ตุลาคมถือเป็นเดือนที่มีความสำคัญของคนก้าวสู่ชีวิตวัยเกษียณหลังจากที่ทำงานหนักมาหลายสิบปี
ชีวิตก็เดินทางมาถึงวันที่จะปลดเปลื้องภาระต่างๆ ที่แบกไว้พร้อมกับความหวังที่จะใช้ชีวิตที่เหลืออย่างมีความสุข
ชีวิตหลังเกษียณถือเป็นการพลิกชีวิตจากสิ่งที่คุ้นเคยเดิมๆ มาเกือบตลอดชีวิต เพื่อมาสู่ชีวิตในวิถีใหม่ที่อาจจะดีขึ้นหรือแย่ลงก็ได้
ขึ้นอยู่ที่เราเตรียมตัวพร้อมรับวัยเกษียณอย่างไรบ้าง
ผู้สูงอายุทุกคนคงฝันไว้ว่า เมื่อถึงวัยเกษียณนั้นอยากจะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างมีความสุขบ้าง แต่จะทำอย่างไรถึงจะสมหวังแบบ Happy Ending นั้นเป็นเรื่องที่ต้องมีองค์ประกอบหลายๆ อย่างที่ผู้สูงวัยทุกคนต้องปรับตัวและยอมรับกับความจริงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
6 ตัวช่วยเริ่มต้นวัยเกษียณอย่างมีความสุข
เงินออม สิ่งแรกที่คนจะเกษียณต้องพึงทำอันดับแรก คือเรื่อง ”เงินออม” เพราะจากนี้ไปเราไม่ใช่มนุษย์เงินเดือนที่พอถึงสิ้นเดือนจะมีเงินเข้าบัญชีให้ใช้จ่ายอีกแล้ว
ยกเว้นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจหรือองค์กรที่มีบำนาญ
คือเงินตอบแทนที่จ่ายให้แต่ละเดือนจนกว่าจะเสียชีวิต
เป็นสิ่งที่สร้างความมั่นคงในชีวิตเกษียณในระดับหนึ่ง
ดังนั้นการเตรียมพร้อมสำหรับ “เงินออม”
หรือเงินเก็บสะสม เพื่อใช้ในยามเกษียณเป็นเงินที่สำคัญที่สุด
และกว่าจะมีเงินเก็บก็คงต้องใช้เวลาในการออมมาเกือบตลอดชีวิตการทำงานเช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะวางแผนบริหารจัดการเงินออมให้สามารถงอกเงยออกดอกผลได้มากน้อยเพียงไร
มีคำถามว่า”เงินออม”เพื่อใช้ชีวิตหลังเกษียณนั้นควรมีจำนวนเท่าไหร่ดี
หลายทฤษฎีบอกว่ายุคนี้ถ้าเก็บได้ 3-5 ล้านบาทคงต้องใช้ชีวิตอย่างสมถะ เพราะถ้าอยากอยู่อย่างสบายๆ
อาจต้องมีเงินเก็บถึง 10 ล้านบาทขึ้นไป ถ้าคุณเป็นมนุษย์เงินเดือนรายได้ไม่เกิน
3-5 หมื่นบาท ฟังดูตัวเลขเงินออมแล้วคงเครียด
“แล้วต้องออมเท่าไหร่ถึงจะพอ?” คงไม่มีตัวเลขที่แน่นอนตายตัว ขึ้นอยู่กับคุณจะใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบไหนต่างหาก
แต่อย่างไรก็ตามในยุคที่ดอกเบี้ยเงินฝากประจำน้อยมาก ความเสี่ยงในการลงทุนหุ้นสูง
ก็คงต้องมองหาโอกาสในการบริหารเงินออมให้พอกินพออยู่ได้ แต่อย่างน้อยก่อนที่จะเกษียณก็ไม่ควรจะมีหนี้สินที่ต้องรับภาระแล้ว
เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เป็นต้น
สุขภาพกาย น่าจะเป็นอีกเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับคนวัยเกษียณ
ถ้าคุณไม่เจ็บป่วยเป็นโรคเรื้อรังก็คงไม่ต้องนำเงินออมมาใช้จ่ายด้านสุขภาพมาก
ทางที่ดีในวัยทำงานควรทำประกันสุขภาพไว้บ้าง เพราะเรื่องสุขภาพก็เหมือนการออมเงิน
เราต้องเริ่มดูแลกันตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มสาว เมื่อมาถึงวัยชราจะได้มีปัญหาด้านสุขภาพให้น้อยที่สุด
หลายคนละเลยเรื่องสุขภาพไปจนเมื่อก้าวเข้าสู่วัย 60
ซึ่งถ้าไม่ดูแลสุขภาพร่างกายจะเริ่มเสื่อมถอยอย่างรวดเร็ว โรคต่างๆ
จะเริ่มมาเยือน
