FTA เวียดนาม-อียู ความทะเยอทะยานที่สัมฤทธิ์ผล

SME Update
17/07/2019
รับชมแล้วทั้งหมด 4091 คน
FTA เวียดนาม-อียู ความทะเยอทะยานที่สัมฤทธิ์ผล
banner

เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา เวียดนามได้วางยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนที่สำคัญกับประเทศอย่างมาก หนึ่งในนั้นคือการทำเขตการค้าเสรีเวียดนามกับสหภาพยุโรป  (European Union Vietnam Free Trade Agreement : EU-VN FTA) เหตุผลเพราะ

1.ช่วยเปิดตลาดสหภาพยุโรป(อียู)สำหรับสินค้าเวียดนามให้กว้างและได้เปรียบคู่แข่งขันมากยิ่งขึ้น

2.ช่วยยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลค์ Facebook bangkokbanksme 


ยุทธศาสตร์ดังกล่าวสัมฤทธิ์ผลเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา สหภาพยุโรป(อียู)และเวียดนามได้ลงนามข้อตกลงเปิดการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป-เวียดนาม( European Union-Vietnam Free Trade Agreement:EVFTA) และข้อตกลงการคุ้มครองการลงทุนเวียดนาม- สหภาพยุโรป (EU – Vietnam Investment Protection Agreement : EVIPA) อย่างเป็นทางการ ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม และมีผลบังคับใช้ภายในปี 2562 โดยเนื้อหากรอบข้อตกลงทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน เปิดตลาดสินค้า บริการ และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตลอดจนประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องกับการค้า เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน มีการลดภาษีกว่า 99% ของสินค้านำเข้าจากทั้งสองประเทศ

เมื่อความตกลงมีผลบังคับใช้ เวียดนามจะลดภาษีทันที 65% ของสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรป และจะทยอยลดภาษีสินค้าที่เหลือภายใน 10 ปี ส่วนสหภาพยุโรปจะลดภาษีทันที 71% ของสินค้าส่งออกจากเวียดนาม และจะทยอยลดภาษีสินค้าที่เหลือภายใน 7 ปี สำหรับข้อตกลง EVIPA ที่ได้ลงนามในคราวเดียวกันจะช่วยให้เวียดนามพัฒนากรอบด้านการลงทุนและการใช้กฎหมาย ให้มีความโปร่งใส เพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป

โมเดลการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป-เวียดนาม ถือเป็นประเด็ดสำคัญอย่างยิ่งที่ภาคเอกชนไทยและผู้ประกอบการส่งออกสินค้าไทยไปยังสหภาพยุโรปควรศึกษาและเตรียมพร้อมรับมือเพราะคาดว่าสหภาพยุโรปจะใช้ข้อตกลง EVFTA เป็นต้นแบบในการเจรจากับไทย โดยเฉพาะการผลักดันประเด็นที่สหภาพยุโรปให้ความสำคัญ เช่น การเปิดตลาดยา รถยนต์ และเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์  ภาคบริการ การลงทุน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การเข้าสู่ตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การระงับข้อพิพาทในการลงทุน รวมทั้งการปฏิบัติตามพันธกรณีขององค์การระหว่างประเทศต่างๆดังนั้นไทยต้องตั้งการ์ดรับมือและศึกษารายละเอียดปลีกย่อยอย่างรัดกุมจะได้ไม่เสียเปรียบ

ทั้งนี้เมื่อความตกลง EVFTA มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการทำให้เวียดนามได้เปรียบไทยในการแข่งขันในตลาดสหภาพยุโรปเพราะเวียดนามจะขายสินค้าได้แพงกว่าไทย เนื่องจากไม่ต้องเสียภาษีภาษีส่งออก อีกทั้งยังใช้สิทธิ GSP ซึ่งไทยถูกตัดสิทธิไปแล้วตั้งแต่ปี 2558 โดยข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นโอกาสที่เวียดนามสามารถเข้าถึงตลาดสหภาพยุโรปที่มีประชากรกว่า 508 ล้านคน มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ( GDP) ประมาณ 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา และแนวโน้มการส่งออกของเวียดนามไปสหภาพยุโรปจะเพิ่มขึ้น 4-6% คิดเป็นมูลค่า 19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับการไม่มีข้อตกลงเขตการค้าเสรี  คาดว่าจะมีมูลค่าแค่ 75 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2571 โดยสินค้าสำคัญของเวียดนามได้รับอานิสงส์ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป คือ เกษตร ประมง และสัตว์น้ำ

