สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนในภาคการส่งออกของไทยในปีที่ผ่านคือ
ต้นทุนสินค้าที่สูงซึ่งปัจจัยสำคัญสืบเนื่องจากเงินบาทที่แข็งค่า
ขณะที่คุณภาพสินค้าใกล้เคียงกัน การแข่งขันในตลาดส่งออกปีที่ผ่านมา จึงเหมือนฝันร้ายของผู้ส่งออกไทย
ดังนั้นผู้ผลิตจึงอาจต้องปรับกันขนานใหญ่อีกครั้ง
เพราะในเมื่อแข่งกันที่ราคาไม่ได้ ก็ต้องพัฒนาคุณภาพ และสิ่งหนึ่งที่เป็นเมกะเทรนด์ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญในขณะนี้
คือ เทรนด์รักษ์โลก ธุรกิจต้องไม่ก่อมลภาวะหรือเพิ่มปริมาณขยะให้โลก
แต่ก่อนที่จะเปลี่ยน เราอยากให้ลองคิดก่อนว่าลูกค้าหรือตลาดหลักของคุณคือใคร
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
ในที่นี้เลยหยิบยกพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดสหรัฐอเมริกา
ซึ่งเป็นประเทศผู้บริโภครายใหญ่ของโลกและเป็นตลาดหลักของผู้ส่งออกไทย โดยสินค้าส่งออกสำคัญจากไทยไปสหรัฐฯ
ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์
อาหารกระป๋องและแปรรูป อัญมณี ผลิตภัณฑ์ยาง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องไฟฟ้า แผงวงจร
และกุ้งสดแช่แข็ง
โดยในบรรดาสินค้ามากมายที่ชาวอเมริกันบริโภคนั้น
กลุ่มสินค้าแฟชั่นนับว่าเป็นตลาดใหญ่
สินค้าแฟชั่นที่ชาวอเมริกันบริโภคมากที่สุดได้แก่ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม กระเป๋า
รองเท้า และเครื่องประดับ
ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตและจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
เพื่อตอบสนองความตระหนักรู้และความต้องการที่จะรักษ์โลกของผู้บริโภค
จาก Fast
Fashion
สู่แฟชั่นรักษ์โลก
ปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคสหรัฐฯ
เปลี่ยนไปใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา
ชาวอเมริกันนิยมสินค้าแฟชั่นในแบบที่เรียกว่า Fast Fashion สินค้ากลุ่มนี้เป็นที่นิยมเพราะเดินตามทันกระแสในวงการแฟชั่นที่มาเร็วไปเร็ว
ราคาเป็นมิตรกับผู้สวมใส่ ใช้ผ้าใยสังเคราะห์ในการผลิต
แต่แน่นอนว่าแฟชั่นไปเร็วมาเร็ว เมื่อตกเทรนด์ผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปบริโภคสินค้า Fast Fashion รอบใหม่โดยทิ้งชุดเก่าๆ ไป
กลายเป็นขยะที่สะสมเพิ่มมากขึ้น ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
แต่ปัจจุบันนี้ผู้บริโภคและผู้ผลิตเริ่มตื่นรู้ในการลดขยะเพื่อดูแลโลกใบนี้มากขึ้น
กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการรับผิดชอบต่อสังคมมีมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคในสหรัฐฯ
เนื่องจากขยะจากสินค้า Fast
Fashion ไม่สามารถย่อยสลายได้
รวมถึงปัญหาขยะพลาสติกในทะเลกำลังเข้าสู่ขั้นวิกฤต
จึงเกิดกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่
สินค้าแฟชั่นรักษ์โลกอาจมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป
แต่โดยรวมหมายถึงสินค้าแฟชั่นที่คำนึงถึงกระบวนการผลิตสินค้าครบวงจร ตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบจนถึงปัจจัยแวดล้อม
ที่จะได้รับผลกระทบจากการผลิต รวมถึงประเด็นของการใช้แรงงานในกระบวนการผลิตอย่างเป็นธรรม
ในปัจจุบันปัจจัยหลักของกระบวนการผลิตสินค้าและการแสวงหาวัตถุดิบ ที่ผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าแฟชั่นรักษ์โลกให้ความสำคัญมี
5 ประการ คือ
1. การใช้น้ำในกระบวนการผลิต ต้องมีการผลิตที่ก่อให้เกิดน้ำเสียจากกระบวนการผลิตในปริมาณที่ต่ำ
2. การใช้สารเคมีอันตรายในการผลิต ผู้ประกอบการจะเลือกผู้ผลิตที่มีความสามารถในการบริหารจัดการกับสารเคมีเหล่านี้หรือใช้เทคโนโลยีต่างๆ
เพื่อทดแทนการใช้สารเคมีอันตราย
3. อายุการใช้งาน ต้องเลือกใช้วัตถุดิบในการผลิตที่มีคุณภาพสูงทนทาน การออกแบบควรเรียบง่าย
ใช้งานได้หลากหลาย เพื่อลดการสร้างขยะและทำให้สินค้ามีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น
4. การจัดการขยะ เลือกใช้วัตถุดิบประเภทนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse, Repurpose, Recycle) มาใช้ในกระบวนการผลิต
5. วัตถุดิบจากธรรมชาติ เลือกใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติหรือเกษตรอินทรีย์เป็นวัตถุดิบในการผลิต เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพเกษตรกรและการปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อม
สินค้าแฟชั่นรักษ์โลกที่ได้รับความนิยมในสหรัฐฯ
5 กลุ่มหลักคือ เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม กระเป๋า รองเท้า เครื่องประดับ
และเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน ผู้บริโภคในสหรัฐฯ
มีพฤติกรรมการเลือกสินค้าโดยคำนึงถึงการออกแบบและประโยชน์ใช้สอย
รวมถึงความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการ
โดยเฉพาะใส่ใจวัตถุดิบที่ต้องมาจากธรรมชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ
ทั้งนี้แนวโน้มความต้องการสินค้าจากวัตถุดิบธรรมชาติของผู้บริโภค ถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทย
ประเทศไทยมีภูมิปัญญาและความรู้ในการผลิตสินค้าจากธรรมชาติหลายชนิดเป็นทุนเดิม
ผู้ประกอบการที่สนใจขยายตลาดสินค้าแฟชั่นในสหรัฐฯ
จึงต้องใส่ใจปรับตัวและให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิต ที่ได้มาตรฐานรักษ์โลกอย่างครอบคลุมทุกมิติ
เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวอเมริกัน
ตัวอย่างเหล่านี้
เห็นถึงกระแสของผู้บริโภคในตลาดที่เปลี่ยนไป
ดังนั้นผู้ผลิตไทยเองต้องปรับตัวและยกระดับสินค้า ให้เกิดเป็นความแตกต่างในตลาด
เพราะดูเหมือนว่าความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน จะไม่สามารถสร้างความได้เปรียบให้สินค้าไทยอีกต่อไป
ดังนั้นการยกระดับมาตรฐานสินค้าให้เหนือกว่าคู่แข่ง
จึงนับเป็นการยกระดับการแข่งขัน ที่ไม่จำเป็นต้องไปแข่งราคากับสินค้าทั่วๆ ไปอีกต่อไป
แหล่งอ้างอิง
: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคต.)
: ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสหรัฐฯ (BIC)