‘รถยนต์ไฟฟ้า’ น่าสนใจอย่างไร ทำไม? เป็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลก
รายงานของสำนักงานพลังงานสากล
หรือ International
Energy Agency (EIA) คาดการณ์ว่า จำนวนรถยนต์ไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า
รถตู้ไฟฟ้า และรถบรรทุกไฟฟ้าบนท้องถนนจะเพิ่มเป็น 145 ล้านคันทั่วโลก ภายในปี 2030
และถ้าหากรัฐบาลของประเทศต่างๆ เร่งดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านพลังงานและสภาพภูมิอากาศ
จำนวนรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกก็อาจพุ่งสูงขึ้น 230 ล้านคัน ด้วยเหตุนี้ ผู้ผลิตรถยนต์หลายค่ายจึงกำลังมองหาวิธีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้มากขึ้น
ขณะที่
BloombergNEF
หน่วยงานวิจัยข้อมูลสำหรับอุตสาหกรรมพลังงาน คาดว่า ยอดขายรถยนต์ใหม่ในปี
2030 จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าถึง 28% และสูงถึง 58% ในปี 2040
ประเทศใดบ้าง? ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดในโลก
จีน
จีนถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องรถยนต์ไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี
2552 ซึ่งในตอนนั้นรถยนต์ไฟฟ้ายังมีไม่มากนัก แต่ประเทศจีนใช้เงินมากกว่า 60,000
ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลงทุนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ
และการสร้างกลยุทธ์เพื่อชิงความได้เปรียบในการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดโลก
สหรัฐอเมริกา
สหรัฐอเมริกามีแผนผลักดันรถยนต์ไฟฟ้า
ภายใต้การนำของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดี
คือเรื่องสิ่งแวดล้อม
เพราะต้องการทำตามเป้าหมาย zero-emission
หรือนโยบายปลอดมลพิษ ตั้งเป้าปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ โดยตั้งเป้าหมายให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศจำนวน
40-50% จะต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2030
นอร์เวย์
รัฐบาลของนอร์เวย์มีเป้าหมายและนโยบายชัดเจนคือต้องการเปลี่ยนแปลงให้รถที่ใช้ภายในประเทศมาเป็นรถพลังงานไฟฟ้าให้ได้ทั้งหมดภายในปี
2025 โดยประเทศนอร์เวย์มีรถพลังงานไฟฟ้า 50,000 คัน
ตั้งแต่ปี 2015 โดยคุณสามารถเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายพอๆ
กับรถยนต์น้ำมัน แถมยังได้สิทธิพิเศษจากรัฐมากกว่าอีกต่างหาก เนื่องจากรัฐบาลยังทำการ
ละเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของรถยนต์ไฟฟ้า จาก 25% ลดลงเหลือ 0% รวมถึง
ลดภาษีเงินได้ให้ค่ายรถยนต์ที่นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า ลง 40% เพื่อจูงใจให้ค่ายรถขายรถยนต์ไฟฟ้าทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
และวางขายในราคาที่ถูกลง เป็นการเรียกความจูงใจให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันแบบเต็มกำลัง
สวีเดน
สวีเดน
เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ผู้คนสนใจและซื้อรถพลังไฟฟ้ามาใช้งานคิดเป็นสัดส่วนมากเป็นอันดับ
3 ของโลก โดยเป้าหมายของประเทศสวีเดนคือประสบความสำเร็จในการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคการขนส่งลง
70% ภายในปี 2030 รวมถึงทำให้การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี
2050 และมีถนนชาร์จไฟรถได้
ไอซ์แลนด์
รัฐบาลไอซ์แลนด์
ได้ประกาศบังคับนโยบายห้ามใช้รถยนต์น้ำมัน จะเริ่มต้นในปี 2030 ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการจัดการภาวะโลกร้อน และแน่นอนว่าสิ่งที่จะมาแทนรถยนต์น้ำมันคือรถยนต์ไฟฟ้า
ซึ่งรัฐวางเป้าว่าภายในปี 2030 จะต้องมีรถยนต์ไฟฟ้า 950,000 คันวิ่งอยู่บนท้องถนน รวมถึงการออกมาตรการพิเศษบังคับว่า ภายในปี 2025
สถานที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยและมีที่จอดรถเกิน 10 ช่อง จะต้องมีแท่นชาร์จไฟอย่างน้อยหนึ่งแท่น อีกทั้งรัฐยังมีแผนให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีกับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า
และมีแผนที่จะลงทุนติดตั้งแท่นชาร์จไฟให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
เพื่อจูงใจให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