อุตฯรถยนต์-คอมพ์-ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม แข่งขันยากขึ้น

ผลกระทบของความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป-เวียดนามต่อการส่งออกสินค้าไทยนั้น น.ส.พิมพ์ชนก วอขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ยอมรับว่าสาหัสเพราะทำให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันกับเวียดนามในการส่งออกสินค้าไปยุโรปลำบากมากขึ้นเพราะเสียเปรียบด้านภาษี ทำให้ผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทย คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รวมทั้งแผงวงจรไฟฟ้าอาจต้องย้ายฐานการผลิตรถยนต์ไปยังเวียดนาม เนื่องจากFTA เอื้อผลประโยชน์ให้เวียดนามมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดยุโรปมากขึ้นนั่นเอง

น.ส.พิมพ์ชนก  แนะทางรอดผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันกับเวียดนามได้ คือ ต้องเร่งพัฒนาทักษะด้านแรงงาน ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันเครื่องนุ่งห่มต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย การใช้เส้นใยที่มีคุณสมบัติพิเศษ รวมทั้งการสร้างแบรนด์เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกและขยายฐานการตลาดให้กว้างขึ้นด้วยการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายทางออนไลน์ เพื่อจะได้ไม่เสียเปรียบข้อตกลง EVFTA ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่สินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนามเข้าสู่ตลาดยุโรปมากขึ้น

แนะเร่งผลิตข้าวหอมอินทรีย์ยังหอมหวล

อย่างไรตามข้าวหอมมะลิไทยยังมีข้อได้เปรียบด้านการค้าในตลาดยุโรปเหนือกว่าเวียดนามเพราะเป็นที่รู้จักทั่วโลกและได้รับการยอมรับในคุณภาพของข้าวหอมมะลิไทย แต่สิ่งที่ไทยควรเร่งสปีดหนีเวียดนามคือการพัฒนาการผลิตข้าวหอมมะลิปลอดสารเคมี หรือข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ซึ่งปัจจุบันตลาดยุโรปและทั่วโลกกำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและมีมูลค่าทางการตลาดกว่า 3.55 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันไทยต้องเร่งประชาสัมพันธ์เอกลักษณ์ของข้าวหอมมะลิที่มีจุดเด่นแตกต่างจากคู่แข่งประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้สามารถเพิ่มโอกาสการส่งออกข้าวได้ราคาแพงขึ้น ตลอดทั้งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มาประยุกต์ใช้กับการตลาด เช่น บล็อกเชนมาประยุกต์ใช้ในการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในอาหารให้แก่ผู้บริโภค

 

สินค้าประมง-อัญมนี-เครื่องประดับ อ่วม

ส่วนผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแปรรูป ได้แก่ กุ้ง ปลา ปลาหมึก ของเวียดนาม มีแนวโน้มส่งออกปี 2562 จะเติบโตสูงมากผลพวงจากข้อตกลง EVFTA ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงควรเข้าใจแนวโน้มพฤติกรรมการบริโภคของชาวยุโรป พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อส่งออกสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด ให้ความสำคัญกับการรักษาทรัพยากรทางทะเลและการทำประมงอย่างถูกกฏหมาย เช่นเดียวกับมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของเวียดนามแม้ว่าส่งออกไปยังอียูจะยังค่อนข้างต่ำ แต่ก็มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น หากเวียดนามได้พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเพิ่มมากขึ้นประกอบกับการได้รับยกเว้นภาษีส่งออกไปยังตลาดยุโรป ที่อาจแย่งส่วนแบ่งตลาดของไทยในอียูได้ในอนาคต ซึ่งผู้ประกอบการไทยจึงควรเร่งพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าอยู่เสมอ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตและการตลาดเพิ่มมากขึ้น เพื่อรักษาหรือเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของไทยในอียู

