธุรกิจรุ่น 3 ภายใต้ชื่อ ‘FLO’ แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติไทย ถือเป็นโมเดลธุรกิจที่มีความสร้างสรรค์ เป็นแนวทางให้นักออกแบบรุ่นใหม่ ได้ศึกษาถึงการพัฒนาและการเติบโตของผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงความยืดหยุ่นของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ผ่านการออกแบบ เช่น การผสมวัสดุหลัก 3 อย่างที่เชี่ยวชาญ คือ ไม้จริง เหล็กและงานหุ้มบุ เป็นงานเฟอร์นิเจอร์ที่มีความโมเดิร์น และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตอบสนองไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ ชื่อ Flo มาจากทฤษฎีชื่อ Flow State คือสภาวะที่คนมีสมาธิกับการทำงานมากจนร่างกายเหมือนทำงานไปเองตามธรรมชาติ เป็นการตอบโจทย์ระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตได้อย่างสมดุล



ซึมซับแต่เด็ก


คุณนรุตม์ เล่าว่า ตนเกิดและเติบโตในครอบครัวที่ทำธุรกิจร้านขายเฟอร์นิเจอร์ ก่อตั้งเมื่อปี 2537 เป็นธุรกิจครอบครัวที่เริ่มจากสมัยอากงประกอบอาชีพเป็นเซลล์ขายเฟอร์นิเจอร์ จนกระทั่งรุ่นพ่อได้เปิดร้าน และตั้งโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ในลักษณะรับจ้างผลิต (OEM) ตามออเดอร์ของลูกค้า


คุณนรุตม์ เล่าอีกว่า ตนเป็นลูกคนเดียวของครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน ตั้งแต่เด็ก ๆ พ่อจะพาตนไปโรงงานด้วยตลอด ทำให้ ลุง ป้า น้า อา ที่ทำงานในโรงงานเห็นตนมาตั้งแต่เด็กจนโต จนเกิดความคุ้นเคย สนิทสนม ไม่ได้รู้สึกขัดแย้ง หากวันหนึ่งตนจะเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว


โดยโรงงานเราเริ่มจากงานเหล็ก รับผลิตเก้าอี้เหล็กพับ โต๊ะเหล็กพับ เตียงเหล็กดัด ส่งขายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ตลาดเริ่มแข่งขันสูงขึ้น พ่อจึงเพิ่มส่วนงานหุ้มบุ และงานเฟอร์นิเจอร์ไม้จริง เป็นการสร้างความหลากหลายของวัสดุ ถือเป็นจุดแข็งของธุรกิจในการพยายามปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดท่ามกลางการแข่งขันของตลาด ที่พฤติกรรมการใช้งานมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา



แม้ศักยภาพของโรงงาน จะมีความชำนาญในการนำวัสดุเหล็ก งานหุ้มบุ และไม้จริง มาออกแบบเป็นเฟอร์นิเจอร์ให้มีคุณภาพและรูปลักษณ์ที่แตกต่างจากสินค้าท้องตลาดทั่วไป แต่ในความเป็นจริง สถานะของโรงงานในขณะนั้นรองรับงาน OEM และขายส่งเฟอร์นิเจอร์ที่เน้นผลิตครั้งละมาก ๆ โดยลูกค้าไม่ได้ต้องการดีไซน์จากชิ้นงานอะไรมากนัก


ขณะที่คู่แข่งในตลาดที่ทำธุรกิจเหมือนเรามีจำนวนมาก อำนาจการต่อรองจึงมีน้อย เหตุนี้ จึงพิจารณาว่า ข้อจำกัดของเรา คือไม่มีแบรนด์สินค้า ทั้งที่ศักยภาพของโรงงานมีบุคลากรที่มีความชำนาญในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ด้วยวัสดุหลากหลาย และมีความยืดหยุ่นในด้านการผลิตสูง



เก็บเกี่ยวความรู้ ก่อตั้งแบรนด์


คุณนรุตม์ เป็นคนรักการวาดรูป หลังจบมัธยมปลายจึงเลือกเรียนด้านสถาปัตยกรรม สาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ทั้งเลือกเรียนอีกหลายอย่างตามความชอบ ภายหลังเรียนจบ คุณนรุตม์ ตัดสินใจมาทำงานที่โรงงานของครอบครัว เพราะมองว่าสิ่งที่เรียนมาทั้งหมดสามารถนำมาใช้ได้กับโรงงานเฟอร์นิเจอร์ของตน การสืบทอดธุรกิจครอบครัวจึงเป็นโอกาสที่จะได้นำความรู้ และแนวคิดต่าง ๆ มาต่อยอด


