เทรนด์การดำเนินธุรกิจใหม่ๆ ในยุคนี้ หนีไม่พ้นการให้ความสำคัญกับสังคม สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ที่แม้ว่าบางบริษัทอาจจะไม่ได้อยากทำ แต่ด้วยกระแสส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมที่เปลี่ยน ก็ทำให้ต้องยอมเปลี่ยนอยากเลี่ยงไม่ได้
Green Finance ก็จัดเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งของโลกการเงิน ที่เข้าไปจัดระเบียบโลกธุรกิจให้เติบโตไปพร้อมกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพราะโดยตัวของธนาคารเองไม่ใช่ธุรกิจที่จะเป็นตัวปล่อยคาร์บอนเป็นหลัก แต่ธนาคารเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้แต่ละธุรกิจสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกธุรกิจใหม่ที่เติบโตอย่างยั่งยืนได้
Green Finance คืออะไร?
Green Finance เป็นความพยายามของธนาคารที่จะเพิ่มกระแสเงิน ไม่ว่าจะเป็นจากหน่วยงานรัฐ เอกชน องค์กรไม่แสวงผลกำไร ไปเพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยคาร์บอน และนำไปสู่การพัฒนาที่มีเป้าหมายหลักคือความยั่งยืน ซึ่งหัวใจสำคัญของเรื่องนี้ก็คือการจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมได้ดีขึ้น ช่วยให้โครงการธุรกิจต่างๆ มีความรับผิดชอบที่มากขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม พูดง่ายๆ ก็คือสนับสนุนให้ธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่การดำเนินงานที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดผลเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม และลดการสนับสนุนธุรกิจที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมลง รวมถึงตรวจสอบการดำเนินธุรกิจที่มีการปล่อยกู้ไปก่อนหน้าให้สอดคล้องกับเป้าหมาย
ถ้าคุณเป็นเจ้าของ SMEs คุณอาจจะมองว่าการทำธุรกิจตามแนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนนั้นแพง และดูซับซ้อน ไม่คุ้มที่จะทำหรือเปล่า?
แต่รู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้ว การปรับธุรกิจให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขึ้น อาจจะช่วยให้คุณประหยัดต้นทุน สร้างชื่อเสียงให้แบรนด์ และดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้นอีกด้วย
มาดูกันว่าการปรับธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจในด้านไหนบ้าง
1. แรงจูงใจทางภาษี
ในปัจจุบันรัฐบาลหลายประเทศเริ่มออกมาตรการทางภาษีที่หลากหลายทั้งเครดิตภาษี สิทธิลดหย่อนทางภาษี การยกเว้นภาษีสำหรับธุรกิจที่ลงทุนในพลังงานหมุนเวียน, การป้องกันมลพิษ, โครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม
2. ได้รับความประทับใจจากลูกค้า
ผู้บริโภคในปัจจุบันส่วนใหญ่มีความคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทางสังคมจากการซื้อสินค้าของตัวเองมากยิ่งขึ้น ผู้บริโภคหลายคนเต็มใจที่จะจ่ายเงินแพงขึ้นเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีจริยธรรม และรับผิดชอบต่อสังคม
จากการสำรวจพบว่ากว่า 66% ของผู้บริโภคเลือกที่จะเปลี่ยนไปใช้แบรนด์ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า และ 73% ของผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายแพงขึ้นเพื่อซื้อสินค้าที่มีความยั่งยืน ดังนั้นถ้าคุณจะมุ่งไปในแนวทางรักษ์โลก คุณต้องทำแบรนด์ให้มีความแตกต่างออกมาจากคู่แข่ง สร้างความจงรักภักดีของลูกค้าต่อแบรนด์ และดึงดูดลูกค้าใหม่ๆ ที่จะช่วยแชร์คุณค่าของแบรนด์คุณออกไปให้ได้
3. ประหยัดต้นทุน
แนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นจะช่วยให้คุณสามารถประหยัดต้นทุนการดำเนินงานและมีกำไรเพิ่มขึ้นได้ ผ่านการประหยัดพลังงาน หรือการใช้พลังงานหมุนเวียน นั่นหมายถึงคุณสามารถป้องกันความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง และลดการพึ่งพาโครงข่ายไฟฟ้าได้ และยังสามารถพัฒนาการผลิตของคุณให้มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพยิ่งขึ้นด้วย
แล้วเราจะสามารถดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในปี 2024 ได้อย่างไร?
