กว่าจะก่อร่างสร้างธุรกิจขึ้นมาได้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การจะรักษาให้เติบโตก้าวหน้าต่อเป็นเป็นเรื่องยากที่ท้าทายกว่า หากทำธุรกิจไปได้สักช่วงหนึ่งแล้วรู้สึกว่ากำลังเดินหมากผิดกระดาน ก็ควรถึงเวลาหยุดคิดทบทวนแนวทางของกิจการงานที่บริหารจัดการอยู่ เพื่อป้องกันการก้าวขาพาตัวเองและธุรกิจที่สร้างมาเนิ่นนานเข้าสู่ความล้มเหลว จาก 7 สัญญาณเหล่านี้
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
1. พึ่งพาทุนจากแหล่งอื่นมากเกินไป หากสร้างรากฐานธุรกิจด้วยเงินทุนจากแหล่งอื่น
หรือระดมทุนจากหุ้นส่วนคนอื่น ก็เป็นสถานการณ์ที่น่าห่วงกังวล
แม้การพึ่งพาเงินทุนจากแหล่งอื่นจะสามารถทำให้เกิดการ Startup ดำเนินกิจการได้ง่ายและรวดเร็ว
แต่การดำเนินงานของกิจการที่ได้รับแรงเกื้อหนุนจากแหล่งเงินทุนอื่น
ไม่ได้มาจากตัวธุรกิจหรือเจ้าของกิจการเอง ย่อมนำมาสู่ความเสี่ยงในการบริหารกิจการ
เพราะตัวเจ้าของเองไม่สามารถดำเนินงานได้เบ็ดเสร็จเต็มที่ด้วยตัวเอง ทำให้ขับเคลื่อนดำเนินการสิ่งใดเป็นไปอย่างล่าช้าและอาจติดขัดมีปัญหา
จากการต้องรอปรึกษาหุ้นส่วนที่อาจมีทั้งส่วนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงทำให้เกิดความเครียดและกดดัน
ทำให้ไปต่อหรือขยายการเติบโตได้ยาก
2. โตเร็ว
มุ่งแต่ขยายกิจการ ไม่ผิดถ้าคิดจะขยับขยายกิจการที่มีทีท่าว่าไปได้ดี
เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต แต่ถ้าการขยับขยายนั้นนำมาซึ่งสิ่งที่เกินความจำเป็น
หรือเป็นการขยายที่ไม่มีแผนงานรองรับ ไม่เป็นไปตามขั้นตอน
มุ่งแต่อยากเห็นธุรกิจเติบโต
จึงขยับขยายโดยไม่ได้ตระหนักถึงสภาพคล่องของเงินทุนหรือการเงินที่มี
ก็มีโอกาสเสี่ยงสูง หากบริหารผิดพลาด
3. ขาดความชัดเจนในการดำเนินธุรกิจ
ความชัดเจน ณ ที่นี้หมายถึง แผนงานการดำเนินการ
ทิศทางการทำธุรกิจ หรือเป้าหมายที่วางไว้ในการดำเนินธุรกิจที่เรียกว่า “ความสำเร็จ”
เช่น ยังหลงทิศทางอยู่ว่าธุรกิจนี้สร้างขึ้นมาเพื่ออะไร ทำอะไร
และจะทำเงินหรือได้รับเงินจากไหน อันเป็นสัญญาณว่าขาดความชัดเจน
ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเดินเกมธุรกิจ
4. บัญชีมีปัญหา หากขาดความใส่ใจด้านการทำบัญชี
หรือเดินธุรกิจแล้วพบว่าบัญชีกิจการไม่มีความโปร่งใสไปจนถึงติดลบ
นั่นคือสัญญาณเตือนว่าธุรกิจที่ดำเนินการอยู่นั้นมีกำลังมีปัญหา
ซึ่งการดำเนินกิจการที่ดี บัญชีต้องตรวจสอบได้ มีความชัดเจนและผ่านผู้ตรวจสอบบัญชีได้ไม่ยากเย็น
5. แยกผลกำไรกับกระแสเงินสดออกจากกันไม่ได้ โดยผลกำไรคือสิ่งที่คาดว่าจะได้รับในการดำเนินธุรกิจ
เป็นรายรับสุทธิที่เกิดขึ้นหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหนี้สินต่างๆ แล้ว ซึ่งต่างจากกระแสเงินสดที่ได้จากการทำธุรกิจ
เนื่องจากสภาพเงินสด คือการเงินที่มีการใช้จ่ายภายในบริษัท
มีทั้งส่วนเงินลงทุนไปจนถึงหนี้สิน หากแยกสองสิ่งอกจากกันไม่ได้
ก็จะประเมินสภาพคล่องทางการเงินในหารดำเนินการได้ยาก
6. จับกลุ่มลูกค้าไม่ได้
ไม่มีกลุ่มคนเป้าหมายชัดเจน ทำให้เกิดการโฟกัส
ทำการตลาดจับคนผิดกลุ่มเป้าหมาย หากคิดว่าทุกคนคือลูกค้า
นั่นเท่ากับว่าคิดผิดตั้งแต่เริ่มต้น เพราะไม่ใช่มนุษย์ทุกคนจะชอบหรือเหมาะต่อการใช้สินค้าบริการของเรา
การจำกัดกลุ่มเป้าหมายให้แคบลงจะทำให้เดินเกมธุรกิจได้ง่ายขึ้น
ออกแบบผลิตภัณฑ์หรือคิดแผนธุรกิจทำการตลาดรองรับได้ถูกจุด
เกิดการลงทุนที่คุ้มค่ากับกลุ่มคนที่เป็นเป้าหมายอย่างแท้จริง
7. ไม่ยืดหยุ่นต่อการดำเนินธุรกิจ ในการทำธุรกิจต่างๆ ย่อมมีแผนการดำเนินงานมารองรับทิศทาง รูปแบบไปจนถึงการทำตลาดและสร้างรายได้ ซึ่งเป็นการดีหากจะดำเนินการตามแผนแบบมีขั้นตอน แต่จะเป็นการดีกว่าที่จะใส่ความยืดหยุ่นลงไปในแผนการดำเนินงาน เพื่อรับมือปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ อย่างในช่วงวิกฤติไวรัสโควิด-19 ที่เข้ามานี้ รวมไปถึงโลกของเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ก็เป็นสิ่งที่ควรตระหนักถึง หากยึดติดกับแผนเดิมโดยไม่ปรับเปลี่ยน ปรับตัวรับทิศทางเศรษฐกิจที่ผันผวนก็ยากจะไปต่อได้อย่างราบรื่น
ทั้งหมดนี้เป็นหัวใจหลักสำคัญที่ต้องให้ความใส่ใจ
ในการเนินเกมธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่เพิงเริ่มต้น Startup
และ SMEs ที่ระบบระเบียบในการดำเนินการไม่ได้มีการวางรากฐานอย่างมั่นคงเหมือนธุรกิจขนาดใหญ่
ทำให้อาจเกิดข้อผิดพลาด พลาดพลั้งไปสู่เส้นทางมหาภัยทั้ง 7 เรื่องนี้ได้ง่าย
และนำไปสู่ความล้มเหลวในการทำงานไปจนถึงการบริหารกิจการที่ริเริ่มมากับมือ.