‘สมองเบลอ’ อาจไม่ใช่อาการเพราะโดนบอกเลิก แต่อาการตื้อตัน มึนงง หลงๆ ลืมๆ ระหว่างทำงานอาจเป็นสัญญาณของ Brain Fog หรือภาวะสมองล้า
สมองถือเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย เพราะทำหน้าที่ในการสั่งงานและควบคุมทั้งร่างกาย จิตใจ รวมถึงความรู้สึกนึกคิดโดยตรง เมื่ออายุเพิ่มขึ้นความเสื่อมของร่างกายย่อมมาเยี่ยมเยือน โดยเฉพาะคนทำงานที่ใช้ร่างกายอย่างหนัก พักผ่อนน้อย มีภาวะเครียดสะสม ทำให้เวลาทำงานเยอะๆ จะรู้สึกเบลอ มึนๆ ตื้อๆ คิดอะไรไม่ค่อยออก ส่งผลให้ความจำและการทำงานของสมองลดลง กระทบต่อคุณภาพชีวิตได้ในระยะยาว ดังนั้นเราควรใส่ใจดูแลบำรุงสมองตั้งแต่วันนี้ก่อนสายเกินไป
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
ทำความรู้จัก ‘ภาวะสมองล้า’
Brain Fog Syndrome คือภาวะเครียดโดยไม่รู้ตัวจากการที่สมองถูกใช้งานอย่างหนักเป็นระยะเวลานาน
ซึ่งอาจเกิดจากความเร่งรีบที่จะทำงานให้เสร็จ การพักผ่อนน้อย
หรือการทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป
ทำให้สารสื่อประสาทในสมองซึ่งเป็นสารเคมีที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อข้อมูลสัญญาณไฟฟ้าระหว่างเซลล์ของระบบประสาทเสียสมดุล
ประสิทธิภาพการทำงานของสมองจึงแย่ลง หากเกิดบ่อยครั้งอาจกลายเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ
เช่น โรคอัลไซเมอร์, โรคพาร์กินสัน, โรคความจำเสื่อมก่อนวัย, โรคกระเพาะ, โรคอ้วน, ภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ, โรคเบาหวาน เป็นต้น
‘Brain Fog’ ต่างจาก ‘Burn Out’ อย่างไร?
Brain Fog เกิดจากสมองทำงานหนักจนอ่อนล้า
เมื่อรวมกับการพักผ่อนน้อย ส่งผลให้เกิดความเครียดแบบไม่รู้ หากปล่อยเรื้อรังมีโอกาสจะลุกลามกลายเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะสมองเสื่อมก่อนวัยได้
ส่วน Burn-Out เกิดจากความเครียดสะสมเรื้อรังจากการทำงาน
เมื่อความเครียคคุกคามชีวิตมากขึ้นย่อมส่งผลต่อสภาพจิตใจ หากยิ่งปล่อยไว้นานภาวะ Burn-Out ก็จะยิ่งกัดกร่อนสภาพจิตใจไม่อยากทำงานในที่สุด
‘สมองล้า’ เกิดจากสาเหตุใด?
นอกจากการนอนดึก ขาดการออกกำลังกายแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นๆ ดังนี้
ภาวะขาดสารอาหาร : โดยเฉพาะกรดอะมิโน วิตามิน เกลือแร่
และสารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ ซึ่งผู้ที่ทำงานประจำมักเป็นกลุ่มเสี่ยงเพราะจากวิถีชีวิตที่รีบเร่ง
และขาดการดูแลด้านโภชนาการที่ดี
ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากเกินไป : คลื่นแม่เหล็กจากเครื่องมือสื่อสารเหล่านี้ล้วนมีผลรบกวนต่อการหลั่งสารสื่อประสาทในสมอง
สารพิษในชีวิตปัจจุบัน : เช่น มลภาวะ โลหะหนัก สารเคมี
ยาฆ่าแมลงที่อาจพบปนเปื้อนได้ทั้งในอากาศ น้ำ และอาหาร
ความเครียด : มีผลต่อฮอร์โมนต่อมหมวกไตซึ่งจำเป็นต่อการทำงานของสารสื่อประสาทในสมอง
นอกจากนี้เวลาที่เราเครียดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองก็จะหดตัว การไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงสมองก็จะลดลง
ทำให้เวลาที่มีเรื่องเครียดมักจะรู้สึกหัวตื้อๆ มึนงง และความจำต่างๆ แย่ลง
ยา : หากคุณสังเกตเห็นว่า เกิดภาวะสมองล้าขณะที่กินยาให้ปรึกษาแพทย์ทันที
เนื่องจากภาวะสมองล้าอาจเป็นผลข้างเคียงของยาก็เป็นได้
การลดปริมาณหรือเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นอาจทำให้อาการของคุณดีขึ้น
นอกจากนั้น ภาวะสมองล้ายังสามารถเกิดขึ้นได้หลังจากได้รับการรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัด
ซึ่งมักจะถูกเรียกว่า “Chemo Brain” ซึ่งเป็นอาการหลงลืม ความจำลดลง
และสมาธิลดลง
ลดความเสี่ยงภาวะสมองล้า
สำหรับวัยทำงานอาจหลีกเลี่ยงการทำงานหนักได้ยาก แต่เราสามารถลดความเสี่ยงภาวะสมองล้าได้
1. ใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสม ควรหยุดพักเป็นระยะ
2. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอวันละ 6-8 ชั่วโมง
3. มองโลกในแง่บวก มีอารมณ์ขัน ไม่เครียด
4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์
5. ทานอาหารที่มีประโยชน์ช่วยบำรุงสมอง
6. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ คาเฟอีน
7. หาเวลาทำกิจกรรมโปรด เพื่อปรับอารมณ์-ผ่อนคลาย สร้างแรงบันดาลใจในการทำสิ่งใหม่
การบำรุงสมองให้แข็งแรงอยู่เสมอเป็นสิ่งสำคัญที่ควรใส่ใจ
นอกจากรู้จักใช้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ
ไม่เครียดแล้ว การเลือกทานอาหารเสริมบำรุงสมองก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะช่วยเสริมความจำ
ลดความอ่อนล้าของสมอง ลดความเครียด ปรับสมดุลอารมณ์
ช่วยให้สมองแข็งแรงไม่เสื่อมก่อนวัย
แหล่งอ้างอิง :