ข้อดีคือ สามารถนำความรู้ และเครื่องมือสมัยใหม่ อาทิ การทำโมเดล 3 มิติ มาใช้ในการการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ได้ เพราะเรียนมาทางนี้โดยตรง ทั้งยังสามารถนำเทรนด์ หรือความนิยมของเฟอร์นิเจอร์ในยุคสมัยต่าง ๆ มาออกแบบเพื่อให้ปรับใช้ได้ตรงความต้องการลูกค้า

ความรู้ด้านการออกแบบอย่างเดียว อาจไม่พอสำหรับการสานต่อธุรกิจครอบครัว จึงเรียนด้านการบริหารธุรกิจเพิ่มเติมด้วย เพราะบทบาทที่แท้จริงของการเป็นทายาทธุรกิจรุ่น 3 ของธุรกิจครอบครัว คือการเป็นผู้ประกอบการ ไม่ใช่นักออกแบบ แต่ความรู้ทั้งสองด้านก็มีความสำคัญในแง่มุมที่แตกต่างกันไป



รวมทั้งได้นำวิทยานิพนธ์ที่เป็นแผนธุรกิจแบรนด์เฟอร์นิเจอร์แนวร่วมสมัยที่ทำก่อนจบการศึกษา เป็นการผสานวัสดุ 3 อย่างคือ ไม้จริง งานหุ้มบุ และเหล็ก เป็นเฟอร์นิเจอร์ร่วมสมัยสไตล์ Home Office ที่ให้ความรู้สึกสบาย ๆ เหมือนอยู่คาเฟ่ หรือนั่งทำงานชิลล์ ๆ ใน Co-working Space มาต่อยอดเป็นแบรนด์ Flo เมื่อปี 2557


Flo State ทำงานด้วยความสุข


คุณนรุตม์ บอกว่า แนวคิดการสร้างแบรนด์ คือ การผลิตสินค้าในลักษณะแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ดังนั้น หากลูกค้าอยากได้เฟอร์นิเจอร์แบบนี้ วัสดุแบบนี้ ต้องสั่งสินค้าจากโรงงานเราเท่านั้น นี่คือการสร้างอำนาจการต่อรอง และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าจากโรงงานด้วย


แบรนด์ Flo มาจากแนวคิดเชิงจิตวิทยาเรื่อง Flo State หมายถึง ภาวะทำงานอย่างไหลลื่น จนลืมเวลาและสิ่งกวนใจรอบตัว อุปมาว่า เป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในภาวะที่มีสมาธิกับการทำงานมาก จนร่างกายทำงานลื่นไหลไปเอง ตามธรรมชาติ จึงตั้งใจให้เป็นแบรนด์ที่เน้นการทำงานด้วยความสุข


ส่วนจุดยืนของแบรนด์ (Brand Positioning) จะตั้งราคาสูงกว่าสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่เป็น OEM จากโรงงาน โฟกัสที่การสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้าที่ผลิต ทั้งการเลือกใช้วัสดุที่หลากหลาย หรือคุณภาพที่ดีกว่า มีดีไซน์แตกต่างจากสินค้าทั่วไป เหมาะสมกับการนำไปใช้งานมากขึ้น ในราคาที่จับต้องได้


เพิ่มมูลค่าให้สินค้าจากโรงงาน


การแจ้งเกิดของแบรนด์ Flo เริ่มต้นจากการออกงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวกับบ้านและของตกแต่งบ้าน ที่ทำให้เป็นจุดสนใจ และขายได้ทั้งลูกค้าที่เป็นตลาด B2B เช่น ร้านค้าส่ง ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ในประเทศ และลูกค้าต่างชาติสั่งซื้อสินค้าไปจำหน่ายในหลายประเทศ ทั้งอาเซียนและเอเชีย อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น ซึ่งช่วงก่อนเจอการระบาดของโควิด-19 ก็มีลูกค้าทั้งจากสหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ รวมถึงการเปิดโชว์รูมเพื่อแนะนำและจำหน่ายสินค้าของโรงงานเอง นอกจากนี้ จะใช้โซเชียลมีเดีย อย่าง Facebook เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำการตลาด เพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลาย



สำหรับ เฟอร์นิเจอร์ที่แบรนด์ผลิตส่งให้ลูกค้า คือ เราออกแบบเป็นโมเดลหรือรูปทรงไว้แล้ว และให้ลูกค้าเลือกวัสดุ เลือกสี หรือเพิ่มฟีเจอร์อื่น ๆ ที่ต้องการ จุดเด่นของโรงงาน คือความยืดหยุ่นในการผลิตสูง ทั้งยังมีวัสดุที่หลากหลาย ปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการลูกค้าภายใต้ดีไซน์หลักของแบรนด์