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์  รายงานระบุว่าการค้าของอียู ในช่วง 10 ปี (ปี 2552-2561) มีมูลค่าการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น 37.4% โดยเพิ่มขึ้นจาก 4,652,510.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2552 เป็น 6,393,528.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2561 ซึ่งอียูนำเข้าจากเวียดนามเป็นลำดับที่ 47 ในปี 2552 แต่ในปี 2561 ขึ้นมาเป็นลำดับที่ 27 โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 269.3% ส่วนนำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่ 35 ในปี 2552 แต่ในปี 2561 ลงมาเป็นลำดับที่ 38 แต่มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 30.1% เมื่อพิจารณาเฉพาะในกลุ่มอาเซียน พบว่า ช่วง 10 ปี อียูนำเข้าจากอาเซียนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเวียดนาม ในปี 2552 มีสัดส่วนการนำเข้าอยู่ในอันดับที่ 5 เมื่อเทียบกับมูลค่าการนำเข้าในกลุ่มอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียตามลำดับ แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้าเวียดนามจะมีศักยภาพแข่งขันที่สูงขึ้นจากการทำการค้าเสรียุโรป-เวียดนาม


อย่างไรก็ตามในปี 2561 มีสัดส่วนการนำเข้าอยู่ในอันดับที่ 1 ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สินค้านำเข้าของอียูจากเวียดนามเปลี่ยนไป โดยปี 2552 สินค้าสำคัญที่อียูนำเข้าจากเวียดนาม คือ 1.รองเท้า 2.เสื้อผ้า 3.กาแฟ/ชา ส่วนปี 2561 สินค้าสำคัญที่อียูนำเข้าจากเวียดนามคือ 1.อุปกรณ์ไฟฟ้า (โทรศัพท์มือถือ) 2.รองเท้า 3.เสื้อผ้า ทั้งนี้ อียูนำเข้าอุปกรณ์ไฟฟ้า และส่วนประกอบ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 51 เท่า จากปี 2552 ส่วนการนำเข้าสินค้าจากไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่าน อียูนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น 30.1 % โดยสินค้านำเข้าสำคัญของอียูจากไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มสินค้าเดิม คือ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และอุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ

ไม่เพียงเวียดนามเท่านั้นที่ทำFTA กับอียู ก่อนหน้านี้สิงคโปร์เป็นอีกหนึ่งประเทศของอาเซียนที่บรรลุข้อตกลงกับอียูมีผลบังคับใช้ช่วงไตรมาส 3 ของปี 2562 ซึ่งจะทำให้ศักยภาพการแข่งขันสินค้าส่งออกไปยังประเทศอียู ดังนั้นไทยต้องต้องเจรจา FTA กับอียูโดยด่วนมิเช่นนั้นเวียดนามก้าวพ้นไทยภายในอีกไม่เกิน 7 ปีข้างจะส่งออกสินค้าหนีไทยไม่เห็นฝุ่น

 


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

TikTok ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มเอนเตอร์เทนเมนต์ที่น่าเชื่อถือสำหรับทุกคน ทั้งครีเอเตอร์ คอมมูนิตี้ผู้ใช้งาน และธุรกิจทุกขนาดในไทย ด้วยการเปิดตัว…
pin
898 | 14/02/2024
ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ยานพาหนะต่าง ๆ ทั้ง รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ และเรือ ต่างมุ่งสู่การใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาดกันแล้ว แต่สำหรับการเดินทางโดยอากาศยาน…
pin
1226 | 26/01/2024
จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

ปี 2024 นี้ ธุรกิจไหนมาแรง ธุรกิจไหนน่าจับตา เทรนด์ธุรกิจใดกำลังมาแรง Bangkok Bank SME สรุปมาไว้ในบทความนี้ เพื่อเป็นแนวทางแก่ SME และผู้ที่กำลังคิดจะเริ่มต้นทำธุรกิจทุกท่าน…
pin
1521 | 25/01/2024
FTA เวียดนาม-อียู ความทะเยอทะยานที่สัมฤทธิ์ผล