1. ทำการตรวจวัดการใช้พลังงาน :
เป็นขั้นตอนหนึ่งในการประเมินว่าธุรกิจของคุณมีการใช้พลังงานอย่างไร และในขั้นตอนไหนที่คุณจะสามารถปรับปรุงการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย โดยอาจจะใช้วิธีจ้างผู้ตรวจสอบที่เชี่ยวชาญมา หรือใช้เครื่องมืออนไลน์เพื่อวัดการใช้พลังงาน นอกจากนี้ยังสามารถใช้ตัววัดอัจฉริยะ เซนเซอร์ และซอฟต์แวร์เพื่อดูการใช้พลังงานของคุณ และมองหาช่องทางที่จะประหยัดได้อีกด้วย
2. เปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน :
พลังงานหมุนเวียนคือพลังงานที่มาจากแหล่งธรรมชาติ เช่น แสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานชีวมวล คุณอาจจะเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนโดยการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าของคุณเอง เช่น โซลาร์เซลล์ กังหันลม หรือผ่านการแชร์โซลาร์เซลล์กับคนอื่นๆ ซึ่งก็จะช่วยประหยัดต้นทุนไปได้เป็นอย่างมาก
3. ใช้ผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม :
ผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า จะช่วยลดการใช้พลังงาน ลดการใช้น้ำ การสร้างขยะ และการปล่อยคาร์บอน เช่น
- ไฟ LED ช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 80% และมีอายุการใช้งานยาวกว่าหลอดไส้ถึง 25 เท่า
- ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดมลพิษทางอากาศภายในอาคารและ ป้องกันการปนเปื้อนในน้ำ
- Cloud computing การใช้ซอฟต์แวร์ ที่เก็บข้อมูล หรือกระบวนการต่างๆ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต จะช่วยให้ลดต้นทุนทางด้าน IT และมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ทั้งยังลด carbon footprint อีกด้วย
4. สื่อสารให้คนอื่นๆ รู้ถึงความพยายามและความสำเร็จที่แบรนด์ทำ :
การสื่อสารออกไปว่าแบรนด์ของคุณมีความพยายามในการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จ จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ สร้างความน่าเชื่อถือต่อลูกค้า และเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่พนักงาน โดยคุณอาจจะใช้วิธีทำรายงานความยั่งยืน เพื่อสรุปเป้าหมายความยั่งยืน กลยุทธ์ สิ่งที่คุณทำไปแล้ว และผลสำเร็จ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ความรับผิดชอบ และโปร่งใส
โดยอาจจะยึดตามกรอบ Global Reporting Initiative (GRI) หรือ Sustainability Accounting Standards Board (SASB) เพื่อเป็นแนวทางในการรายงาน
แล้วยิ่งถ้าคุณได้ใบรับรองจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือว่าการดำเนินธุรกิจของคุณเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็จะยิ่งสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง และเพิ่มความน่าเชื่อถือของคุณได้ นอกจากนี้ยังควรให้ลูกค้าและพนักงานได้มีส่วนร่วม ลองถามความเห็นของพวกเขาว่าคิดว่าควรปรับตรงไหนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความยั่งยืนได้ และมีการให้รางวัลสำหรับคนที่มีส่วนร่วม
จะเห็นได้ว่า การดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่ได้เพียงแค่ดีต่อโลกเท่านั้น แต่ยังดีต่อธุรกิจของคุณด้วย แม้ว่าคุณจะเป็น SMEs แต่การเริ่มเปลี่ยนแนวทางดำเนินธุรกิจให้มีความยั่งยืน ก็เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและเกิดประโยชน์แน่นอน