ภาพรวมในปัจจุบัน ยอดขายแบรนด์ Flo แบ่งเป็นตลาดออฟไลน์ 70 % ออนไลน์ 30 % ถือว่าเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงแรก และเริ่มเติบโตคงที่ราว 10 – 15 % ต่อปี



ปัจจุบัน นับว่าเป็นทิศทางที่น่าพอใจ แต่เป้าหมายจริง ๆ คือการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าจากโรงงานเฟอร์นิเจอร์ จากศักยภาพของโรงงาน ขณะที่ตลาด OEM ในส่วนของเฟอร์นิเจอร์ของโรงงานมีการแข่งขันสูงและรายได้ลดลง เป้าหมายต่อไปจึงเป็นการวางแนวทางเพื่อ Transforms ธุรกิจ โดยเน้นผลิตสินค้าที่เป็นแบรนด์เพื่อเพิ่มมูลค่า หรือรายได้ให้โรงงานด้วย



ปรับสมดุล Transforms ธุรกิจไปอีกขั้น


คุณนรุตม์ กล่าวว่า การเพิ่มยอดขายเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นแบรนด์ให้เติบโต ช่วยเพิ่มกำลังการผลิต ทดแทนสินค้า OEM ซึ่งมีกำไรน้อย จะเป็นทางรอดสำหรับการ Transforms ธุรกิจไปอีกขั้น พร้อมทั้งเป็นการปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้ท่ามกลางการแข่งขัน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะคุณพ่อเป็นแบบอย่างที่ทำให้เห็นมาก่อนแล้ว จากการปรับปรุงศักยภาพของโรงงานผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดอยู่เสมอ


รวมถึงการลดต้นทุนที่เกินความจำเป็น นำองค์ความรู้สมัยใหม่ และเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อเพิ่ม Productivity ในโรงงาน และดัดแปลงเครื่องจักรให้สามารถสร้างรูปทรง หรือชิ้นงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้นได้ เน้นใช้ประโยชน์จากเครื่องจักรและทรัพยากรของโรงงานอย่างคุ้มค่า และเพิ่มมูลค่าสินค้าที่ผลิตได้โดยไม่ต้องซื้อเครื่องจักรใหม่ สิ่งเหล่านี้ เขาเพียงแต่นำสิ่งที่คุณพ่อทำไว้มาต่อยอดนั่นเอง



ข้อดี ของการปรับตัวในลักษณะนี้ คือสามารถสร้างการเติบโตของธุรกิจบนฐานที่มีอย่างรอบคอบ ไม่ได้เน้นลงทุนเพิ่มมากนัก เพียงปรับปรุง และปรับเปลี่ยนเพื่อให้สามารถลดรายจ่าย และเพิ่มมูลค่าให้สินค้าที่ผลิต จากเดิมที่ผลิตจำนวนมากเพื่อขายในราคาต่ำ ปรับเป็นการผลิตสินค้าแบรนด์เพื่อขายในราคาที่สูงขึ้น


“ผมตั้งเป้าหมาย จะเติบโตโดยไม่ลดกำลังการผลิต แต่จะปรับสัดส่วนการผลิตของโรงงาน ลดการผลิต OEM แล้วเพิ่มกำลังการผลิตของ แบรนด์ ‘Flo’ ที่มีมูลค่าสูงมากขึ้น โดยอยากลองทำทุกอย่าง เพราะมีงานอีกหลายด้านที่ต้องทำให้สำเร็จ อาทิ การตลาด การลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพในส่วนการผลิตและโลจิสติกส์ รวมถึงสร้างตลาดกลุ่มใหม่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ จึงเป็นงานที่ต้องโฟกัสและมีแผนชัดเจน”



ตลาดเฟอร์นิเจอร์ยั่งยืน


แนวคิดของการออกแบบแบรนด์ Flo คือใช้ได้นาน ทนทาน คุ้มค่า มีดีไซน์ร่วมสมัย แม้เวลาจะผ่านไปนานก็ยังคงความคลาสสิก ที่สำคัญสามารถถอดเปลี่ยนซ่อมแซมแต่ละชิ้นให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ในแง่ธุรกิจ แบรนด์ลูกค้าที่เป็นร้านกาแฟ ร้านสุกี้ มักจะต้องเปลี่ยนหรือซ่อม โต๊ะ เก้าอี้ บ่อย ๆ เราจึงมีบริการซ่อมให้ ซึ่งช่วยลดต้นทุนให้ลูกค้าได้ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่