เนเธอร์แลนด์
ความนิยมของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศเนเธอร์แลนด์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
รวมไปถึงยังช่วยลดการใช้น้ำมันจนแทบจะไม่มีการใช้น้ำมันเลย ที่สำคัญยังกลายเป็น Blue Ocean สำหรับตลาดรถยนต์ อีกทั้งปัจจัยด้านนโยบายทางภาษีที่ต่ำกว่ารถยนต์ทั่วไป
และการเพิ่มการให้บริการของสถานีประจุพลังงาน ทำให้เกิดการเข้าถึงและมีความคล่องตัวในการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
โดยประเทศเนเธอร์แลนด์ถือว่าเป็นตลาดชั้นนำที่มียอดขายยานยนต์ไฟฟ้าสูงที่สุดเป็นอันดับที่
2 ในยุโรป
อันดอร์ร่า
ประเทศเล็กๆ
ในยุโรปอย่างอันดอร์ร่า ที่มีประชากรไม่ถึง 80,000 คน แต่ประชาชนในประเทศกลับให้ความสนใจและหันมาซื้อรถพลังไฟฟ้าสูงถึง
5.6 เปอร์เซ็นต์ ของรถทั่วประเทศ
ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่มากที่สุดอันดับ 5 ของโลก
โดยกุญแจสำคัญที่ทำให้คนในอันดอร์ร่าหันมาใช้รถพลังไฟฟ้าโดยเฉพาะรถ EV คือการที่รัฐบาลให้สิทธิ์พิเศษของคนที่เปลี่ยนมาใช้รถ EV อาทิ ส่วนลดพิเศษเมื่อซื้อรถ สิทธิ์การขับในช่องเดินรถสาธารณะ (Bus
Lane) สิทธิ์ขับผ่านอุโมงค์ d-Envalira ซึ่งเป็นทางเชื่อมสู่ประเทศฝรั่งเศสฟรี
รวมถึงส่วนลดพิเศษค่าไฟในการชาร์จแบตเตอรี
5 เหตุผล
ที่ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลก
1. ตอบโจทย์ในเรื่องของพลังงานรักษ์โลก เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นจากความต้องการในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคมคนเมือง
โดยจุดเด่นของรถยนต์ไฟฟ้าคือการเป็นรถไร้ซึ่งไอเสีย
2. มีความประหยัดกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันพอสมควร แน่นอนการใช้ไฟฟ้าทำให้มูลค่าพลังงานที่จะเสียต่อหน่วยขับเคลื่อนเปลี่ยนไปและน้อยลง
เนื่องจากไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ทุกบ้านมีอยู่แล้วในปัจจุบัน การมีรถไฟฟ้า ก็เหมือนกับมีเครื่องใช้ไฟฟ้าอีกเครื่อง
3. ซ่อมและดูแลง่าย
เนื่องจากชิ้นส่วนกลไกขับเคลื่อนไม่หลากหลายเท่ารถยนต์ใช้เครื่องยนต์ที่มีความซับซ้อนเชิงกลไกในระบบเครื่องยนต์มากกว่า
4. ตอบสนองในเรื่องสมรรถนะ เนื่องจากมอเตอร์ไฟฟ้ามีแรงบิดหรือแรงหมุนในทันทีที่ได้รับไฟฟ้าไปผลักแกนมอตอร์ให้หมุน หลักการดังกล่าวทำให้รถมอเตอร์ไฟฟ้าเกิดแรงบิดสูงสุดตั้งแต่เริ่มการทำงาน ทำให้รถออกตัวได้เร็ว มีภาวะแบกน้ำหนักน้อยกว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ เนื่องจากสามารถรีดแรงบิดสูงได้ทันที ไม่ต้องรอรอบ และที่สำคัญ มอเตอร์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ให้แรงบิดสูงมากกว่าเครื่องยนต์
5. มีชิ้นส่วนน้อยลงกว่ารถยนต์ใช้เครื่องยนต์ในปัจจุบัน
การมีเพียงแบตเตอรี มอเตอร์ไฟฟ้า และหน่วยควบคุม
เพิ่มเติมเพียงชิ้นส่วนประกอบอื่นๆ เท่านั้น ทำให้รถยนต์ไฟฟ้า
ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อนของชิ้นส่วนมากเท่ารถปัจจุบัน เมื่อชิ้นส่วนน้อยลงต้นทุนการผลิตก็น้อยลงตามไปด้วย
นอกจากนี้
มาตรการที่เข้มงวดของรัฐบาลในประเทศต่างๆ ที่ว่าด้วยการบังคับใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า
ลดละเลิกการใช้งานรถยนต์เชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วๆ ไป ก็จะเป็นอีกหนึ่งในส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนให้รถไฟฟ้าของส่วนแบ่งหลักๆ
ในยอดขายทั้งตลาดได้ในอีก 5
ปีต่อจากนี้
สำหรับโอกาสทางธุรกิจของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
การผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยหันมาผลิตรถยนต์หรือชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า
จะทำให้ไทยยังคงสามารถรักษาความสามารถที่มีอยู่ และไม่หลุดจากการเป็นห่วงโซ่อุปทานในระดับโลก
และอีกประการคือ ไทยจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และสร้างการอุปโภคบริโภคที่ยั่งยืน
แหล่งอ้างอิง : องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ
(International Energy Agency, IEA), สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์
มช.
https://www.cnbc.com/2021/04/29/global-electric-vehicle-numbers-set-to-hit-145-million-by-2030-iea-.html