ถ้าไม่อยากใช้ชีวิตในวัยเกษียณที่ต้องเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อซ่อมสุขภาพ
ก็คงต้องดูแลตัวเองเช่นออกกำลังกายเป็นประจำตั้งแต่ยังหนุ่มสาว พยายามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือของมึนเมาให้น้อยที่สุด
สุขภาพใจ วัยเกษียณแม้จะผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ
แต่บางครั้งสภาพจิตใจอาจเปราะบางเพราะมีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น
ถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีสุขภาพจิตก็จะดีมีความสุข
แต่มีคนแก่ไม่น้อยที่ต้องอยู่อย่างเดียวดาย เพราะคู่ชีวิตตาย
ลูกหลานต้องไปทำงานไกลบ้าน เกิดความเหงา จิตใจห่อเหี่ยวไม่มีความสุข
ดังนั้นคำแนะนำที่บอกให้คนแก่ควรเข้าวัดเพื่อไปหาธรรมะเป็นเพื่อน
ทำให้จิตใจสงบจึงเป็นเรื่องที่ดี นอกจากนี้คนวัยเกษียณควรทำจิตใจให้แจ่มใส ปล่อยวางเรื่องที่ทำให้วิตกกังวล มองโลกในแง่ดี
ถ้าทำสิ่งเหล่านี้ได้ สุขภาพจิตก็จะเข้มแข็งและมีความสุข
หางานอดิเรกทำ ชีวิตหลังเกษียณที่ไม่ต้องทำงานประจำทำให้มีเวลาว่างมากๆ
ขอแนะนำว่าอย่าใช้ชีวิตจำเจไปวันๆ อย่างน่าเสียดาย
เพราะนานไปคุณจะกลายเป็นคนแก่ที่จิตใจห่อเหี่ยว เหมือนคนไร้ค่า
ควรใช้เวลาที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์กับตัวเองและคนรอบข้าง บางคนอาจมีความสุขกับการเลี้ยงหลาน
หรือหางานอดิเรก อาทิ ปลูกต้นไม้ ทำอาหาร ทำงานฝีมือ จิตอาสา เรียนเต้นรำ
เรียนร้องเพลง ฯลฯ.
ในวัยนี้มีหลายคนกลับค้นพบว่านอกจากการทำงานแล้ว
ตัวเองยังมีความสามารถในการทำอย่างอื่นๆ ที่ไม่เคยคิดว่าจะทำได้ เช่น ทำอาหารเก่งหรือปลูกต้นไม้เก่ง
จนกลายมาเป็นอาชีพใหม่ที่สามารถหารายได้มาเลี้ยงตัวเองยามแก่โดยไม่ต้องพึ่งพาลูกหลาน
กลายเป็นชีวิตที่มีความสุข
ตามหาฝัน ในวัยเด็กคุณเคยมีความฝันอยากเป็นโน่น อยากทำนี่มั๊ย? แต่พอโตขึ้นมาด้วยภาระรับผิดชอบมากมายในชีวิต ทำให้ต้องทำงานหนักเพื่อสร้างฐานะจนลืมเรื่องเหล่านี้ไปเลย
ลองใช้เวลาที่เหลืออยู่ในวัยเกษียณ วิ่งตามหาความฝันที่อยากจะทำ
เราคงเคยเห็นเรื่องราวของคนวัย 60
กว่าที่ลุกขึ้นมาวิ่งหาฝันจนเจอแล้วก็พบความสุขความสำเร็จในบั้นปลายของชีวิต อาทิ
“ป้าแบ็คแพ็ค” เจ้าของเพจท่องเที่ยวยอดนิยม วัย 63 ปีที่แบกเป้เที่ยวคนเดียว, ป้าเจี๊ยบนักสเก็ตบอร์ดทีมชาติไทยวัยเกษียณ ฯลฯ.
เข้าสังคม คนแก่หลายๆ คนต้องอยู่ตัวคนเดียวอย่างน่าเห็นใจ เพราะไม่มีเพื่อนร่วมงาน
แถมเพื่อนๆ ในรุ่นเดียวกันก็เริ่มจะทยอยเสียชีวิตกันไป วัยนี้จึงเหงาเพราะไร้เพื่อน
อยากให้ชีวิตมีสีสันลองพาตัวเข้าไปอยู่ในโซเชียลให้มากขึ้น
การเข้าไปท่องโลกกว้างทำให้ได้เรียนรู้โลกใหม่ๆ บางคนอาจได้รู้จักเพื่อนกลุ่มใหม่ที่สนใจในสิ่งเดียวกัน
และหลายครั้งที่โลกโซเชียลสามารถพาเพื่อนเก่าที่ไปหายไปตามกาลเวลากลับมาเจอกันใหม่
อย่างไรก็ตามถ้าอยากมีชีวิตรูปแบบไหน หลังเกษียณก็ควรออกแบบไว้ตั้งแต่วันนี้เลย ค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ อย่างมีเป้าหมาย เพื่อให้ชีวิตหลังเกษียณได้พบกับความสุขอย่างแท้จริง