อย่าลืมว่า ทางเลือกมีหลากหลาย หากสินค้าเราดีจริง ลูกค้าย่อมซื้อซ้ำหรือบอกต่อ พอเขาใช้ที่บ้านดี อาจจะอยากซื้อไปใช้ที่ทำงาน เรามองว่าถ้าลูกค้าเติบโต ธุรกิจก็เติบโตด้วย สิ่งเหล่านี้ถูกใส่ไปในคอนเซ็ปต์การออกแบบของแบรนด์เสมอมา


รวมทั้งมิติด้านความยั่งยืน (Sustainability) ไม่เพียงการใช้อย่างคุ้มค่า แต่ต้องรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ด้วย วัสดุหลัก เราใช้เป็นไม้ปลูกทดแทน และเหล็กที่มีความคงทนแข็งแรง อายุการใช้งานยาวนาน ตอบโจทย์ตลาดเฟอร์นิเจอร์เรื่องความยั่งยืน ที่จับต้องได้จริง


อย่างไรก็ตาม เทรนด์ที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน ความต้องการของผู้บริโภคและตลาดมีความหลากหลาย ดังนั้น การออกแบบสินค้าของแบรนด์ จึงพยายามตอบโจทย์ทั้งเทรนด์ที่อยู่อาศัย และความต้องการของผู้คนในยุคนี้ แต่ยังรักษาคอนเซ็ปต์หลัก หรือภาพลักษณ์ที่แบรนด์ต้องการสื่อสารกับผู้บริโภค




“การผลิตสินค้าที่มีสไตล์หลากหลาย อาจทำให้ลูกค้าสับสนว่าจริง ๆ แล้วแบรนด์เราเป็นแนวไหน แต่หากสร้างสมดุลได้ และชัดเจนในตัวตน เชื่อว่าผู้บริโภคจะสัมผัสได้”


คุณนรุตม์ บอกด้วยว่า ปัจจุบัน เป็นช่วงพัฒนาธุรกิจครอบครัวให้แข็งแรงบนรากฐานเดิมอย่างมั่นคง แต่หากมีโอกาสใหม่ ๆ ก็อยากลองทำ เพราะจุดยืนของธุรกิจในปัจจุบัน ยังห่างไกลจากคำว่า ‘สำเร็จ’ อยู่พอสมควร ดังนั้น การ Transforms ธุรกิจครอบครัวให้สามารถแข่งขัน และเติบโตต่อไปได้ จึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว


ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่:

https://www.facebook.com/FloFurniture



Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

การเดินทางของ “น่านดูโอ คอฟฟี่”  ผู้บุกเบิกกาแฟโรบัสต้าจากภาคใต้สู่ภาคเหนือ พร้อมเคล็ดลับการหาช่องว่างในตลาดกาแฟ

การเดินทางของ “น่านดูโอ คอฟฟี่” ผู้บุกเบิกกาแฟโรบัสต้าจากภาคใต้สู่ภาคเหนือ พร้อมเคล็ดลับการหาช่องว่างในตลาดกาแฟ

ถ้าพูดถึงเครื่องดื่มคู่ใจสำหรับวัยทำงานคงหนีไม่พ้น “กาแฟ” ด้วยกลิ่นหอมละมุน รูปแบบการคั่วเมล็ดหลากหลายตามความชอบ เกิดเป็นรสชาติที่ทำให้หลายคนติดใจ…
pin
4 | 18/04/2025
“โรงหล่อ ก.เจริญ” ผู้นำอุตสาหกรรมเหล็กหล่อไทยกว่า 50 ปี ด้วยนวัตกรรม Lean Manufacturing และ Automation

“โรงหล่อ ก.เจริญ” ผู้นำอุตสาหกรรมเหล็กหล่อไทยกว่า 50 ปี ด้วยนวัตกรรม Lean Manufacturing และ Automation

ในโลกของอุตสาหกรรมการผลิต “วัตถุดิบโลหะ” ถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ โครงสร้างพื้นฐาน เครื่องจักร…
pin
7 | 11/04/2025
เปลี่ยนขยะให้เป็นมูลค่าด้วย Zero-Waste

เปลี่ยนขยะให้เป็นมูลค่าด้วย Zero-Waste

แนวคิด Zero-Waste กลายเป็นกลยุทธ์ที่องค์กรทั่วโลกให้ความสำคัญหลายธุรกิจเริ่มตระหนักว่าการลดขยะไม่ใช่แค่ช่วยสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยลดต้นทุน…
pin
10 | 06/04/2025
ไอเดีย Transforms ธุรกิจครอบครัวของทายาทรุ่น 3 โรงงานเฟอร์นิเจอร์ ต่อยอด ‘Flo’ แบรนด์เฟอร์ฯ สำหรับคนรักงาน