จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ ทั้งการเว้นระยะห่างทางกายภาพและลดการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นให้มากที่สุด ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานและพฤติกรรมเดิมๆ เข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคทำให้เกิดความต้องการสินค้าบางประเภทเพิ่มขึ้น ทำให้ 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เวชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์รักษาโรค และอาหาร ขยายตัวตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) รายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม
(MPI) ใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้อานิสงส์จากชีวิตวิถีใหม่
ได้แก่
- อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ระยะ 5 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-พ.ค.) เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.50 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยความต้องการสินค้ามีแนวโน้มที่จะขยายตัวทั้งในและต่างประเทศ
โดยเฉพาะกัมพูชา ฟิลิปปินส์ และจีน เช่น หน้ากากอนามัย ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด
อุปกรณ์ป้องกันต่างๆ เป็นต้น
- อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นการทำงานที่บ้านหรือ Work from Home รวมถึงสถานศึกษาที่ได้จัดการเรียนการสอนผ่านเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล
ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้สินค้า Hard disk drive และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการจัดเก็บข้อมูลเพื่อรองรับความต้องการใช้งานบน Cloud และ Data center ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์รวม 5 เดือน ในปี 2563 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 1.02
โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น
ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์
และมีมูลค่าการส่งออกไปตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐฯ และจีน
- อุตสาหกรรมอาหาร ได้รับอานิสงส์จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากเป็นปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีวิต
ส่งผลให้มีการขยายการผลิตในหลายผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปที่เก็บรักษาได้นาน
โดยมีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรวม 5 เดือนแรก ในปี 2563
ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นำโดยผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้แช่แข็งขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วง 5 เดือนแรกของปีก่อนที่ร้อยละ 30.88 สัตว์น้ำแช่แข็งขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ
23.41 สัตว์น้ำบรรจุกระป๋องขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.85
และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.07 เป็นต้น
อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมอาหารยังมีอุปสรรค
ได้แก่ ปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลให้สินค้าเกษตรลดลง เช่น อ้อย ปาล์มน้ำมัน สับปะรด
และมันสำปะหลัง ทำให้วัตถุดิบในบางผลิตภัณฑ์ไม่เพียงพอต่อความต้องการผลิตของโรงงาน
รวมถึงมาตรการควบคุมการระบาดของต่างประเทศได้ส่งผลต่อธุรกิจให้บริการด้านอาหาร
ทำให้สินค้าประเภทไก่เนื้อและน้ำตาลในประเทศไทยมีคำสั่งซื้อลดลง
ทั้งนี้ แนวโน้มอุตสาหกรรมไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว หลังจากนี้จะทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่หากเกิดการระบาดซ้ำหรือกลับมาใช้มาตรการควบคุมโรค 3 กลุ่มอุตสาหกรรมจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง สอดรับกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป ภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ New Normal ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมไทยกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง